รฟม.ยันประมูลรถไฟฟ้าสีส้มรอบใหม่ เป็นแนวทางเหมาะสม คาดจบภายใน 6-8 เดือน
รฟม.แจงเหตุยกเลิกประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยันเปิดประมูลใหม่เป็นแนวทางที่เหมาะสม ใช้เวลาราว 6-8 เดือน ล่าสุดออกประกาศทางการ แจ้งยกเลิกประกวดราคาแล้ว
รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (คณะกรรมการฯ) ในการพิจารณาแนวทางดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ดังนี้
1.รฟม. ได้ประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และได้ขายซองเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) ระหว่างวันที่ 10 – 24 กรกฎาคม 2563 โดยมีผู้สนใจซื้อซองเอกสาร RFP รวม 10 ราย ต่อมาเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2563 รฟม. ได้นำส่งเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติม (RFP Addendum) ให้เอกชนผู้ซื้อซองเอกสาร RFP ทุกราย แจ้งปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอจากรูปแบบเดิมที่พิจารณาซองเทคนิคและซองการลงทุนและผลตอบแทนแยกจากกัน (เกณฑ์การประเมินเดิม) เป็นวิธีการประเมินโดยพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคควบคู่กับด้านราคา (เกณฑ์การประเมินใหม่) พร้อมทั้งขยายระยะเวลาในการยื่นข้อเสนอออกไป 45 วัน เป็นวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563
2.เอกชนผู้ซื้อซองเอกสาร RFP รายหนึ่ง ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563 และได้ขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับใช้เกณฑ์การประเมินใหม่ ต่อมาศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2563 โดยสรุปให้ทุเลาการบังคับตามเกณฑ์การประเมินใหม่ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ รฟม. และคณะกรรมการฯ ได้ร่วมกันยื่นคำอุทธรณ์เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 โดยสรุปขอให้ศาลมีคำพิพากษากลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น พร้อมยกคำขอให้ศาลกำหนดมาตรการชั่วคราวก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องคดี และคำขอให้ศาลมีคำสั่งระงับคำสั่งทุเลาการบังคับของศาลปกครองชั้นต้น
3.ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งเป็นกำหนดวันรับซองเอกสารข้อเสนอ มีเอกชนยื่นซองเอกสารข้อเสนอฯ รวม 2 ราย ทั้งนี้ก่อนถึงกำหนดเปิดซองเอกสารข้อเสนอในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 รฟม. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการฯ ได้มีหนังสือถึงเอกชนผู้ยื่นซองเอกสารข้อเสนอทั้ง 2 ราย แจ้งเลื่อนกำหนดเปิดซองเอกสารข้อเสนอจากกำหนดเดิมออกไปก่อน จนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นประการใด อย่างไรก็ตามในกรณีที่ไม่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งใดๆ ในระยะเวลา 1 เดือน คณะกรรมการฯ ได้มอบให้ รฟม. จัดเตรียมแนวทางแก้ไขปัญหาการดำเนินการคัดเลือกเอกชนฯ เสนอให้คณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณากำหนดแนวทางดำเนินการต่อไป
4.ในการประชุมคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 คณะกรรมการฯ และ รฟม. ได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางดำเนินการคัดเลือกเอกชนฯ โดยประเมินกรอบระยะเวลาดำเนินการ ผลกระทบ รวมถึงข้อดี-ข้อเสีย อย่างรอบด้านแล้ว มีความเห็นโดยสรุปว่า จนถึงปัจจุบันระยะเวลาได้ล่วงเลยมามากแล้ว ยังไม่มีความคืบหน้าและข้อสรุปทางคดี ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลานานออกไป ทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ระยะเวลาดำเนินการคัดเลือกเอกชนฯ จนแล้วเสร็จที่ชัดเจนได้ ประกอบกับซองเอกสารข้อเสนอของเอกชน 2 ราย มีอายุ 270 นับจากวันยื่นซองข้อเสนอ หากยังคงรอข้อสรุปทางด้านคดีก่อนแล้วจึงดำเนินการคัดเลือกต่อไป อาจส่งผลให้ซองเอกสารข้อเสนอของเอกชน 2 ราย ดังกล่าว สิ้นอายุลงก่อนที่กระบวนการคัดเลือกเอกชนฯ จะแล้วเสร็จ ซึ่งอาจนำไปสู่การยกเลิกการคัดเลือกและเริ่มการคัดเลือกเอกชนฯ ใหม่ ในภายหลัง จึงเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ล้วนส่งผลกระทบต่อความสำเร็จของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ
ขณะที่กรณียกเลิกการคัดเลือกและเริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนฯ ใหม่ จะสามารถดำเนินการคัดเลือกเอกชนให้แล้วเสร็จได้ภายใน 6 – 8 เดือน กรอบระยะเวลาดำเนินการมีความชัดเจน จึงเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดต่อความสำเร็จของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ และเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐสูงสุด ดังนั้นคณะกรรมการฯ จึงได้มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ และการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าว โดยมอบให้ รฟม. พิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
5.รฟม. ได้ออกประกาศยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ณ วันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ตามประกาศดังกล่าว โดยติดประกาศ ณ ที่ทำการ รฟม. และเผยแพร่ทางหน้าเว็บไซต์ www.mrta.co.th เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 แล้ว
ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)