WHO ประเมินโควิดไทย ยังอยู่ในประเทศ 'กลุ่มสีฟ้า'

WHO ประเมินโควิดไทย ยังอยู่ในประเทศ 'กลุ่มสีฟ้า'

องค์การอนามัยโลก (WHO) และ มหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ (JHU) ประเมินสถานการณ์โควิดไทย ระยะเวลา 30 วัน 14 วัน 7 วัน และ 24 ชั่วโมง พบภาพรวมความชันกราฟเฉลี่ยอยู่ที่ 0.01 ในกลุ่มสีฟ้า Not high burden and not growing เคสไม่เยอะ ปริมาณไม่ได้กำลังเพิ่ม

“ผศ.นพ. มนต์เดช สุขปราณี” กรรมการบริหาร และ แพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อ รพ.เมดพาร์ค กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) และ มหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University :JHU) ได้มีการวิเคราะห์ตัวเลขของทุกประเทศ ทุกระยะที่มีการรายงานผลเข้ามา เพื่อวิเคราะห์ว่าอัตราการติดเชื้อใหม่ ของคนไข้ในแต่ละช่วงเวลาของประเทศเป็นเช่นไร และอัตราการติดเชื้อใหม่ของแต่ละประเทศต่อ 1 แสนประชากร จะถูกนำมาคำนวณเพื่อบอกแนวโน้มของแต่ละประเทศว่าอยู่สภาวการณ์ใด

สำหรับ WHO ซึ่งรับรายงานเคสของไทย (ข้อมูล ณ วันที่ 14 มกราคม 2564) ใน 30 วันที่ผ่านมา ช่วงการระบาด 14 ธ.ค. – 14 ม.ค. 64 จำนวน 7,025 ราย อัตราการติดเชื้อ 10.2 ต่อแสนประชากร  ขณะที่ตัวเลขภายใน 14 วัน มีจำนวน 4,572 ราย อัตราการติดเชื้อ 6.6 ต่อแสนประชากร ส่วน 7 วันที่ผ่านมา มีผู้ป่วยใหม่รายงาน 1,626 ราย หรือ อัตราการติดเชื้อ 2.4 ต่อแสนประชากร และ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาจำนวน 271 ราย อัตราการติดเชื้อ 0.4 ต่อแสนประชากร

161086463635

ขณะที่ JHU ซึ่งมีระบบการรายงานตัวเลขอีกชุดหนึ่งที่แตกต่างกันเล็กน้อย (ข้อมูล ณ วันที่ 14 มกราคม 2564) ใน 30 วันที่ผ่านมา ช่วงการระบาด 14 ธ.ค. – 14 ม.ค. 64 จำนวน 7,189 ราย อัตราการติดเชื้อ 10.4 ต่อแสนประชากร  ขณะที่ตัวเลขภายใน 14 วัน มีจำนวน 4,287 ราย อัตราการติดเชื้อ 6.2 ต่อแสนประชากร ส่วน 7 วันที่ผ่านมา มีผู้ป่วยใหม่รายงาน 1,609 ราย หรือ อัตราการติดเชื้อ 2.3 ต่อแสนประชากร และ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาจำนวน 459 ราย อัตราการติดเชื้อ 0.7 ต่อแสนประชากร

161086463677

“มาดูว่าทั้งสององค์กรประเมินประเทศไทยอย่างไร WHO ประเมินประเทศไทยอยู่ในกลุ่ม เคสไม่เยอะ และ ปริมาณไม่ได้กำลังเพิ่มขึ้น ตัวเลขที่เห็นเป็นแนวโน้มลดลง ความชันกราฟอยู่ที่ 0.01 ซึ่งอยู่ในกลุ่มสีฟ้า คือ Not high burden and not growing นี่คือสถานการณ์จริงของไทย การจะเป็นแบบนี้ได้ต้องอาศัยความร่วมมือ และสามัคคีของคนไทย และ JHU ก็มีข้อสรุปเหมือนกับ WHO เช่นกัน”

161086463940

“เวลาประเมินว่าประเทศไทยกำลังจะดีขึ้นหรือแย่ลง ต้องนำไปคิดคำนวณโดยภาพรวม และคนไทยต้องช่วยกันอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่ามาตรการต่างๆ ที่รัฐพยายามเน้นย้ำให้ทำ เราทำได้ และทำได้สำเร็จไม่ต่างจากครั้งที่ผ่านมา หากทุกคนรู้หน้าที่ของตัวเอง” ผศ.นพ. มนต์เดช กล่าว

ขณะเดียวกันการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 มี 2 เป้าหมาย คือ “เป้าหมายส่วนบุคคล” และ “เป้าหมายของส่วนรวม” ทั้งประเทศหรือทั้งโลก ทั่วทั้งโลกพยายามให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งต้องมีการคำนวณว่าใช้วัคซีนปริมาณเท่าไหร่ รวมถึงประสิทธิภาพของวัคซีนที่ตัดสินใจใช้อยู่ในระดับไหน เพราะวัคซีนที่ประสิทธิภาพสูง สามารถกระตุ้นภูมิต้านทานได้ในระดับสูงอาจราคาแพง แต่ทำให้มั่นใจได้ว่าจำนวนคนที่ฉีดไปส่วนใหญ่เกิดภูมิต้านทานทันเวลาในปริมาณที่ต้องการ

การวัคซีนต้องฉีดอย่างน้อย 60-70% ของประชากร ซึ่งประชากรทั่วโลกราว 7,000 ล้านคน ขณะที่ คนไทยราว 70 ล้านคน ต้องฉีดราว 40-50 ล้านคน การฉีดวัคซีนซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันและลดความรุนแรง ลดอัตราการเสียชีวิต บุคคลสี่ยงมากที่สุด แน่นอนว่า กลุ่มแพทย์ พยาบาล เพราะอยู่แนวหน้า รวมถึงผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว แต่เมื่อฉีดกลุ่มคนเหล่านี้ โรคไม่หยุด อาจจะไม่ป้องกันการถ่ายทอดโรค

“เพราะฉะนั้น การที่มุ่งประเด็นไปที่การฉีดวัคซีนให้คนกลุ่มนี้ เพื่อป้องกันแต่ไม่หยุดยั้งการแพร่กระจายโรค แต่กลุ่มคนเหล่านี้จะปลอดภัยเพราะมีวัคซีนมาป้องกัน แต่การแพร่กระจายโรคก็จะยังแพร่กระจายต่อไป เพราะคนที่แพร่เชื้อ คือ กลุ่มคนอายุน้อย แข็งแรง เวลาป่วยไม่มีอาการ หากจะหยุดยั้งได้ ต้องให้กลุ่มคนที่แพร่เชื้อให้คนอื่นและเคลื่อนไหวตลอดเวลา มีภูมิต้านทานเกิดขึ้น"

“แนวคิดนี้อินโดนีเซียมุ่งประเด็นไปที่คน 190 กว่าล้านคน ซึ่งอายุน้อย เคลื่อนไหวตลอดเวลา เอาเชื้อกลับไปบ้าน และแพร่เชื้อ คาดว่าจะต้องใช้วัคซีนประมาณ 600 ล้านโดสเพื่อยับยั้ง สร้างภูมิต้านทานให้กับคนเหล่านี้ให้ได้  ขณะที่ สหรัฐอเมริกาพูด คือ ฉีดให้บุคลากรการแพทย์ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ป้องกันคนอ่อนแอ ไม่ให้ติดเชื้อ แต่โรคก็ยังแพร่กระจายต่อไป”

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐ ระบุว่า ในคนไข้ที่เป็นโควิด-19 มาก่อน และดีขึ้นแล้ว สามารถฉีดได้และได้ประโยชน์ แต่หากกำลังเป็น ยังไม่หาย ห้ามฉีด ผ่านมา 1 ปี ยังไม่รู้ว่าภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจะสามารถอยู่ได้นานแค่ไหน เพราะเท่าที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ พบว่า ภูมิต้านทานของคนที่เคยเป็นอยู่ไม่นาน และค่อยๆ ลดลง ดังนั้น จึงมีคนที่เคยเป็นมาแล้ว และฉีดวัคซีนด้วย ภูมิต้านทานก็ขึ้น เชื่อว่าอีกหลายปีข้างหน้าจะเริ่มเห็นคำตอบที่ชัดเจน

ทั้งนี้ วัคซีนยังมีรายละเอียดที่ต้องศึกษาให้ดีหากจะใช้ คิดว่าวัคซีนที่ดีคือ ฉีดหนเดียว กระตุ้นภูมิต้านทานได้ตลอด ในระยะเวลานาน และแน่นอนการเข้าถึงสำคัญมากเพราะมีอุปสรรคหลายอย่าง ในหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นการเก็บรักษา การบริหารยา โดยเฉพาะการเตรียมพร้อมเครื่องมือในการจัดเก็บวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ว่าจะโมเดอร์น่า หรือ ไฟเซอร์-ไบโอเอนเทค โดยเป็นเครื่องจัดเก็บวัคซีน -80 องศา ซึ่งมีความสำคัญ โดยเฉพาะวัคซีนของ ไฟเซอร์-ไบโอเอนเทค ทำให้สามารถจัดเก็บวัคซีนได้ตลอดอายุการใช้งาน เพราะหากแช่ในตู้เย็นธรรมดา อายุจะเหลือเพียง 5 วัน แต่หากเปิดผสม อยู่ได้ 6 ชั่วโมง 1 ขวดมี 6 โดส โดสละ 0.3 ซีซี เมื่อผสมแล้วจะต้องใช้ให้หมด

“แนวทางในการนำวัคซีนเข้ามา จะพยายามนำวัคซีนที่ดีที่สุด และมีประสิทธิภาพสูงสุดให้กับสาธารณชน เมื่อรัฐบาลอนุญาต เพราะต้องการให้คนไทยมีความปลอดภัยอย่างรวดเร็ว และไม่ฉวยโอกาสเรื่องราคา" ผศ.นพ. มนต์เดช กล่าวทิ้งท้าย