ล้มประมูลสายสีส้มป่วน รฟม.เร่งเปิดชิงรอบใหม่ มี.ค.นี้
รฟม.ล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม 1.4 แสนล้าน อ้างติดกระบวนการศาล ห่วงโครงการล่าช้า ส่งผลกรอบเวลาประมูล ลดความเสี่ยงทางคดี เร่งทำเอกสารใหม่ ยึดเกณฑ์ข้อเสนอราคาพ่วงเทคนิค มั่นใจเดินหน้าจบใน 8 เดือน “บีทีเอส” รอฟังเหตุผลยกเลิกประมูล
การประมูลรถไฟสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร และการติดตั้งระบบรถไฟฟ้าและการเดินรถตลอดเส้นทางสายสีส้ม (มีนบุรี-บางขุนนนท์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร วงเงิน 142,789 ล้านบาท ต้องยุติลงเมื่อคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การ ร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน เห็นชอบให้ล้มการประมูลวานนี้ (3 ก.พ.)
ก่อนหน้ามีมีผู้ยื่นซอง 2 ราย คือ 1.กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ 2.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม จากมีผู้ซื้อซองทั้งหมด 10 ราย ซึ่งปรับหลักเกณฑ์การประมูลจากเดิมตัดสินที่ซองราคา 100% เป็นตัดสินที่ซองราคา 70% และซองเทคนิค 30% จนกระทั่งบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสยื่นศาลปกครอง และศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ใช้หลักเกณฑ์เดิม
นายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะประธานกรรมการคัดเลือกฯ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ เห็นชอบยกเลิกประมูลโครงการนี้หลังจากเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอเมื่อปลายปี 2563 เพราะโครงการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณาในศาล และมีเวลาพิจารณานานเกินกว่าที่ รฟม.ประเมินไว้ ซึ่งหากรอการพิจารณาต่อไปอาจกระทบการเปิดบริการรถไฟฟ้สายสีส้ม
“คณะกรรมการฯ พิจารณาเพียงว่าการล้มประมูลไปก่อนจะดีกว่า เพราะเริ่มประกวดราคาใหม่จะใช้เวลาไม่มาก เมื่อเทียบกับการรอพิจารณาตามกระบวนการศาล และ รฟม.ไม่อยากให้ภาพรวมโครงการต้องสะดุด”
ทั้งนี้ การยกเลิกประกวดราคาดำเนินการได้ เพราะเอกสารยื่นข้อเสนอโครงการ (RFP) ได้กำหนดข้อสงวนสิทธิ์ไว้ แต่การยกเลิกจะกระทบเอกชนและเป็นเหตุให้ฟ้องร้องหรือไม่นั้น คณะกรรมการฯ ไม่สามารถตอบได้ เนื่องจากการพิจารณาครั้งนี้เป็นเพียงการแก้ปัญหาไม่ให้กระทบภาพรวมโครงการ อีกทั้งเพื่อเร่งรัดแก้ปัญหาเพราะการยื่นข้อเสนอของเอกชนมีระยะเวลายืนราคา โดยหลังจากนี้จะรายงานให้ รฟม.ทราบ พร้อมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การประกวดราคาใหม่ แต่เบื้องต้นตอบไม่ได้ว่าจะใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกแบบใด
แหล่งข่าวจาก รฟม.เผยว่า จะเร่งออกประกาศยกเลิกการประมูลทันทีเพื่อเริ่มประมูลใหม่ โดยจากการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นกำหนดใช้หลักเกณฑ์พิจารณาข้อเสนอเอกชนจากคะแนนเทคนิค 30 คะแนน และราคา 70 คะแนน ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ใหม่ที่ รฟม.ประกาศใช้สำหรับโครงการนี้ และเป็นหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ เห็นชอบก่อนหน้านี้
ส่วนการพิจารณายกเลิกประมูลโครงการมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดี ทำให้ รฟม.เร่งหาเอกชนร่วมลงทุนใน 6-8 เดือน ลดค่าใช้จ่ายที่จะเกิดจากการดูแลบำรุงรักษาโครงสร้างโยธาส่วนตะวันออกที่แล้วเสร็จ และลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ โดยอาจเจรจาให้ผู้ชนะการคัดเลือกเร่งดำเนินการงานได้ รวมทั้งจะสร้างความเชื่อมั่นให้เอกชนร่วมลงทุนกับโครงการรัฐ เพราะเร่งรัดโครงการให้เป็นไปตามแผนกำหนด
รวมทั้งการยกเลิกประมูลโครงการลดความเสี่ยงทางคดีที่จะเกิดขึ้น โดยถอนอุทธรณ์คำสั่งทุเลาการบังคับตามเกณฑ์การประเมินใหม่ในชั้นศาลปกครองสูงสุด และขอยุติคดีหรือจำหน่ายคดีหลักในชั้นศาลปกครองกลางได้ ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อการคัดเลือกใหม่ อีกทั้งเกิดความชัดเจนในการดำเนินงานของคณะกรรมการคัดเลือกฯ เพราะได้รายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบก่อนดำเนินการ และลดความเสี่ยงในการถูกร้องเรียนหรือคัดค้านการคัดเลือก
ขณะที่ข้อเสีย คือ การยกเลิกการคัดเลือกทำให้ รฟม.ต้องทบทวนหลักเกณฑ์การคัดเลือกและเปิดขายเอกสารประกวดราคาอีกครั้ง โดยจากการพิจารณาแนวทางเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียแล้ว เห็นว่าแนวทางยกเลิกการประมูลเหมาะสมที่สุด เพื่อคัดเลือกเอกชนได้ตามกำหนด และผลักดันเปิดให้บริการรถไฟฟ้า ไม่กระทบค่าบำรุงรักษาโครงสร้างส่วนตะวันออก และกระทบการใช้งานของประชาชน
“เดิมคณะกรรมการคัดเลือกฯ หารือกันว่าจะใช้เกณฑ์ ด้านเทคนิค 30 คะแนน และราคา 70 คะแนน แต่การประชุมรอบนี้ยังไม่สรุปผล เพราะต้องการให้ รฟม.ศึกษารายละเอียด และเรื่องเร่งด่วนคือการแจ้งผลการยกเลิกประกวดราคาให้เอกชนทราบ”
นอกจากนี้ แผนงานกรณียกเลิกประมูลและคัดเลือกเอกชนใหม่ จะประกาศยกเลิกประมูลวันที่ 3 ก.พ. และทำเอกสาร RFP ใหม่ เสร็จในเดือน ก.พ.นี้ เพื่อเสนอกระทรวงคมนาคมและ ครม.รับทราบการใช้เกณฑ์ประเมินใหม่ในต้นเดือน มี.ค.นี้ ก่อนเสนอคณะกรรมการคัดเลือกฯ เห็นชอบ และออกประกาศเชิญชวนกลางเดือน มี.ค.นี้
ส่วนกระบวนการหลังจากนั้น รฟม.จะดำเนินขั้นตอนขายเอกสาร RFP และเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ ระหว่างเดือน มี.ค. - พ.ค.2564 ก่อนจะเริ่มขั้นตอนประเมินและเจรจากับเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอในช่วงเดือน พ.ค.- ก.ค.2564 และเสร็จสิ้นกระบวนการ ได้ตัวเอกชนผู้ชนะการประมูล เสนอให้ ครม.เห็นชอบ ส.ค.2564
รายงานข่าวระบุว่า การประชุมครั้งนี้ นางสาวกนกรัตน์ ขุนทอง ผู้อำนวยการกองจัดทำงบประมาณด้านเศรษฐกิจ 4 ผู้แทนสำนักงบประมาณ ไม่ได้เข้าร่วมประชุมหลังจากมีข้อเสนอให้ล้มการประมูลครั้งนี้ โดยที่ผ่านมาสำนักงบประมาณเคยให้ความเห็นเกี่ยวกับการปรับหลักเกณฑ์การประมูลว่า หากปรับให้ต่างจากที่ ครม.อนุมัติไว้ซึ่งอาจเพิ่มภาระงบประมาณ คณะกรรมการคัดเลือกฯ ต้องเสนอ ครม.พิจารณาก่อนปรับหลักเกณฑ์
ทั้งนี้ การประชุมครั้งนี้ได้มีการส่งวาระการประชุมเพื่อเสนอทั้งกรณีให้ล้มการประมูลและการเดินหน้าประมูลต่อให้คณะกรรมการคัดเลือกฯทุกคนรับทราบ
นอกจากนี้ การที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ ยกเลิกการประมูลอาจจะทำให้เอกชนฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม.ได้ทั้ง 3 กรณี คือ
1.การฟ้องแพ่ง เพื่อเรียกค่าเสียหายจากการยกเลิกการประมูล
2.การฟ้องอาญา เพื่อเอาผิดคณะกรรมการคัดเลือก และ รฟม. ทางอาญา
3.การฟ้องศาลปกครอง เพื่อเพิกถอนคำสั่งล้มประมูลครั้งนี้ ซึ่งจะมีการดูว่าเป็นการยกเลิกประมูลโดยสุจริตหรือไม่
นอกจากนี้ เอกสาร RFP สงวนสิทธิ์การยกเลิกประมูล โดยไม่พิจารณาคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอรายใดเลยหรือจะไม่คัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอที่เสนอผลประโยชน์สิทธิที่สูงสุดก็ได้ โดยที่ยื่นข้อเสนอไม่สามารถเรียกร้องค่าใช้จ่ายหรือค่าเสียหายจาก รฟม.ได้
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส กล่าวว่า บีทีเอสในฐานะเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มในนามกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ขณะนี้ยังไม่มีความเห็นกรณี รฟม.ยกเลิกประมูล เพราะยังไม่ได้รับคำชี้แจงจาก รฟม.ดังนั้นขอพิจารณาเหตุผลการยกเลิกก่อน