ทั่วโลก ฉีดวัคซีนแล้วกว่า 100 ล้านโดส
ปัจจุบันทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 100 ล้านโดส ในประชากรมากกว่า 46 ล้านคน โดย สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร พบว่า ผู้ป่วยใหม่และอัตราการเสียชีวิตแนวโน้มลดลง ขณะที่ อิสราเอล เร่งฉีดวัคซีนได้ 1 ใน 3 จากปัจจัยทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม
วานนี้ (2 กุมภาพันธ์ 2564) “ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ของโลกหลังเริ่มมีการฉีดวัคซีนโดยระบุว่า ข้อมูลล่าสุดวันที่ 30 ม.ค.64 หลังจากประเทศต่างๆ เริ่มฉีดวัคซีน ทั้งในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และยุโรปอีกหลายประเทศรวมถึงเอเชีย มากกว่า 100 ล้านโดส อาทิ สหรัฐอเมริกา 27.88 ล้านโดส (29 ม.ค.64) จีน 22.77 ล้านโดส (27 ม.ค.64) สหราชอาณาจักร 8.86 ล้านโดส (29 ม.ค.64) อิสราเอล 4.66 ล้านโดส (29 ม.ค.64) อินเดีย 3.5 ล้านโดส (29 ม.ค.64) ฯลฯ
โดยประชากรที่ฉีดวัคซีนทั่วโลกมากกว่า 46 ล้านคน อาทิ สหรัฐอเมริกา 22.86 ล้านคน 6.97% (จากประชากร 328 ล้านคน) สหราชอาณาจักร ฉีดไปแล้ว 3.38 ล้านคน หรือ 12.57% (จากประชากร 66.65 ล้านคน) อิสราเอล ฉีดไป 2.97 ล้านคน 33.44% หรือ 1 ใน 3 (จากประชากร 8.88 ล้านคน)
ข้อมูลระหว่างวันที่ 25 -31 ม.ค. 64 พบว่า สหราชอาณาจักร ซึ่งเริ่มฉีด 8 ธ.ค. 64 จากเดิมที่มีผู้ป่วยวันละ 3-6 หมื่นรายต่อวัน ตอนนี้ต่ำกว่า 2 หมื่นรายต่อวัน ลดลงอย่างชัดเจน อัตราการเสียชีวิตราว 1,200 รายต่อวัน และมีแนวโน้มเริ่มลดลง
สหรัฐอเมริกา วันแรกที่มีการฉีดวัคซีน คือ 14 ธ.ค. 63 โดยใช้เทคโนโลยี mRNA หลังจากนั้น พบว่า ปลายเดือนมกราคม เมื่อวัคซีนเริ่มออกฤทธิ์ อัตราการติดเชื้อใหม่เริ่มลดลงชัดเจน อยู่ที่ไม่เกิน 2 แสนราย จากเดิม 2-3 แสนรายต่อวัน ขณะที่ อัตราการเสียชีวิตมีแนวโน้มเริ่มลดลง โดยสหรัฐ ฉีด 2 เข็มเรียบร้อยแล้ว 6%
ขณะที่ ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี ซึ่งเริ่มฉีดไปเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 64 อัตราผู้ป่วยใหม่และผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มลดลงเช่นกัน ในส่วนของ อิสราเอล ฉีด 1 ใน 3 ของประชากร ต้องรอดูการรายงานผลต่อไป
ข้อมูลจาก KFF COVID-19 ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในสหรัฐฯ เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนพบว่ามีความสนใจต้องการฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น โดยผลสำรวจเมื่อเดือน ธ.ค. 63 ระบุว่า 15% ไม่ฉีดแน่นอน 9% หากจำเป็นก็ฉีด 39% หากจะฉีดต้องรอดูความปลอดภัยก่อน และ 34% หากวัคซีนมาจะฉีดทันที
ขณะที่ ในเดือน ม.ค. 64 พบว่าตัวเลขมีการเปลี่ยนแปลง ในสหรัฐ มีการตอบรับวัคซีนเพิ่มมากขึ้น คือ 13% ไม่ฉีดแน่นอน 7% หากจำเป็นก็ฉีด 31% หากจะฉีดต้องรอดูความปลอดภัยก่อน และ 41% หากวัคซีนมาจะฉีดทันที
จากการรวบรวม ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน กว่า 100 ล้านโดส ส่วนใหญ่ อาการไม่รุนแรง มักหายได้เอง 1 – 2 วัน ปวดบวมบริเวณที่ฉีด ไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หนาวสั่น ปวดข้อ ซึ่งพบมากในการฉีดวัคซีนทั่วไป ส่วนการเสียชีวิตน้อย บางกรณีไม่สัมพันธ์กับวัคซีนโดยตรง ตอนนี้ที่ฉีดมากที่สุดคือ mRNA วัคซีน ในสหรัฐ และ สหราชอาณาจักร ซึ่งต้องฉีด 2 เข็ม ข้อมูลการฉีดวัคซีนทั้งหลายค่อนข้างปลอดภัย ผลข้างเคียงยังไม่รุนแรง สำหรับ กรณีนอร์เวย์ ที่มีผู้เสียชีวิต 33 ราย การศึกษาว่าไม่สัมพันธ์กับวัคซีนโดยตรง แต่บ่งชี้ว่าการฉีดในผู้สูงอายุเป็นข้อควรระวัง
สำหรับ แนวทางการบริหารจัดการการฉีดวัคซีนของประเทศต่างๆ พบว่า ส่วนใหญ่มักใช้วัคซีนมากกว่า 1 ประเภท/แบรนด์ เช่น อังกฤษ ใช้ทั้งของไฟเซอร์-ไบออนเทค , โมเดอร์นา , แอสตร้าเซเนก้า โดยไม่มีการเลือกใช้ ขณะเดียวกัน จุดประสงค์หลักการฉีดวัคซีนไม่ได้เพื่อไม่ให้มีการติดเชื้อ แต่เพื่อลดอัตราการระบาดของเชื้อ ลดความรุนแรงและการเสียชีวิต
ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ สามารถเกิดได้ตามธรรมชาติจากการติดเชื้อ แต่ไม่มีข้อบ่งชี้ใดๆ ว่าในการติดเชื้อแล้ว ผู้ติดเชื้อจะไม่มีอาการ มีอาการน้อย มีอาการมาก หรือเสียชีวิต สิ่งที่รู้คือปัจจัยเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต ทั้งนี้ การประเมินผลภายหลังจากฉีดวัคซีนว่าจะป้องกันโรคได้หรือไม่ ต้องใช้เวลา (Post Marketing Surveillance) ดังนั้น การใส่หน้ากาก รักษาระยะห่าง หมั่นทำความสะอาดมือ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมนุมหนาแน่น ยังจำเป็น
“ความจริงที่ควรรู้เกี่ยวกับการจัดหาวัคซีน คือ การเลือกวัคซีนไม่จำเป็นต้องเลือกวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงใกล้ 100% โดยทั่วไปไม่น้อยกว่า 50% เพราะวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดประจำปี ทั่วไปมีประสิทธิภาพประมาณ 50% ดังนั้น ผู้ที่ได้รับการฉีด ยังอาจเป็นไข้หวัดใหญ่ แต่จะไม่รุนแรง และลดอัตราการเสียชีวิต โดยปัจจัยสำคัญในการเลือกวัคซีน คือ ความปลอดภัย รวมถึง การบริหารจัดการให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนที่ยังมีคุณภาพ เป็นอีกหนึ่งข้อพิจารณาที่สำคัญในการเลือก” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ย้ำว่า ถึงแม้วัคซีนจะยังไม่เข้ามาเรามีสิ่งที่ดีที่สุด คือ เว้นระยะห่าง ใส่หน้ากาก ล้างมือ เป็นสิ่งที่ป้องกันเราตลอดค่อนปีที่ผ่านมา ถึงแม้วัคซีนจะมาเร็วมาช้า ขอให้ดำเนินการตามที่เคยทำไปก่อน ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนโควิด-19 ไม่ได้ฉีดเพื่อป้องกันตัวเองอย่างเดียว เพราะหากคนในประเทศฉีดไม่มากนัก โอกาสเกิดภูมิคุ้มกันหมู่จะไม่เกิดขึ้น ยิ่งฉีดเยอะ ก็ยิ่งมีโอกาสทำให้ไวรัสสลายไปมากขึ้น
“หากถามว่าจะต้องฉีดมากเท่าไหร่ถึงจะมีภูมิคุ้มกันหมู่ ขณะนี้ยังไม่แน่ชัด เพราะ โรคหัด ต้องฉีด 95% โปลิโอ 80% ขึ้นไป ส่วนโควิด-19 ยังไม่มีตัวเลขแน่ชัด เป็นเพียงการคาดการณ์ไว้ 60-70% ที่จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ต้องติดตาม ขณะนี้ วัคซีนถือว่ามีความปลอดภัย แต่ถึงแม้จะมีวัคซีน ก็ยังต้อง ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงที่แออัด อยู่สักพักจนกว่าวัคซีนจะเพียงพอ”
“เนื่องจากโควิด-19 เป็นเรื่องของทั่วโลก หลายประเทศเริ่มกลับมามองเรื่องการฟื้นเศรษฐกิจ ก็จะพยายามหาวัคซีนเข้ามา อิสราเอล เร่งฉีดทุกวัน เพราะปัจจัยเรื่องสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม ขณะที่ ประเทศไทยตั้งเป้า 60-70% ซึ่งตอนนี้เร่งหาวัคซีนอยู่ อย่างไรก็ตาม การหาวัคซีนไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น หากยังไม่มีวัคซีนก็ให้ทำตามมาตรการต่างๆ ที่เคยทำมา” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว