รำลึกถึง John C. Bogle
ทำความรู้จัก "John C. Bogle" ผู้ก่อกำเนิดกองทุนรวมที่ลงทุนตามดัชนี (Index Fund) ซึ่งได้รับการยอมรับจากผู้ที่นิยมการลงทุนแบบเชิงรับ (Passive Investment) รวมถึง Warren Buffet นักลงทุนที่เชี่ยวชาญในการเลือกหุ้น
สำหรับนักลงทุนที่ศึกษาหาความรู้เพื่อประสบความสำเร็จในการลงทุน น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักชื่อ John C. Bogle ผู้ก่อกำเนิดกองทุนรวมที่ลงทุนตามดัชนี (Index Fund) หรือกองทุนเชิงรับ (Passive Fund) ให้เกิดขึ้นมาในโลก และยืนยงจนถึงปัจจุบัน
Bogle ได้จากโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันกลับ เมื่อวันที่ 16 ม.ค.2562 หรือเดือนเดียวกันนี้เมื่อ 2 ปีก่อน ด้วยวัย 89 ปี เขาไม่ใช่ลูกเศรษฐี แม่เขาเลี้ยงเขามาด้วยความยากลำบาก ตัวเขาเองต้องผ่านการล้มลุกคลุกคลาน ต่อสู้เพื่อสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน จากการศึกษาของเขาเองเมื่อครั้งทำวิทยานิพนธ์ในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งสอดคล้องกับ ผลการวิจัยที่ได้รับรางวัลโนเบลของศาสตราจารย์ Paul A. Samuelson แห่ง MIT ที่ว่าไม่มีหลักฐานใดที่แสดงว่าผู้จัดการกองทุนจะสามารถสร้างผลการดำเนินงานที่เหนือกว่าดัชนี S&P500 “ได้อย่างสม่ำเสมอ และยั่งยืน” และ “ควรที่จะมีคนสร้างกองทุนรวมดัชนีที่ค่าธรรมเนียมต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ขึ้นมา”
Bogle พยายามสร้างกองทุนรวมดัชนีที่มีผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นเจ้าของจริงๆ และจัดเก็บค่าจัดการกองทุนต่ำอย่างยิ่ง (เนื่องจากไม่ต้องลงทุนวิเคราะห์วิจัย เพียงลงทุนในสัดส่วนเดียวกันกับดัชนีเท่านั้น) โดย ณ เวลานั้นเขาแทบไม่ได้รับการสนับสนุนจากใครๆ ระดมทุนครั้งแรกก็ได้เงินน้อยมาก แต่ในที่สุดแล้วเขาก็สามารถทำมันได้สำเร็จ โดยปัจจุบันกองทุนของกลุ่ม Vanguard สามารถครองส่วนแบ่งตลาดทั่วโลกเป็นอันดับ 1 ของกองทุนรวม และเป็นอันดับ 2 ของ ETF รองจาก iShares ของ BlackRock เท่านั้น
ที่ว่าค่าใช้จ่ายต่ำมากๆนั้น มิใช่การทำฟรี แต่หมายถึงการคิดค่าใช้จ่ายกองทุนต่ำเท่ากับต้นทุนในการดำเนินงาน (at cost) คือไม่เอากำไรจากการจัดการกองทุนเลยนั่นเอง โดยตัวอย่างของค่าธรรมเนียมที่ต่ำนั้น ก็เช่นกองทุนรวม Vanguard 500 Index Fund Investor Shares ซึ่งเป็นกองธงของบริษัท มีค่าใช้จ่ายรวมต่ำเพียง 0.14% ต่อปี (ถ้าเป็น ETF จะเหลือเพียง 0.04% ต่อปีเท่านั้น)
Bogle ไม่เพียงได้รับการยอมรับจากผู้ที่นิยมการลงทุนแบบเชิงรับ (Passive Investment) เท่านั้น แต่เขายังได้รับการยอมรับจาก Warren Buffet นักลงทุนที่เชี่ยวชาญในการเลือกหุ้น และประสบความสำเร็จจากการเลือกหุ้นมากที่สุดคนหนึ่งของโลกแห่ง Berkshire Hathaway โดย Buffett ได้เขียนในสารถึงผู้ลงทุนของ Berkshire ประจำปี 2560 ก่อนที่ Bogle จะเสียชีวิตว่า
“หากมีการตั้งอนุสาวรีย์เพื่อเป็นเกียรติแก่บุคคลที่ได้สร้างคุณประโยชน์แก่นักลงทุนชาวอเมริกันมากที่สุด บุคคลที่สมควรถูกเลือกโดยไม่ต้องคิดให้มากเลย คือ Jack Bogle…ในชีวิตช่วงแรกๆของเขา บ่อยครั้งที่แจ็คถูกล้อเลียนโดยผู้คนในอุตสาหกรรมลงทุน แต่ในวันนี้ เขามีความสุขที่ได้ทราบว่าเขาได้ช่วยเหลือนักลงทุนเป็นล้านๆคนให้ได้รับผลตอบแทนจากเงินออม มากกว่าที่ควรจะได้รับก่อนหน้านี้เป็นอย่างมาก เขาคือวีรบุรุษของนักลงทุนเหล่านั้น และของผมด้วย”
แม้ว่าปรัชญาด้านการเลือกหุ้นจะแตกต่างกัน แต่ทั้ง Bogle และ Buffett กลับมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน นั่นคือความศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อการลงทุนระยะยาว โดย Bogle เองได้เคยให้ความเห็นไว้ว่า “ความคิดที่ว่าเสียงระฆังดังขึ้นเพื่อส่งสัญญาณว่าเมื่อใดนักลงทุนควรจะเข้าหรือออกจากตลาดนั้นไม่มีความน่าเชื่อถือเอาเสียเลย หลังจากที่ผมอยู่ในธุรกิจนี้มานานเกือบ 50 ปี ผมไม่เคยรู้เลยว่าใครสามารถทำสิ่งนี้ได้ดีอย่างต่อเนื่องได้”
ในขณะที่ Buffett เองก็กล่าวไว้คล้ายกันว่า “คนที่คิดว่าสามารถคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของตลาดหุ้นในระยะสั้นได้ - หรือไปฟังคนอื่นๆพูดกันมา – เขาเหล่านั้นกำลังจะทำเรื่องที่ผิดพลาดอย่างมหันต์”
และแม้ว่ากองทุนรวมเชิงรับ ได้ทวีความนิยมมากขึ้นจนขนาดกองทุนโดยรวมกำลังจะมีสัดส่วนสูงกว่ากองทุนรวมเชิงรุก แต่ก็ใช่ว่า Bogle จะพอใจกับความสำเร็จนี้เพียงอย่างเดียว โดยก่อนที่เขาจะเสียชีวิตได้ไม่นาน เขาได้ออกหนังสือชื่อ “Stay the Course” โดยได้แสดงความห่วงใยไว้ว่า หากเมื่อใดกองทุนรวมดัชนีซึ่งส่วนใหญ่บริหารโดยบริษัทยักษ์ใหญ่เพียงไม่กี่แห่ง มีสัดส่วนการถือครองในหุ้นบริษัทจดทะเบียนมากเกินไป เขาคิดว่าการกระจุกตัวเช่นนี้ จะไม่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติ เพราะจะทำให้อำนาจควบคุมอยู่ในมือของคนไม่กี่คนในไม่กี่บริษัท และเขาได้ทิ้งท้ายทางแก้ของปัญหานี้ไว้ว่า สมาชิกของอุตสาหกรรมจำเป็นที่จะต้องพัฒนามาตรฐานในการปฏิบัติงานสำหรับนักลงทุนสถาบันร่วมกันเพื่อที่จะสามารถ
…“รับใช้ประโยชน์สาธารณะของชาติ และประโยชน์ของผู้ลงทุน” เอาไว้ให้ได้นั่นเอง