ผ่าสาแหรก ‘ซิน เคอ หยวน’ พบ ‘อดีตบิ๊กทหาร’ เคยถือหุ้น บ.ในเครือ?

ผ่าสาแหรก ‘ซิน เคอ หยวน’ พบ ‘อดีตบิ๊กทหาร’ เคยถือหุ้น บ.ในเครือ?

ผ่าสาแหรก ‘ซินเคอหยวน สตีล’ ผู้ผลิตเหล็ก 1 ใน 3 บริษัทที่ถูก ก.อุตสาหกรรม นำไปตรวจสอบ หลังตึก สตง.ถล่ม พบ ‘ลี่ เคอ หง’ บ.ในเครือมี ‘อดีตบิ๊กทหาร’ เคยถือหุ้นด้วยปี 67

ประเด็นอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ มูลค่ากว่า 2.1 พันล้านบาท ถล่มลงภายหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อ 28 มี.ค. 2568 ที่ผ่านมา กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก และมีหลายประเด็นที่ถูกตั้งคำถามหาสาเหตุว่าทำไมตึกที่ใช้งบประมาณสูงขนาดนี้ แม้ว่าจะอยู่ระหว่างการก่อสร้างก็ตาม แต่ในเมื่อทำโครงสร้างพื้นฐานเสร็จแล้ว และก่อสร้างในชั้นสุดท้าย (ชั้น 33) ไฉนถึงถล่มลงมาเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย 

หากโฟกัสเฉพาะประเด็นสาเหตุในการถล่มลงมาของตึกแห่งนี้ พบว่า เบื้องต้น กระทรวงอุตสาหกรรม นำโดยนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณตึกถล่มดังกล่าว พร้อมเก็บตัวอย่างออกมาจากพื้นที่จริง 6 ประเภท พบว่า ส่วนใหญ่มาจากผู้ผลิตรายเดียวนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณภาพจากสถาบันเหล็ก และเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย

เอกนัฏ ให้สัมภาษณ์เมื่อ 31 มี.ค. ที่ผ่านมาว่า หากพบว่าเหล็กที่มีปัญหามาจากผู้ผลิตรายใด ก็จะต้องสั่งให้ปิดโรงงานในทันที ไปจนถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาต มอก. และจะไม่สามารถนำเหล็กไปจำหน่ายได้ และต้องเรียกคืนเหล็กทั้งหมด และจะต้องถูกดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมาย

สำหรับเหล็กเส้นที่เก็บมาจากที่เกิดเหตุและนำมาตรวจสอบคุณภาพมี 28 เส้น รวม 7 ประเภท ประกอบด้วย เหล็กข้ออ้อย ขนาด 12 มม. จำนวน 3 เส้น ,  เหล็กข้ออ้อย ขนาด 16 มม. จำนวน 3 เส้น , เหล็กข้ออ้อย ขนาด 20 มม. จำนวน 6 เส้น เหล็กข้ออ้อย ขนาด 25 มม. จำนวน 2 เส้น , เหล็กข้ออ้อย ขนาด 32 มม. จำนวน 7 เส้น , เหล็กเส้นกลม ขนาด 9 มม. จำนวน 2 เส้น  และลวดสลิง ขนาด 15.2 มม. จำนวน 5 เส้น 

โดยเหล็กที่นำไปตรวจสอบมาจาก 3 บริษัท คือ บริษัทซินเคอหยวน สตีล จำกัด (จีน) , บริษัททาทา สตีล จำกัด (อินเดีย) และบริษัท ที วาย สตีล จำกัด (บริษัทร่วมทุนไทยและจีน)

รายงานข่าวระบุว่า เหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างอาคาร สตง.ส่วนใหญ่ผลิตจากบริษัท ซิน เคอ หยวน จำกัด ซึ่งเคยถูกกระทรวงอุตสาหกรรมตรวจสอบเหตุเพลิงไหม้โรงงาน และพบข้อบกพร่องด้านความปลอดภัยและด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด้านการผลิตเหล็กที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน จึงได้ยึดอายัดเหล็กไว้และตรวจสอบพบไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 2,441 ตัน มูลค่า 49.2 ล้านบาท และดำเนินคดีตามกฎหมาย

กรุงเทพธุรกิจ เคยขยายผลการตรวจสอบไปแล้วว่า เหล็กที่ถูกใช้ในการก่อสร้างตึก สตง.แห่งดังกล่าว บางส่วนถูกใช้จากบริษัท ซินเคอหยวน สตีล จำกัด ที่มี “คนจีน” ถือหุ้นใหญ่ และ “คนลาว” เป็นกรรมการ 

ข้อมูลจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัทแห่งนี้มีเครือข่ายในไทยจำนวนหนึ่ง โดยอีกแห่งคือ บริษัท ซิน เคอ หยวน จำกัด ทั้งบริษัทมี เจี้ยนฉี เฉิน หรือ เฉิน เจี้ยนฉี (สัญชาติจีน) ถือหุ้นใหญ่สุดทั้ง 2 บริษัท และยังมี “คนจีน” เข้าไปถือหุ้นยิบย่อยอีกจำนวนมาก ขณะที่ “คนลาว” ที่เข้าไปเป็นกรรมการทั้ง 2 บริษัทคือ “สมพัน ปันแก้ว

ทั้งนี้ เจี้ยนฉี เฉิน หรือ เฉิน เจี้ยนฉี ปรากฏข้อมูลอีกว่า เป็นกรรมการบริษัทอีกอย่างน้อย 3 แห่ง ได้แก่ 

  1. บริษัท ซิน เส้า หยวน จำกัด วัตถุประสงค์ การผลิตเหล็ก และเหล็กกล้าขั้นมูลฐานอื่นๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น
  2. บริษัท เจิ้นหวา อินเตอร์เนชั่นแนล ทัวริซึ่ม และเทรดดิ้ง จำกัด วัตถุประสงค์ จำหน่ายสินค้าประเภทยาสูบซิการ์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  3. บริษัท ไทยอินเตอร์สตีล จำกัด (เสร็จชำระบัญชี)

ถือหุ้นอีกอย่างน้อย 4 แห่ง ได้แก่ 

  1. บริษัท เอเชีย สเตป (ไทยแลนด์) จำกัด วัตถุประสงค์ รับจ้างเย็บชุดชั้นใน (ถือ 35.39%)
  2. บริษัท ซิน เส้า หยวน จำกัด วัตถุประสงค์ การผลิตเหล็ก และเหล็กกล้าขั้นมูลฐานอื่นๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น (ถือ 48%) 
  3. บริษัท ซิน เคอ หยวน จำกัด วัตถุประสงค์ การผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐานอื่นๆ ซึ่งมิได้จัด ประเภทไว้ในที่อื่น (Manufacture of other basic iron (ถือ 71.26%)
  4. บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด วัตถุประสงค์ โรงงานผลิตเหล็ก (ถือ 64.91%)

ล่าสุด กรุงเทพธุรกิจ ตรวจสอบขยายผลพบข้อเท็จจริงอีกว่า ยังมีอีก 1 บริษัท ที่เป็นเครือข่ายกับ “ซิน เคอ หยวน” เนื่องจากมี กรรมการบริษัทที่เป็น “คนลาว” และผู้ถือหุ้นซึ่งเป็น “คนจีน” เข้าไปถือหุ้นอย่างน้อย 3 ราย

ที่สำคัญยังตรวจสอบพบว่าเคยมีบุคคลชื่อคล้าย “อดีตนายทหาร” ระดับยศ “พลเอก” เคยมีตำแหน่งระดับสูงใน “กองทัพไทย” เข้าไปถือหุ้นด้วย โดยชื่อในฐานะผู้ถือหุ้นนั้นใช้คำว่า “นาย” นำหน้าแทน “พลเอก”

นั่นคือ บริษัท ลี่ เคอ หง จำกัด จดทะเบียนเมื่อ 16 พ.ย. 2565 (ราวเกือบ 3 ปีก่อน) ทุนปัจจุบัน 700 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 170 หมู่ที่ 3 ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง (ที่ตั้งเดียวกับบริษัท ซิน เคอ หยวน จำกัด และบริษัท ซินเคอหยวน สตีล จำกัด) วัตถุประสงค์ การนำวัสดุที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ มีกรรมการ 2 คนคือ นายเขมพัสตร์ กิตติภักดีกุล นายสมพัน ปันแก้ว (สัญชาติลาว)

รายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุดบริษัทแห่งนี้ ปัจจุบันมี 3 คนคือ เขมพัสตร์ กิตติภักดีกุล ถือหุ้นใหญ่สุด 51% สมพน ปันแก้ว (สัญชาติลาว) ถือ 48% (หุ้นจำนวนนี้เปลี่ยนมือจาก “เฉิน เจี้ยนฉี” ที่เคยถือเมื่อปี 2566) และกนกวรรณ คนดี ถือ 1%

ก่อนหน้านี้เคยนำส่งผู้ถือหุ้นเมื่อ 20 มิ.ย. 2567 นายเขมพัสตร์ กิตติภักดีกุล ถือหุ้นใหญ่สุด 51% นายสมพัน ปันแก้ว ถือรองลงมา 36.2857% จุน หวัง (สัญชาติจีน) ถือ 1% หลี เล่อเชิง (สัญชาติจีน ถือหุ้น “ซิน เคอ หยวน” 1%) ถือ 1% เหลินจง เฉิน (สัญชาติจีน  เป็นกรรมการ และถือหุ้น “ซิน เคอ หยวน” 0.12%) ถือ 1% หงเอี๋ยน หลี่ (สัญชาติจีน) ถือหุ้น 1% ฉู่ฉุน เฉิน (สัญชาติจีน ถือหุ้น “ซิน เคอ หยวน” 0.21%) ถือหุ้น 0.2857% ที่เหลือมีคนไทย 5 คนถือหุ้นรวมกัน 9% โดยในจำนวนนี้มีคนที่ชื่อคล้าย “อดีตบิ๊กทหาร” ถือหุ้น 2%

ขณะที่บัญชีถือหุ้นบริษัทแห่งนี้เมื่อ ส.ค. 2566 พบว่า “เฉิน เจี้ยนฉี” ผู้ถือหุ้นใหญ่ “ซิน เคอ หยวน” และ “ซินเคอหยวน สตีล” ถือหุ้นบริษัทแห่งนี้ด้วย 48% ส่วนเขมพัสตร์ กิตติภักดีกุล ถือหุ้น 51% และเสี่ยว ดงจาง (สัญชาติจีน) ถือหุ้น 1%

นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2566 สินทรัพย์รวม 51,073,491 บาท หนี้สินรวม 52,018,350 บาท รายได้รวม 49,112 บาท รายจ่ายรวม 1,222,471 บาท ขาดทุนสุทธิ 1,173,358 บาท

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2565 (ปีก่อตั้งบริษัท) ส่งงบการเงินแจ้งมีสินทรัพย์รวม 238,560 บาท หนี้สินรวม 10,060 บาท ไม่มีรายได้ รายจ่ายรวม 21,500 บาท ขาดทุนสุทธิ 21,500 บาท

อย่างไรก็ดีบริษัทแห่งนี้ มิได้ถูกร้องเรียนถึงปัญหาในการจัดซื้อจัดจ้าง และยังไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในประเด็นอาคาร สตง.ถล่มแต่อย่างใด