ธปท.จับมือกรมบังคับคดี เปิด’มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้’ ตั้งเป้าสิ้นปีเคลียร์ 3แสนคดี
ธปท.จับมือกรมบังคับคดี ร่วมแบงก์ นอนแบงก์21แห่ง เปิดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลให้ลูกหนี้ทุกกลุ่ม คาดลดฟ้องร้อง-คดีความสิ้นปี3แสนคดี พร้อมปรับเกณฑ์คลินิกแก้หนี่ เปิดทางลูกหนี้เป็นเอ็นพีแอลก่อน 1ก.พ.64เข้าโครงการได้
ปฏิเสธไม่ได้ว่า จากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19 ในปัจจุบัน ยิ่งเป็นปัญหาเรื้อรัง และ“ซ้ำเติม”ต่อลูกหนี้ให้ยิ่งได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ลดลง จากการเลิกจ้าง การลดชั่วโมงการทำงาน ซึ่งกระทบโดยตรงต่อความสามารถชำระหนี้ของ “ลูกหนี้”ให้ลดลงด้วย
ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ออกมาตรการมากมาย เพื่อช่วยลดภาระหนี้ให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งผ่านการทำมาตรการขั้นต่ำ มาตรการเฉพาะกลุ่ม หรือช่องทางในการช่วยลูกหนี้เร่งด่วน ผ่านคลินิกแก้หนี้ต่างๆอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันเชื่อว่า การแก้ไขปัญหา“หนี้”ที่ดี กระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ที่มีประสิทธิภาพ ระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพื่อหาทางออกร่วมกัน และแก้ไขปัญหาหนี้สินที่เรื้อรังให้ลดลงได้ในอนาคต
ธปท.จึงมีการร่วมกับ สำนักงานศาลยุติธรรม กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม และผู้ให้บริการบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ทั้งสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการทางการเงินทั้ง 21 แห่ง โดยแบ่งเป็นสถาบันการเงิน 10 แห่ง และ นอนแบงก์อีก 11 แห่ง ร่วมจัดงาน “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล” โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนผ่านออนไลน์ในวันที่ 14 ก.พ.-14 เม.ย.2564 นี้
“ธัญญนิตย์ นิยมการ”ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวว่า โครงการนี้จะเป็นตัวช่วย และเป็นประโยชน์ต่อลูกหนี้และเจ้าหนี้ได้ค่อนข้างมาก ให้สามารถหาข้อ “ยุติ”และเป็นการเปิดทางให้ลูกหนี้มีทางเลือกในการชำระหนี้มากขึ้น ผ่านเงื่อนไขที่ผ่อนปรนที่ทำได้จริง ทำให้ลูกหนี้มีโอกาสกลับมาชำระหนี้ได้ต่อเนื่อง ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องบังคับคดีในอนาคต
สำหรับเงื่อนไข ของลูกหนี้ที่จะเข้าโครงการ ผ่าน “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้” แทบจะครอบคลุมลูกหนี้ทุกกลุ่ม ที่เป็นหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เพราะไม่ว่าลูกหนี้จะมีสถานะไหน ก็สามารถเข้าโครงการได้
ทั้ง ลูกหนี้ดี ที่มีประวัติการค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน ลูกหนี้เสีย ที่อยู่ระหว่างฟ้องร้องชำระหนี้ และลูกหนี้เสีย ที่มีคำพิพากษาแล้ว ก็สามารถใช้ช่องทางนี้ “ไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้ที่มีกับเจ้าหนี้ได้!!
สำหรับเงื่อนไขผ่อนปรนที่ลูกหนี้จะได้รับจากสถาบันการเงินและนอนแบงก์ทั้ง 21 แห่ง ผ่าน 3 เงื่อนไข 1.ให้จ่ายเฉพาะเงินต้น ดอกเบี้ยค้างยกให้เมื่อทำได้เสร็จตามสัญญา ผ่อนจ่ายภายใน 3 เดือน
2. จ่ายเฉพาะเงินต้น ดอกเบี้ยค้างยกให้เมื่อทำได้เสร็จตามสัญญา ผ่อนจ่ายภายใน 3 ปี และ 3. จ่ายเฉพาะเงินต้น ดอกเบี้ยค้างยกให้เมื่อทำได้เสร็จตามสัญญา ผ่อนจ่ายภายใน 5 ปี ซึ่งจะทำให้ค่างวดที่ลูกหนี้ต้องจ่ายไม่สูงนักและอยู่ในวิสัยที่ชำระได้ เช่น ถ้าเงินต้น 50,000 บาท ปีที่ 1-3 จ่ายเพียงเดือนละ 1,111 บาท ปีที่ 4-5 เดือนละ 416 บาท
ขณะที่ เป้าหมายสำคัญของงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ ก็เพื่อช่วยไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลในส่วนที่มีคำพิพากษาและถูกบังคับคดีแล้วทำให้ไม่สามารถเข้าสู่โครงการคลินิกแก้หนี้ได้ และปกติเมื่อเรื่องดำเนินการมาถึงขั้นนี้ เจ้าหนี้มักจะไม่ยอมเจรจา
แต่สถาบันการเงินทั้ง 21 แห่งเล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นที่ต้องผ่อนปรนเงื่อนไข เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถเดินต่อไปได้ จึงเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ที่อยู่ในชั้นบังคับคดีเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ร่วมกันอีกครั้ง!
หากดูสถิติจำนวนคดีที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลที่ผ่านมา ปี 2562 พบว่า มีคดีขึ้นสู่ศาลถึง 1.9 ล้านคดี โดยเป็นคดีผู้บริโภคถึง 8.3 แสนคดี โดย 5 อันดับแรก ได้แก่ สินเชื่อส่วนบุคคล 293,899 คดี บัตรเครดิต 168,347 คดี กู้ยืม 138,419 คดี กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)92,472 คดี และเช่าซื้อรถ 86,406 คดี
ดังนั้นธปท.คาดหวังว่า โครงการ “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล”นี้ จะเป็นส่วนช่วย ในการลดคดีการฟ้องร้อง และหนี้สินให้กับประชาชนลดลงในอนาคต โดยธปท.ตั้งเป้าว่า ปี 2564 จะสามารถลดจำนวนคดีผู้บริโภคได้ 3แสนคดี หรือคิดเป็น 1ใน 4 ของคดีปี 2562
นอกจากนี้สำหรับลูกหนี้ ที่ยังไม่เป็นเอ็นพีแอล และเริ่มมีปัญหาติดขัดด้านสภาพคล่อง หรือเริ่มผิดนัดชำระหนี้ ก็สามารถเข้าโครงการ “มหกรรมการไกล่เกลี่ยหนี้”ได้ เพื่อขอเปลี่ยนหนี้บัตรเครดิตเป็นหนี้ที่มีระยะเวลาผ่อนนานขึ้น ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำลง ซึ่งจะช่วยลดภาระลงได้ดีกว่าการผ่อนขั้นต่ำไปเรื่อย ๆ
อีกทั้งกรณีที่ลูกหนี้ขอเปลี่ยนหนี้บัตรเครดิตเป็นหนี้ระยะยาว หรือเทอมโลน หากลูกหนี้มีวงเงินบัตรเหลือ ลูกหนี้สามารถขอให้เจ้าหนี้คงวงเงินบัตรเครดิตบางส่วนเอาไว้ได้อีกด้วย ซึ่งการช่วยเหลือลักษณะนี้ ถือเป็นมาตรการขั้นต่ำ ที่ธปท.ออกมาเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ซึ่งจะไม่กระทบประวัติในฐานข้อมูลเครดิตบูโรอีกด้วย
ไม่เพียงแค่นี้ ล่าสุด ธปท.ยังมีการปรับเกณฑ์คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการ “คลินิกแก้หนี้” จากเดิมที่กำหนดให้ลูกหนี้ ที่เข้าโครงการได้ จะต้องเป็นหนี้เสีย ก่อน 1 ก.ค. 2563 เป็น 1 ก.พ. 2564 เพื่อให้ครอบคลุมลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19รอบใหม่ด้วย
ทั้งนี้หากดูข้อมูลการเข้าโครงการ “คลินิกแก้หนี้”ที่ผ่านมา พบว่าตั้งแต่เกิดโควิด-19 มีลูกหนี้ยื่นขอเข้าโครงการค่อนข้างมาก หลายหมื่นราย แต่มีบางรายยังไม่ผ่านคุณสมบัติเนื่องจากยังไม่เป็นเอ็นพีแอล ทั้งนี้ ปัจจุบันมีลูกหนี้ที่ผ่านเงื่อนไข เข้าโครงการได้อยู่ที่ราว 1.1 หมื่นคน หรือคิดเป็นยอดหนี้ราว 3.5 พันล้านบาท
ดังนั้นธปท.หวังว่า การขยายเกณฑ์ คุณสมบัติครั้งนี้ น่าจะเป็นส่วนช่วยให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ได้ค่อนข้างมาก เพราะหากดูลูกหนี้ที่ติดต่อผ่าน โครงการ “คลินิกแก้หนี้”ที่ผ่านมามีราว 1.3 แสนราย พบว่า ในนี้ได้รับความช่วยเหลือสำเร็จถึง 60% ดังนั้นการปรับเกณฑ์ครั้งนี้ ก็น่าจะมีส่วนช่วยลูกหนี้ ที่มีหนี้เสีย และช่วยลดปัญหาหนี้เอ็นพีแอลในระบบให้ลดลงได้ในอนาคต
“อรัญญา ทองน้ำตะโก” อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวถึง “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล”ว่า สิ่งที่ห่วงที่สุดในช่วงที่ผ่านมา คือลูกหนี้ กลุ่มที่ถูกฟ้องร้อง ดำเนินคดีและเข้าสู่กระบวนการยึดทรัพย์แล้ว ดังนั้นหากกลุ่มเหล่านี้ไม่ดำเนินการไกล่เกลี่ย ก็อาจนำไปสู่กระบวนการ “ยึดทรัพย์” ขายทอดตลาดต่อไป
ดังนั้นเชื่อว่าโครงการนี้ จะเป็นทางออกในการช่วยไกล่เกลี่ยลูกหนี้ และเจ้าหนี้ เพื่อลดปัญหาในอนาคต ดังนั้นหากลูกหนี้เข้าสู่การไกล่เกลี่ย ลูกหนี้กลุ่มนี้ ก็จะได้รับการดูแลเป็นกรณี “พิเศษ” ซึ่งมีโอกาสที่ลูกหนี้จะถูกงดการบังคับคดี หรือการยึดทรัพย์ต่างๆได้ในอนาคต และกลับมาเป็นลูกหนี้ปกติได้ในอนาคต