‘เอ็มบีเค’เดินหน้าปั้นนิวลุคดึง‘ดองกิ’ลงแทนโตคิว

‘เอ็มบีเค’เดินหน้าปั้นนิวลุคดึง‘ดองกิ’ลงแทนโตคิว

เอ็มบีเค เดินหน้ายกเครื่องพื้นที่ครั้งใหญ่หลังผู้เช่ารายใหญ่ "โตคิว" ปิดบริการอย่างเป็นทางการ 1 ก.พ.เป็นต้นไป คว้าค้าปลีกสัญชาติญี่ปุ่น "ดองกิ" ปั้นแฟลกชิพสโตร์ใจกลางกรุง เปิด 24 ชั่วโมง

บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ อยู่ระหว่างปรับปรุงศูนย์การค้าครั้งใหญ่ในรอบ 36 ปีของการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะในส่วนของพื้นที่ผืนใหญ่ของ ห้างสรรพสินค้าสัญชาติญี่ปุ่น “โตคิว” รวม 12,000 ตร.ม. ซึ่งเปิดบริการวันสุดท้ายเมื่อ 31 ม.ค. และปิดบริการลงอย่างถาวรตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2564 ปิดฉากธุรกิจห้างสรรพสินค้าในประเทศไทย 

ทั้งนี้ บริเวณห้างสรรพสินค้าโตคิวเดิมนั้น จะมีพันธมิตรหลากหลายเข้ามาพัฒนาพื้นที่ต่อเนื่องหลังจากนี้ ประกอบด้วย  

ชั้น 1 ร่วมกับเครือสหพัฒน์ (ไอ.ซี.ซี-โอ.ซี.ซี.-ร้านซูรูฮะ) เปิดบริการโมเดลธุรกิจใหม่คาดจะได้เห็นในช่วงกลางปีนี้

ชั้น 2 ร้านค้าปลีกสัญชาติญี่ปุ่น “ดองกิ” หรือ  DON DON DONKI เตรียมเปิดให้บริการบนพื้นที่กว่า 3,000 ตร.ม.  ถือเป็นแฟลกชิฟสโตร์ใหญ่สุดในเมืองไทย พร้อมบริการ 24 ชั่วโมง

ชั้น 3 อยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตรรายใหญ่

ชั้น 4 จะเป็นโซนสินค้าไอที  วางแผนทยอยเปิดตัวราวไตรมาส 3

พร้อมกันนี้ พื้นที่ศูนย์การค้าเอ็มบีเค บริเวณชั้น 1 จะใช้ “อาหาร” เป็นแม่เหล็กในการดึงดูดลูกค้าตั้งแต่ฝั่งพญาไทไปจนถึงโรงแรมปทุมวัน

ที่ผ่านมา เอ็มบีเค โฉมใหม่ได้ทยอยเปิดบริการแล้วเช่น "Learning Hub" หรือ อาณาจักรแห่งการเรียนรู้ใจกลางเมือง บริเวณชั้น 4-5-6  เพื่อขยายฐานลูกค้ากลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างปริมาณลูกค้าหมุนเวียนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะลูกค้าชาวไทยจากก่อนโควิดฐานลูกค้าหลักเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่วูบหายไปจากวิกฤติโควิด-19 

ก่อนหน้านี้  นายสมพล ตรีภพนารถ กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ว่า ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากปริมาณนักท่องเที่ยวที่วูบหายจากตลาด!  ซึ่งปริมาณลูกค้าหมุนเวียนของเอ็มบีเคฯ ก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด เฉลี่ย 80,000-100,000 แสนคนต่อวัน เป็นสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 60-70%  มีลูกค้าใช้บริการเฉลี่ยเพียง 30,000-40,000 คนต่อวันเท่านั้นเกือบทั้งหมดเป็นชาวไทย (ก่อนโควิดรอบสอง) 

เอ็มบีเคฯ จึงใช้ห้วงวิกฤติเป็นโอกาส! วางแผนยกเครื่องธุรกิจครั้งใหญ่ด้วยการจัดโซนนิ่ง ปรับเปลี่ยนร้านค้า เพิ่มร้านค้าแม่เหล็กใหม่ๆ โดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหารซึ่งพบว่ามีการตอบรับจากลูกค้าที่ดี ทั้งสอดรับสถานการณ์ที่ผู้คนระมัดระวังการใช้จ่ายทำให้กลุ่มสินค้าแฟชั่น หรือสินค้าที่ไม่จำเป็น ชะลอตัว

“โควิดหยุดทุกอย่าง เราคงรอให้การท่องเที่ยวกลับมาไม่ไหว ต้องมาเริ่มต้นใหม่กับคนไทย ซึ่งเป็นจังหวะในการปรับตัวครั้งใหญ่ในรอบ 36 ปีที่เรายังไม่เคยจัดโซนนิ่งอย่างจริงจัง จึงเป็นโอกาสสำคัญในการปรับผังร้านค้า ขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ เพื่อกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ”

ปัจจุบัน เอ็มบีเคฯ มีพื้นที่รวม 140,000 ตร.ม. เป็นพื้นที่ขาย 84,000 ตร.ม. มีร้านค้ากว่า 1,700 ร้านค้า ซึ่งผลกระทบจากโควิดทำให้ร้านค้าราว 10% ต้องปิดให้บริการ ขณะที่เอ็มบีเคฯ ยังให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้าโดยลดค่าเช่าซึ่งพิจารณา "เดือนต่อเดือน" ตามสถานการณ์

สำหรับ การปรับปรุงพื้นที่และจัดโซนนิ่งร้านค้าใหม่ ทยอยดำเนินการมาตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายปี 2563 ต่อเนื่องปี 2564 ตั้งแต่ชั้นจี (1) จนถึงชั้น 6 ภายใต้งบประมาณหลักพันล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2565 พร้อมกับสถานการณ์ตลาดและวิกฤติโควิดน่าจะคลี่คลายอย่างชัดเจน

โดยตั้งเป้าหมายปริมาณลูกค้าจะไต่ระดับกลับเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแตะ 80,000 คนต่อวันปลายปี 2564 และเชื่อว่าจากการปรับปรุงครั้งใหญ่นี้จะดึงดูดลูกค้าเข้าใช้บริการเพิ่มสูงถึง 120,000 คนต่อวันได้ในอนาคตเมื่อเหตุการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ขณะที่สัดส่วนลูกค้าจะเปลี่ยนจากนักท่องเที่ยว 60% ลดเหลือ 50% เท่ากันระหว่างลูกค้าชาวไทยและต่างชาติ

ระดมร้านอาหารแม่เหล็กดึงลูกค้า

นายสมพล กล่าวด้วยว่า จากการสำรวจพฤติกรรมของลูกค้าคนไทยพบว่าเข้ามาใช้จ่ายในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเป็นสัดส่วน 89% ของผู้ที่เข้ามาใช้บริการ สินค้าแฟชั่น (เสื้อผ้า,รองเท้า,กระเป๋า,เครื่องประดับ) 38% สินค้าอุปโภคบริโภคในท็อปส์ 23% ชมภาพยนตร์/เล่นเกมส์ 21% โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์19% เป็นโจทย์ตั้งในการเร่งเพิ่มกลุ่มร้านอาหารในพื้นที่ชั้นจี และชั้น 2 บริเวณด้านหน้าติดสกายวอล์ค พร้อมขยายเวลาเปิดบริการเริ่มตั้งแต่ 07.00 น. โดยบางร้านมีแผนจะปิดบริการเวลา 05.00 น.เป็นทางเลือกให้ผู้บริโภครุ่นใหม่

โดยร้านใหม่  อาทิ ทูฟาสต์ ทูสลีพ (too fast too sleep)  ศูนย์อาหารอิ่มจัง (Im Jung Food Court) ร้านป้อน (PONN) ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือพระนคร ร้านทิมฮอร์ตัน

“ชั้น 2 จากเดิมเป็นร้านแฟชั่นส่วนใหญ่จะถูกปรับเปลี่ยนย้ายไปในโซนใหม่ เปิดพื้นที่ให้ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นเทรนด์นิยมมาทดแทน”

สำหรับชั้น 3 เดิมเป็นร้านแฟชั่น ทอง จิวเวลลี ของที่ระลึก หรือสินค้าชาวต่างชาติ จะถูกพัฒนาและจัดระเบียบให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น และจะมีความร่วมมือกับภาครัฐในการพัฒนาสินค้ายุทธศาสตร์ของไทย เช่น ทุเรียน ในรูปแบบของฮับใหญ่พร้อมกระจายส่งตรงผู้บริโภคถึงประตูบ้าน โดยจะเปิดตัวโครงการในเร็วๆ นี้

ชั้น 4 พื้นที่จำหน่ายโทรศัพท์มือถือ สินค้าไอทีต่างๆ ยังคงเดิมและมีพันธมิตรใหม่เข้ามาเสริมทัพ เช่น เสียวหมี่ ชั้่น 5จากร้านเอาท์เล็ต ปรับเป็นโซนเอ็ดดูเคชั่น ศูนย์รวมสถาบันกวดวิชาใจกลางกรุง และชั้น 6 เดิมจำหน่ายของที่ระลึก ปรับเป็นโคเวิร์กกิ้งสเปซ

ตั้งแต่ ชั้น 4, 5 และ 6 จะเป็น Learning Hub   อาทิ ออนดีมานด์ (On demand), Sup K และ ดาวองซ์