แบงก์เร่งช่วยลูกหนี้พื้นที่เสี่ยง พบยอดปล่อยสินเชื่อ 28 จว.มูลค่า13.83 ล้านล้าน
“ทีเอ็มบี”เปิดยอดการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในพื้นที่ควบคุมโควิดสูงสุด 28 จังหวัด รวม13.83 ล้านล้าน คิดเป็น 86% ของสินเชื่อทั้งหมด ลูกหนี้รวม 19.01 ล้านราย พบเป็นรายย่อย-เอสเอ็มอีพุ่ง ด้านธปท.หวั่นครัวเรือนเปราะบางเพิ่ม เร่งแบงก์ช่วยเร่งด่วน
นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19รอบใหม่ เชื่อว่ายิ่งซ้ำเติมลูกหนี้ให้มีความเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะลูกหนี้ในพื้นที่ควบคุมโควิด-19 ใน 28 จังหวัดที่อาจได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้จากการสำรวจการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ในพื้นที่ 28 จังหวัด มียอดการให้สินเชื่อรวมราว 13.83 ล้านล้านบาท หรือราว 86.11 % ของสินเชื่อทั้งระบบ ที่ 16.06 ล้านล้านบาท โดยมีลูกหนี้ ที่ 19.01 ล้านราย จากจำนวนลูกหนี้ทั้งระบบ 22.04 ล้านราย
แบ่งเป็น พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 5 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง ตราด สมุทรสาคร จันทบุรี มียอดการให้สินเชื่ออยู่ที่ 7.41 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 5% ของสินเชื่อรวมทั้งระบบ โดยมีลูกหนี้จำนวน 7.9 แสนคน
. ซึ่งหากดูกลุ่มที่มีการใช้สินเชื่อมากที่สุดในพื้นที่ดังกล่าวพบว่า เป็นกลุ่มรายย่อยมากที่สุด 52% หรือ ลูกหนี้ 6.64 แสนคน คิดเป็นมูลหนี้ราว 3.8 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็นหนี้เฉลี่ยต่อหัวต่อลูกหนี้อยู่ที่ราว 5.7 แสนบาทต่อคน ขณะที่เอสเอ็มอีมีราว 1.26 แสนคน การให้สินเชื่อที่ 2.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นหนี้เฉลี่ย 1.9 ล้านบาทต่อราย
ขณะที่ลูกหนี้ในพื้นที่ที่มีการควบคุมสูงสุด 23 จังหวัด อาทิ กรุงเทพ สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม ฯลฯ พบว่า มีจำนวนลูกหนี้ถึง 18.2ล้านคน หรือคิดเป็นยอดสินเชื่อรวมที่ 13.09 ล้านล้านบาท มากที่สุดคือลูกหนี้รายย่อย ที่มีราว 17.2 ล้านคน หรือคิดเป็นสินเชื่อราว 3.4 ล้านล้านบาท
รองลงมาคือ เอสเอ็มอี 8.66 แสนคน หรือ 2.5 ล้านบาท ซึ่งแยกดูหนี้ต่อหัวต่อลูกหนี้ พบว่ารายย่อยเป็นหนี้เฉลี่ย 1.98 แสนบาทต่อคน ขณะที่เอสเอ็มอี อยู่ที่ 2.8 ล้านบาทต่อราย
ส่วนสินเชื่อในพื้นที่ควบคุม พบว่ามีจำนวนลูกหนี้อยู่ที่ราว 7.38 แสนราย หรือ 5.23 แสนล้านบาท และพื้นที่เฝ้าระวัง มีลูกหนี้ทั้งหมดอยู่ที่ 2.2ล้านราย และมีจำนวนหนี้รวมอยู่ที่ 1.7 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตามหากดูรายละเอียดรายกลุ่มพบว่า เป็นรายย่อย ถึง 20 ล้านคน หรือคิดเป็นสินเชื่อราว 4.9 ล้านล้านบาท รองลงมาคือ เอสเอ็มอี ที่ 1.5 ล้านราย หรือ 3.5 ล้านล้านบาท และธุรกิจขนาดใหญ่ ราว 1.13 แสนราย หรือคิดเป็นสินเชื่อราว 7.5 ล้านล้านบาท (ทั้งนี้ข้อมูลลูกหนี้ในข้างต้น อาจมีการนับซ้ำ เนื่องจากลูกหนี้บางราย อาจมีการกู้หลายสถาบันการเงิน)
นายนริศ กล่าวว่า หากดูข้อมูลลูกหนี้และจำนวนสินเชื่อในข้างต้น ถือว่าน่าห่วง ที่สถาบันการเงิน นอนแบงก์ต้องเร่งเข้าไปดูแล และต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้ และให้ลูกหนี้เข้ามาตรการช่วยเหลือโดยเร็ว หากลูกหนี้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะลูกหนี้รายย่อย และลูกหนี้ธุรกิจที่มีความเปราะบางด้านรายได้ และมีภาระการชำระหนี้สูง ทำให้เป็นหนี้เสีย
ด้านนางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากโควิด-19 รอบใหม่คาดว่าจะมีผลกระทบต่อแรงงาน ในพื้นที่สีแดง ราว 4.7 ล้านคน
โดยส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างรายวัน และอาชีพอิสระ จากรายได้และชั่วโมงการทำงานลด ดังนั้นคาดว่ามีราว 1.2 ล้านคน ที่อาจกลายเป็นผู้เสมือนว่างงาน หรือทำงานน้อยกว่า 24 ชั่วโมง
ดังนั้นในมุมของลูกหนี้ จากผลกระทบโควิด-19รอบใหม่ เชื่อว่า อาจมีความสามารถรับแรงกระแทกจากผลกระทบลดลง ภายใต้หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงในปัจจุบัน
ซึ่งจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งการบริโภค และการฟื้นตัวระยะข้างหน้าได้ ดังนั้นกลุ่มเหล่านี้จำเป็นต้องมีมาตรการออกมาช่วยพยุง และต้องหาผู้ได้รับผลกระทบให้เจอ และช่วยลูกหนี้ให้มากที่สุด