ไลอ้อน งัดบทเรียนต้มยำกุ้ง-ซัพไพรม์ ขับเคลื่อนธุรกิจ หวังพ้นวิกฤติรอบใหม่
กางคัมภีร์เคลื่อนอาณาจักรสินค้าอุปโภคบริโภค “ไลอ้อน” ใช้ประสบการณ์ทำงานท่ามกลางวิกฤติใหญ่ “ต้มยำกุ้ง-ซัพไพรม์” ประยุกต์ใช้ทำงานปี 64 ไม่ก่อหนี้ลงทุน เน้นพัฒนาสินค้านวัตกรรม ตอบโจทย์ผู้บริโภค เกื้อกูลสังคม ควงกันพ้นห้วงเวลายากลำบาก
นายบุญฤทธิ์ มหามนตรี ประธานกรรมการ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ในเครือสหพัฒน์ เปิดเผยว่า จากการการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19) ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2563 และต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ได้ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ทั้งสุขภาพของประชาชน และเศรษฐกิจเสียหายในวงกว้าง ตลอดจนกระเทือนอำนาจการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค และเป็นลูกโซ่ที่ทำให้องค์กรธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะด้านยอดขาย รายได้ที่ปรับตัวลดลง
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้บริษัท ไลอ้อน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตและทำตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค(FMCG)ของเมืองไทย และผ่านวิกฤติเศรษฐกิจ กำลังซื้อมาแล้วหลายเหตุการณ์ จึงนำบทเรียนและประสบการณ์ในอดีตมาปรับใช้เพื่อฝ่าความท้าทายและความยากลำบากในเวลานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทเรียนจากวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 และวิกฤติซัพไพรม์ 2552 มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการองค์กร ตลอดจนการทำตลาดต่างๆตอบสนองผู้บริโภค
“การระบาดของโรคโควิดที่ยาวนานจากปีก่อนจนถึงปัจจุบัน ทำให้บริษัทต้องนำประสบการณ์ทำงาน การบริการจัดการองค์กร ที่เคยเรียนรู้ในอดีตทั้งวิกฤติต้มยำกุ้ง และซัพไพรม์ ที่เรายึดมั่นอย่างมากคือการไม่เน้นใช้เงินกู้ สร้างหนี้เพื่อนำมาลงทุนต่อยยอดธุรกิจ แม้บริษัทจะมีเครดิตที่น่าเชื่อถือนำไปใช้ได้อย่างมากก็ตาม แต่การลงทุนในเวลานี้จะมุ่งใช้เงินสะสมของบริษัท มุ่งมั่นในการปรับตัวเพื่อพัฒนาตนเอง บุคลากรในองค์กรอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเน้นความซื่อสัตย์เป็นสำคัญด้วย”
ทั้งนี้ ยอมรับว่าการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดข้อจำกัดหลายด้าน แต่บริษัทต้องหาช่องว่างและโอกาสทางการตลาดให้เจอ และไม่หยุดยั้งในการพัฒนา การลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเวลานี้จะพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเพื่อสุขภาวะที่ดีของผู้บริโภค ตอบสนองกลุ่มเป้าหมายทุกช่วงอายุ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก วัยทำงาน และผู้สูงอายุ เช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนบุคคลคิเรอิคิเรอิ, แปรงสีฟัน ยาสีฟันฯ แบรนด์ กู๊ดเอจ เอาใจผู้สูงวัยรับประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุ แอสคอร์-เท็น เจาะกลุ่มรักาสุขภาพ เป็นต้น
นอกจากนี้ บริษัทให้ความสำคัญกับการร่วมมือพันธมิตรมากขึ้น ทั้งการตั้งศูนย์วิจัยที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)เพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เน้นสารสกัดจากท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยเร็วๆนี้จะเห็นสินค้าใหม่อย่างผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม ไม่เพียงช่วยต่อยอดธุรกิจบริษัทแต่ช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรในชุมชนด้วย
“การดำเนินธุรกิจในปีนี้ ไม่เพียงแค่บริการจัดการองค์กรให้อยู่รอด แต่บริษัทต้องดูแลสังคมส่วนรวมผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก โครงการศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรี ฯ เพื่อช่วยยกระดับความเป็นอยู่สุขภาวะของคนไทยให้ดีขึ้น ฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน”