ส่อง“2สตอรี่ใหม่”ปี 64 โรงพยาบาลลาดพร้าว !
การระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ส่งผลกระทบทุกธุรกิจไม่เว้นแม้แต่ “ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน”
โดยเฉพาะกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพารายได้จากคนไข้ต่างชาติสัดส่วนสูง ขณะที่กลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพารายได้จากคนไข้ชาวไทยกลุ่มประกันสังคมและข้าราชการ ยังพอไปได้หรือได้รับผลกระทบน้อยกลุ่มที่พึ่งพาคนไข้ต่างชาติ !
หนึ่งในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทยที่พึ่งพาคนไข้ในประเทศเป็นหลักคือ บมจ. โรงพยาบาลลาดพร้าว หรือ LPH ของ ดร.อังกูร ฉันทนาวานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เล่าให้ “กรุงเทพธุรกิจ”ยอมรับว่าในครึ่งแรกปี2563 โรงพยาบาลลาดพร้าวได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 สะท้อนผ่านผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2563 พลิกขาดทุนสุทธิอยู่ที่5.11 ล้านบาท ลดลง 128.87 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการเริ่มฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง สอดรับคนไข้ทั่วไปกลับมาใช้บริการตามปกติ อัตราการรักษาดีขึ้น โดยเฉพาะไตรมาส 3 และไตรมาส 4 เป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจที่เข้าฤดูฝน ทำให้มีผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น และผู้ป่วยที่ใช้สิทธิ์ประกันต่างๆ เพิ่มขึ้นดังนั้น เป้าหมายรายได้ปีนี้เติบโต 15%
ขณะที่ ปี 2564 เขาบอกว่า บริษัทมีแผนสร้างการเติบโตอีกครั้ง ด้วยการลงทุนใน 2 ประเภท โดยสตอรี่แรก การเข้าซื้อกิจการ (เทคโอเวอร์) โรงพยาบาลเอกชนแห่งใหม่ ย่านปริมณฑล จำนวน 200 เตียง มูลค่าไม่เกิน 800 ล้านบาท ซึ่งโรงพยาบาลดังกล่าวมีรายได้ปีละ 800 ล้านบาท และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ยภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัด (EBITDA) ปีละ 90 ล้านบาท โดยเจ้าของโรงพยาบาลมีการเสนอขายกิจการผ่านบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง
ทว่า ปัจจุบัน LPH ได้รับการติดต่อจากนักลงทุน “กองทุนส่วนบุคคล” หรือ Private Fundสนใจจะเข้ามาลงทุนร่วมกับ LPHดังนั้น จึงมี 2 แนวทางที่จะซื้อกิจการโรงพยาบาลดังกล่าว ทางเลือกแรกโรงพยาบาลลาดพร้าวร่วมทุนกับนักลงทุนกองทุนส่วนบุคคลซื้อหุ้นคนละ 50% ภายใต้เงื่อนไขจากกลุ่มนักลงทุนว่า LPH จะต้องนำโรงพยาบาลดังกล่าวเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ภายในระยะเวลา 3 ปี
ทางเลือกที่สอง คือ โรงพยาบาลลาดพร้าวซื้อกิจการทั้งหมด 100% โดยโรงพยาบาลดังกล่าวที่ LPH สนใจเนื่องจากทำธุรกิจคล้ายๆ ที่โรงพยาบาลลาดพร้าว โดยมีโควต้าประกันสังคมจำนวน1.5 แสนราย และมีกำไรต่อเนื่องมาตลอด ซึ่งปัจจุบันกำลังให้ผู้สอบบัญชีเข้าไปดูในรายละเอียด
“คาดไตรมาส 1 ปี 2564 น่าจะมีความชัดเจน ว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อซึ่งหากซื้อจะเสนอวาระดังกล่าวในที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้ทันภายในเดือนเม.ย.นี้ ปัจจุบันอยู่ต้องเจรจาในเรื่องของการประเมินทรัพย์สินและเจรจาในเรื่องของราคาซื้อกิจการ”
สตอรี่สอง การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ช่วงปลายปีที่ผ่านมามีคนมาเสนอขายรีสอร์ทที่สร้างไม่เสร็จมูลค่า 300 ล้านบาท ซึ่งในแผนธุรกิจบริษัทนำมาเข้ากับโครงการ “ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ” หรือ Wellness Center ตั้งอยู่เขาใหญ่ ปากช่อง นครราชสีมา เนื้อที่ 22 ไร่ มีตัวอาคารที่ก่อสร้างยังไม่เสร็จมีแต่โครงสร้าง ซึ่งปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการต่อรองในเรื่องของราคา หากได้ข้อสรุปคาดจะเปิดต้นปี 2565 ส่วนซื้อกิจการโรงพยาบาลหากซื้อได้ก็รับรู้รายได้เข้ามาทันที
ทั้งนี้ หากโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จ จะนำโมเดลธุรกิจแบบนี้ไปเปิดในทำเล4 มุมเมืองของประเทศไทย เหนือ , ตะวันออก , ใต้ เป็นต้น ซึ่งการระบาดของโควิด-19 ถือเป็นปีทองของผู้ซื้อซึ่งสถานการณ์ใกล้เคียงปี 2540 ที่ได้ซื้อที่ดินโรงเรียนนานาชาติ และได้อาคารของบริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย จำกัด (AMARC)
สำหรับมูลค่าลงทุน 2 โครงการ “มูลค่า 1,100 ล้านบาท”โดยแหล่งเงินทุนมีอยู่ 2 ทางคือ 1.กระแสเงินสด และเงินจากการขายที่ดินได้เงินมาประมาณ 100 กว่าล้านบาท และ2.บริษัทมีหุ้น LPH ที่บริษัทซื้อคืนราว 200 ล้านบาท ที่ราคาต้นทุน หากบริษัทต้องลงทุนก็อาจจะต้องขายหุ้นออกมา หากไม่พอจะใช้การกู้เงินจากสถาบันการเงิน ซึ่งปัจจุบันมี 4 แบงก์ให้วงเงินกู้แบบไม่มีเงื่อนไขประมาณ 1,000 ล้านบาท ในกรณีที่บริษัทซื้อหุ้นทั้งหมด 100% แต่หากเลือกแนวทางแรกกระแสเงินสดเพียงพอ
ดังนั้น ปี 2564 ตั้งเป้ารายได้เพิ่มขึ้น 15-20% รายได้จะมาจากคนไข้ทั่วไป (ชำระเงิน) 25-30% รายได้ประกันสังคมไม่เกิน 5% มาจากโควต้าที่เพิ่มขึ้นอีก 10,000 คน จาก 1.61 แสนคน เป็น 1.71 แสนคน โดยในเดือนม.ค. ผ่านมาครึ่งเดือนคนไข้ประกันสังคม 1.65 แสนคน