บ.ข้ามชาติปรับกลยุทธหลังเกิดรัฐประหารเมียนมา
บ.ข้ามชาติปรับกลยุทธหลังเกิดรัฐประหารเมียนมา แกร๊บ-ซูซูกิ ระงับให้บริการ-ระงับการผลิตชั่วคราวส่งผลกระทบแรงงาน400คน
การรัฐประหารในเมียนมา โดยฝีมือกองทัพสร้างความปั่นป่วนแก่บริษัทข้ามชาติทุกแห่งที่เข้าไปดำเนินธุรกิจในเมียนมา โดยเฉพาะบริษัทที่สนับสนุนประชาธิปไตย ตั้งแต่แกร๊บไปจนถึงบริษัทผลิตเบียร์คีริน โดยบริษัทเหล่านี้มองว่าการเมืองในเมียนมาไร้เสถียภาพและจะมีเหตุวุ่นวายต่างๆตามมา
ประชาคมโลกเริ่มวิตกกังวลเกี่ยวกับการใช้อำนาจของกองทัพเมียนมา ส่วนบริษัทต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในเมียนมา หวังว่าการยุติบทบาทของกองทัพจะช่วยเปิดโอกาสทางธุรกิจ แต่การรัฐประหารที่เกิดขึ้นอาจจะทำให้บริษัทข้ามชาติทั้งหมดปร้บกลยุทธการดำเนินธุรกิจในดินแดนแห่งนี้เสียใหม่
ความหวังที่จะได้เห็นเมียนมามีความเป็นประชาธิปไตยเริ่มมีมากขึ้นเมื่อพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี)ที่นำโดยนางออง ซาน ซู จี ชนะการเลือกตั้งทั่วประเทศเมื่อปี 2558 และตั้งแต่นั้นมา บรรดานักลงทุนต่างชาติ ซึ่งรวมถึงบริษัทญี่ปุ่นต่างลงทุนในเมียนมาเพิ่มขึ้น
ข้อมูลจากหน่วยงานรัฐบาลเมียนมา ระบุว่า การลงทุนของญี่ปุ่นที่ได้รับการอนุมัติแล้วนับจนถึงเดือนก.ย.ปี 2563 อยู่ที่ประมาณ 768 ล้านดอลลาร์ อยู่อันดับ3รองจากสิงคโปร์ และฮ่องกง โดยในช่วงที่มีการประกาศรัฐประหารโดยกองทัพนั้น มีการกำจัดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ระบบการสื่อสารและระบบโทรคมนาคมระหว่างต่างชาติและประเทศของพวกเขาก็แทบเป็นไปไม่ได้ ทำให้บริษัทข้ามชาติเร่งรวบรวมข้อมูลพร้อมทั้งยืนยันความปลอดภัยแก่พนักงานในท้องถิ่น ตลอดจนแรงงานต่างชาติ
ด้านสมาคมธนาคารพาณิชย์ของเมียนมา เปิดเผยว่าธนาคารท้องถิ่นในสังกัดของสมาคมได้ระงับการให้บริการทางการเงินชั่วคราวหลายชั่วโมง เนื่องจากสัญญาณอินเทอร์เน็ตขัดข้อง
ก่อนที่กองทัพเมียนมาจะออกมาบอกว่า ขณะนี้ บริการอินเทอร์เน็ตและธนาคารกลับมาใช้งานได้ตามปกติแล้ว
กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจรัฐบาลเมื่อวันจันทร์ (1 ก.พ.) พร้อมกับควบคุมตัวนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและผู้นำคนอื่นๆ และได้ประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี โดยกองทัพได้มอบอำนาจการปกครองให้กับนายพลมิน อ่อง หล่าย ขณะที่สัญญาว่าจะจัดการจัดการเลือกตั้งทั่วไปหลังจากนั้น
กองทัพเมียนมาอ้างเหตุผลในการก่อรัฐประหารในครั้งนี้ว่า เกิดจากการทุจริตในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้พรรคเอ็นแอลดีของนางออง ซาน ซูจี คว้าชัยชนะอย่างถล่มทลาย
แกร๊บ บริษัทให้บริการเรียกรถรับจ้าง บอกว่า บริษัทตัดสินใจยุติการให้บริการชั่วคราว เพราะเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไม่เสถียร ส่วนบริษัทซูซูกิ มอเตอร์ คอร์ป ประกาศระงับการผลิตรถยนต์ที่โรงงานสองแห่งในเมียนมา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าพนักงานของบริษัทจะได้รับความปลอดภัยหลังจากกองทัพเมียนมาได้ก่อรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพลเรือน
ซูซูกิ ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า บริษัทได้ระงับการผลิตรถยนต์ที่โรงงานดังกล่าวในเมืองย่างกุ้งซึ่งโรงงานสองแห่งนั้นมีพนักงานรวมทั้งสิ้น 400 คน
ทั้งนี้ ซูซูกิยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเริ่มกลับมาดำเนินการผลิตรถยนต์ในเมียนมาอีกครั้งเมื่อใด
ส่วนบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น ประกาศจับตาสถานการณ์การเมืองในเมียนมา เพื่อประเมินว่า การก่อรัฐประหารจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจของโตโยต้าในเมียนมาหรือไม่ ก่อนที่ทางบริษัทจะทำการตัดสินใจเกี่ยวกับแผนการที่วางไว้ว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตรถยนต์ที่เมียนมาในเดือนนี้
ขณะที่องค์กรการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ณ เดือนพ.ค. 2563 มีบริษัทญี่ปุ่นกว่า 400 แห่งดำเนินธุรกิจในเมียนมา
ด้านมิตซูบิชิที่เพิ่งประกาศทำสัญญาผลิตตู้รถไฟให้แก่เมียนมา เรลเวย์ส ซึ่งบริหารเส้นทางรถไฟทั่วประเทศเมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว ยังคว้าสัมปทานก่อสร้างสนามบินมัณฑะเลย์และโครงการพัฒนาในเขตเมืองชื่อ โยมา เซนทรัล
ส่วนมิตซุย แอนด์ โค คู่แข่งของมิตซูบิชิ ระบุว่า บริษัทได้แนะนำให้พนักงานในเมียนมาทำงานจากที่บ้าน และบริษัทจับตามองสถานการณ์การเมืองในเมียนมาอย่างใกล้ชิดก่อนที่จะตัดสินใจปรับกลยุทธเสียใหม่
คิริน ผู้ผลิตเบียร์ชั้นนำสัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเจ้าของเมียนมา บริวเวอรี แอนด์ มัณฑะเลย์ บริวเวอรี บอกว่า เพิ่งทราบเกี่ยวกับพัฒนาการทางการเมืองในเมียนมาเมื่อไม่กี่วันมานี้ และบริษัทกำลังจับตามองสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิด โดยปัจจุบัน ยังคงผลิตและจำหน่ายเบียร์แต่ก็มีแผนยุติการผลิตหากมีคำสั่งจากทางการเมียนมา
แต่อินโดรามา เวนเจอร์ส ผู้ผลิต PET รายใหญ่สุดของโลก โดยPET ย่อมาจาก Polyethylene Terephthalate เป็นสารประกอบที่เกิดจากการสังเคราะห์โดยปฏิกิริยาเคมีระหว่างเอทิลีนไกคอล ซึ่งผลิตจากการกลั่นน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ และกรดเทเรฟทาลิกบริสุทธิ์ กล่าวว่า การรัฐประหารในเมียนมาไม่ส่งผลกระทบการดำเนินธุรกิจในดินแดนนี้ของบริษัทแต่อย่างใด
ในส่วนของผู้บริหารธุรกิจของเมียนมาเองก็แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไม่แพ้นักลงทุนต่างชาติ อย่างกรณี อาล็ก คูมาร์ ซีอีโอบริษัทโอเวย์ บริษัทท่องเที่ยวทางออนไลน์ของเมียนมาบอกว่า"รัฐประหารทำให้เกิดช่วงเวลาที่คาดไม่ถึง ตอนแรกก็เป็นการระบาดของโรคโควิด-19 ต่อมาก็การรัฐประหารของกองทัพ ทำให้เกิดความไม่แน่นอนอย่างมากทั้งในมุมมองของนักธุรกิจและประชาชนในประเทศ