เจ้าตลาด IPP-SPP-VSPP โดดร่วม ประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่อง 150 MW

เจ้าตลาด IPP-SPP-VSPP โดดร่วม ประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่อง 150 MW

เอกชน ผู้ผลิตไฟฟฟ้าทั้งรายใหญ่ - รายเล็ก ผนึกกำลังวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ เตรียมเข้าร่วมประมูลแข่งขันโรงไฟฟ้าชุมชน นำร่อง 150 เมกะวัตต์ ที่คาดว่าจะเปิดยื่นเสนอโครงการในช่วง มี.ค.-เม.ย.นี้

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน(นำร่อง) รับซื้อไฟฟ้า 150 เมกะวัตต์(MW) ที่ผ่านการเห็นชอบจากประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 16 พ.ย.2563 ใกล้สู่ความเป็นจริงมากขึ้น เมื่อ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เตรียมออกระเบียบและประกาศรับซื้อไฟฟ้า เพื่อเปิดให้ผู้สนใจยื่นเสนอโครงการ

โดยกำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการ (เบื้องต้น) ดังนั้น การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย(กฟภ.และ กฟน.) ออกประกาศการยื่นคำเสนอขอขายไฟฟ้า ภายในเดือน ก.พ.2564 ,การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย เปิดรับยื่นคำเสนอขอขายไฟฟ้า ระหว่างวันที่22มี.ค.-2เม.ย.2564,การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอทางเทคนิค 30 เม.ย.2564 ,การไฟฟ้าฝ่าย จำหน่ายพิจารณาข้อเสนอด้านราคาด้วยวิธีCompetitive Biddingและประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ วันที่31พ.ค.2564,ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ภายใน120วัน หรือ ภายในวันที่28ก.ย.2564ขณะที่กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD)ภายในวันที่28ก.ย.2567

161302737369

แม้ว่าโครงการฯ จะล่าช้ามาเกือบ 2 ปี หลังจากที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในขณะนั้น ได้ประกาศแนวคิดจะริ่เริ่มโครงการดังกล่าวขึ้น เมื่อราวปี 2562 แต่ก็ยังไม่เป็นผล กระทั่งมีการปรับเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีฯ มาเป็นนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ และได้ปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงใหม่ จน กกพ. ได้ออกประกาศรับฟังความเห็นระเบียบและประกาศเชิญชวนรับซื้อไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 150 เมกะวัตต์ ระหว่าง วันที่ 21 ม.ค.- 4 ก.พ. 2564 และอยู่ระหว่างรวบรวมความคิดเห็นแนะข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อออกประกาศฉบัยสมบูรณ์

ความชัดเจนของหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเข้าร่วมลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน (นำร่อง)150 เมกะวัตต์ ทำให้ "เจ้าตลาด" ธุรกิจไฟฟ้า ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญผลิตไฟฟ้าทั้งในรูปแบบของโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่(IPP), โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก(SPP) และโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก(VSPP) ต่างใช้จุดแข็งที่มี เดินหน้าเจรจากับชุมชนและวิสาหกรรมชุมชนที่มีศักยภาพและมีความพร้อมในเรื่องของแหล่งวัตถุดิบ เพื่อเตรียมจับมือเข้าร่วมประมูลแข่งขันในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และน่าจะเห็นการยื่นเสนอโครงการเกินเป้าหมายที่ภาครัฐตั้งไว้ 150 เมกะวัตต์แน่นอน

หากจะวัดกำลังของ “เจ้าตลาด” ธุรกิจไฟฟ้าที่เป็นบริษัทจดทะเบียนแต่ละราย ซึ่งออกมาประกาศตัวชัดเจน เตรียมเข้าร่วมประมูลแข่งขันเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าร่วมกับชุมชน เรียกได้ว่า “ไม่มีใคร แพ้ใคร” เพราะแต่ละรายมีความพร้อมทั้ง เทคโนโลยีทันสมัย ประสบการณ์ องค์ความรู้ และเงินทุน

เริ่มจาก ผู้ผลิตไฟฟ้า IPP อย่าง บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO (เอ็กโก กรุ๊ป) ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 94,500.47 ล้านบาท (ณ วันที่ 8 ก.พ.64) ปัจจุบัน มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมในมือทั้งในประเทศและต่างประเทศ อยู่ที่ 5,694 เมกะวัตต์ ได้เตรียมพร้อมเจรจากับวิสหกิจชุมชนในพื้นที่ ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเฉียง เพื่อเข้าร่วมลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนในหลายพื้นที่

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือEGCO (เอ็กโก กรุ๊ป) กล่าวว่า บริษัท มองหาโอกาสลงทุนในหลายโครงการ ทั้งเชื้อเพลิงชีวมวลและเชื้อเพลิงชีวภาพ ขนาดกำลังการผลิต 3-6 เมกะวัตต์ต่อแห่ง คาดว่า จะใช้เงินลงทุนประมาณ 100 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ และพร้อมที่จะความร่วมมือกับชุมชนจัดทำระบบเกษตรพันธสัญญา หรือ คอนแทรคฟาร์มมิ่ง (contract farming) เพื่อให้มั่นใจว่า จะมีวัตถุดิบเพียงพอที่จะป้อนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า และชุมชนจะได้รับการการันตีราคารับซื้อพืชพลังงาน และให้แน่ใจว่า เป็นการปลูกพืชขึ้นใหม่ ไม่ใช่การทำลายป่า

“โครงการนี้ ไม่ใช่ลักษณะของโครงการที่จะมุ่งหวังผลกำไร แต่เป็นการช่วยสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง และบริษัทเองก็มีความเชี่ยวชาญในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งสิ่งที่จะทำให้โครงการเกิดขึ้นได้จริง ก็คงต้องเน้นทางเทคนิคและควบคุมต้นทุนให้โรงไฟฟ้าอยู่ได้อย่างยั่งยืน”

ด้าน ผู้ผลิตไฟฟ้า SPP และ VSPP อย่างบริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 38,465.28 ล้านบาท (ณ วันที่ 8 ก.พ.64) ปัจจุบัน มีกำลังการผลิตในมือประมาณ 449.57 เมกะวัตต์ โดยเตรียมใช้จุดเด่นที่สามารถบริหารจัดการรวมถึงปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าได้หลากประเภท เข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน จำวน 50 พื้นที่ พื้นที่ละประมาณ 3 เมกะวัตต์

นายธีรวุฒิ ทรงเมตตา ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE กล่าวว่า บริษัท ได้ทำข้อตกลงกับเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมด้านพืชพลังงาน โดยเลือกใช้พันธุ์พืชที่จะให้ผลผลิตต่อไร่สูง ใช้เทคโนโลยีที่ สามารถใช้เชื้อเพลิงชีวมวลแบบผสมผสาน ทั้งหญ้า เปลือกไม้ และอื่นๆ รวมถึงเปลือกทุเรียนก็สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงได้

“การกำหนดเทคนิคบริหารจัดการเชื้อเพลิงที่มีศักยภาพ จะสร้างผลดีต่อเกษตรกร ลดความเสี่ยงการขาดแคลนเชื้อเพลิงแต่ละประเภทในบางช่วงได้ และช่วยให้สามารถบริหารต้นทุนผลิตไฟฟ้าได้ในอัตราต่ำด้วย”

161302795976

รวมถึง บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด(มหาชน) หรือ GUNKUL ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 23,094.58 ล้านบาท (ณ วันที่ 8 ก.พ.64) ปัจจุบัน มีกำลังการผลิตไฟฟ้า ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD)แล้วประมาณ 600 เมกะวัตต์ ตั้งเป้าหมายจะยื่นเสนอโครงการฯ ประมูลแข่งขัน จำนวน 3 แห่ง ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลทั้งหมด กำลังผลิตรวม 15 เมกะวัตต์ หรือ โครงการละ 5 เมกะวัตต์ คาดว่า จะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 1,000 ล้านบาท หรือ ประมาณ 60-70 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์

นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด(มหาชน) หรือ GUNKUL กล่าวว่า บริษัท อยู่ระหว่างจัดทำข้อเสนอแบ่งปันผลประโยชน์ตอบแทนให้กับชุมชนรอบโรงไฟฟ้าตามเงื่อนไขโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน และได้จัดทำMOUกับวิสาหกิจชุมชนทั้ง3พื้นที่แล้ว ตอนนี้ ก็อยู่ระหว่างเตรียมพร้อมยื่นข้อเสนอว่า กองทุนหมู่บ้านในแต่ละแห่งจะได้รับประโยชน์อย่างไร เช่น ได้รับโรงอบกล้วยตาก ได้รับแสงสว่างในหมู่บ้าน ได้รับโซลาร์ปั๊มน้ำ ได้รับโซลาร์กรองน้ำ เป็นต้น

“บริษัท พร้อมที่จะเข้าไปดำเนินโครงการ ทั้งการสนับสนุนเงินลงทุน และก่อสร้างโครงการให้กับชุมชน ซึ่งจะใช้เชื้อเพลิงผสมผสาน และเป็นการปลูกพืชใหม่ กำหนดราคาประกันการรับซื้อพืชแต่ละชนิดให้ชัดเจนตามเงื่อนไขโครงการ อีกทั้งการศึกษาประเมินโครงการเบื้องต้น พบว่ายังสามารถให้ผลตอบแทนการลงทุน(IRR)ระดับสองหลักได้”

ขณะที่ ผู้ผลิตไฟฟ้า VSPP อย่างบริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC ที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 3,057.64 ล้านบาท (ณ วันที่8ก.พ.64) ปัจจุบัน มีกำลังการผลิตในมือ ประมาณ 10 เมกะวัตต์ รายนี้แม้ขนาดโรงไฟฟ้าจะ “จิ๋ว” แต่ “แจ๋ว” เพราะโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าแม่แตง กำลังผลิต 1.486 เมกะวัตต์ เป็นต้นแบบโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานแห่งแรกของพื้นที่ภาคเหนือที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ซึ่งจะเห็นได้จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ต่างไปเยี่ยมชมศึกษาดูงานต่อนเอง

นายชัชพล ประสพโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC กล่าวว่า บริษัท มีความพร้อมจะร่วมดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ทั้งจากกำลังผลิตที่มี 3 เมกะวัตต์ ที่สามารถเข้าเงื่อนไข “Quick Win” เดินเครื่องการผลิตไฟฟ้าได้ทันที และบริษัทยังตั้งเป้าหมายร่วมประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนแห่งใหม่ ประมาณ 6-9 เมกะวัตต์ ภายใต้งบลงทุนราว 300-600 ล้านบาทเพิ่มเติมจากโครงการในจังหวัดขอนแก่นที่มีอยู่แล้วราว 3 เมกะวัตต์

“บริษัท มีข้อได้เปรียบจากกรณีที่มีโรงไฟฟ้าต้นแบบอยู่ที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ อีกทั้งยังมีโรงไฟฟ้าชุมชนที่ จ.ขอนแก่น กำลังการผลิตประมาณ3เมกะวัตต์ ที่เดินหน้าได้ทันที อีกทั้ง บริษัทมีความพร้อมด้านศักยภาพ เทคโนโลยีที่ใช้ในการทำงาน และประสบการณ์จากการประกอบการในธุรกิจพลังงานจากก๊าซชีวภาพมานานนับ10ปี”

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการรายใด จะได้รับการคัดเลือกให้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน (นำร่อง) 150 เมกะวัตต์แรกนั้น ก็ต้องไปดูว่า ในทางปฏิบัติหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกของภาครัฐจะเป็นไปตามกติกาที่กำหนดไว้หรือไม่ คือ ใครเสนอผลตอบแทนให้กับชุมชนได้รับประโยชน์สูงสุด ก็จะเป็น “ผู้ชนะ” การประมูล