บินไทยเลื่อนส่งแผนฟื้นฟู ครั้งสุดท้าย ขยายเวลาทำแผนการเงินสมบูรณ์

บินไทยเลื่อนส่งแผนฟื้นฟู ครั้งสุดท้าย ขยายเวลาทำแผนการเงินสมบูรณ์

“การบินไทย” จ่อยื่นศาลล้มละลายภายในสัปดาห์นี้ ขอเลื่อนส่งแผนฟื้นฟูกิจการเพิ่มอีก 1 เดือน หวังใช้เวลาจัดทำแผนการเงินสมบูรณ์ มั่นใจทันปลายเดือน ก.พ.ด้านประธานบอร์ดแจงปมจ้างที่ปรึกษาการเงิน ยันโปร่งใส จัดใช้กรอบวงเงินไม่เกิน 60 ล้าน

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การบินไทยไม่สามารถส่งแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางได้ทันตามกำหนด คือ ในวันที่ 2 ก.พ. 2564 ดังนั้นในสัปดาห์นี้ การบินไทยเตรียมที่จะยื่นต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอขยายระยะเวลาส่งแผนฟื้นฟูกิจการออกไปอีก 1 เดือน โดยจะเป็นการยื่นขอขยายระยะเวลาเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายที่สามารถดำเนินการได้

 

แหล่งข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  ขณะนี้คณะผู้ทำแผนได้พิจารณาขอขยายระยะเวลาในการยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลาย ออกไปอีกประมาณ 1 เดือน จากเดิมที่การบินไทยได้ยื่นขอขยายไปแล้ว 1 ครั้ง จากวันที่ 2 ม.ค.2564 เป็น 2 ก.พ.2564 ขณะนี้จะขยายออกไปเป็น 3 มี.ค.2564 ซึ่งถือเป็นสิทธิ์ในการขอขยายระยะเวลายื่นแผนครั้งสุดท้าย ตามกรอบของกฎหมาย แต่เบื้องต้นการบินไทยมีความมั่นใจว่าจะสามารถเสนอแผนฟื้นฟูต่อศาลช่วงปลายเดือน ก.พ.นี้

                อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาคณะผู้ทำแผนได้เจรจากับเจ้าหนี้คืบหน้าไปมาก โดยเจ้าหนี้รายใหญ่ อาทิ เจ้าหนี้เช่าเครื่องบิน ตอบรับเห็นด้วยกับแผนฟื้นฟู แต่ยอมรับว่าเพื่อให้แผนสมบูรณ์ที่สุด ตามกฎหมายการบินไทยสามารถขอขยายเวลายื่นแผนได้ 2 ครั้ง ดังนั้นจึงขอใช้โอกาสนี้ในการพิจารณาแผนให้สมบูรณ์ โดยเฉพาะแผนด้านการเงินที่เป็นส่วนสำคัญของการพิจารณา สร้างความเชื่อมั่นต่อเจ้าหนี้

                ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่าการบินไทยไม่มีที่ปรึกษาทางการเงิน และอยู่ระหว่างเตรียมว่าจ้างในวงเงินที่สูงมากนั้น การบินไทยขอชี้แจงว่าก่อนหน้านี้ บริษัท ฟินันซ่า จำกัด (มหาชน) ได้ขอถอนตัวจากที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งได้ถอนตัวไปนานแล้ว ตั้งแต่เดือน ต.ค.ที่ผ่านมา และไม่ได้เป็นผลกระทบต่อการทำแผนฟื้นฟู เพราะการบินไทยยังคงเดินหน้าตามแผนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งขณะนี้ยังได้ทาบทามบริษัทที่ปรึกษารายใหม่ให้เข้ามาช่วยทำงานได้แล้ว แต่ยังไม่อยากเปิดเผยรายชื่อได้

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ผู้ทำแผนได้ยื่นแผนฟื้นฟูต่อศาลแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะส่งสำเนาแผนฟื้นฟูให้เจ้าหนี้ได้พิจารณา และลงมติในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟู โดยขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 1.5 เดือน จึงคาดว่าจะมีการจัดประชุมเจ้าหนี้ในช่วงเดือน มี.ค. - เม.ย.นี้ และเมื่อเจ้าหนี้ให้ความเห็นชอบกับแผนฟื้นฟูแล้ว จะเป็นขั้นตอนของศาลที่จะพิจารณาและให้ความเห็นชอบต่อแผนฟื้นฟูเป็นขั้นตอนสุดท้าย

ด้านพลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานกรรมการ (บอร์ด) การบินไทย กล่าวว่า แผนฟื้นฟูกิจการดำเนินการโดยคณะผู้จัดทำแผนรวม 6 คน และบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ที่ปรึกษาทางด้านธุรกิจการบิน และที่ปรึกษาทางด้านการเงิน โดยการจัดทำแผนฟื้นฟู ประกอบด้วยแผนหลัก 2 ส่วน คือ

  1. แผนธุรกิจ ประกอบด้วยแผนในการจัดหารายได้ ลดรายจ่าย ปรับปรุงกระบวนการทำงาน ตลอดจนปรับโครงสร้างองค์กรให้มีความเหมาะสมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เตรียมความพร้อมรองรับการดำเนินธุรกิจในอนาคตอย่างยั่งยืน ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการตามแผนงานไปแล้วบางส่วน อาทิ โครงการขอความร่วมมือพนักงานลาหยุดโดยไม่รับค่าตอบแทน โครงการเสียสละเพื่อองค์กร เพื่อลดต้นทุนด้านบุคลากร เป็นต้น โดยในส่วนของแผนธุรกิจนี้ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ เกือบสมบูรณ์แล้ว
  2. แผนการเงิน ประกอบด้วย แผนการปรับโครงสร้างหนี้และโครงสร้างทุน ซึ่งบริษัท การบินไทยฯ มีเจ้าหนี้จำนวนมาก การชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟู จึงต้องเป็นธรรมกับเจ้าหนี้ทุกฝ่าย โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบคำขอรับชำระหนี้เพื่อให้มั่นใจว่า หนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟู นั้นเป็นหนี้ที่ถูกต้อง ในขณะเดียวกันจำเป็นต้องจัดทำแบบจำลองทางการเงิน เพื่อกำหนดรูปแบบการปรับโครงสร้างทุน โครงสร้างหนี้ และการจัดสรรการชำระหนี้ในรูปแบบต่างๆ เพื่อเสนอให้เจ้าหนี้พิจารณาต่อไป

อย่างไรก็ตามบริษัทได้พิจารณาว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินมืออาชีพ ตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง และหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกของบริษัท ซึ่งเป็นไปอย่างโปร่งใส เพื่อมาเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำ และช่วยงานทางด้านการเงินและการบัญชีของบริษัท ในการจัดทำโครงสร้างทางการเงิน โครงสร้างเงินทุนและผู้ถือหุ้น การวิเคราะห์กระแสเงินสด วิเคราะห์สถานการณ์ทางการเงิน ทั้งในปัจจุบันและอนาคตของการบินไทย

                ตลอดจนเพื่อใช้ประกอบการจัดทำ และนำเสนอแผนฟื้นฟู ในส่วนทางการเงินแก่เจ้าหนี้และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มั่นใจว่าแนวทางและหลักการทางการเงินถูกต้องและเชื่อถือได้ โดยมีกรอบงบประมาณการว่าจ้างไม่เกิน 60 ล้านบาท และมีระยะเวลาในการทำงานจนกว่าศาลจะให้ความเห็นชอบกับแผนฟื้นฟู โดยบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินดังกล่าว จะไม่มีหน้าที่ติดต่อหาแหล่งเงินทุนใหม่ให้กับบริษัทแต่อย่างใด ดังนั้น กรณีที่มีข่าวเรื่องการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน โดยมีค่าตอบแทนสูงถึง 630 ล้านบาท นั้น จึงไม่เป็นความจริง