ยุทธการเด็ด 'แกนนำ' ตัดปีกบัญชาการ 'ม็อบ'
การกลับมาครั้งนี้จะเป็นโค้งสุดท้ายที่แกนนำชุดแรก กำลังถูกไล่เช็คบิล "ตัดปีก" บัญชาการทั้งหมดหรือไม่
จากกรณีเมื่อวันที่ 9 ก.พ. อัยการสั่งฟ้อง 4 แกนนำกลุ่มคณะราษฎร ประกอบด้วย พริษฐ์ ชิวารักษ์ อานนท์ นำภา สมยศ พฤกษาเกษมสุข และปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการชุมนุม "19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร" ที่สนามหลวงเมื่อวันที่ 19 - 20 ก.ย.2563
โดยเฉพาะ "พริษฐ์" ถูกสั่งฟ้องมาตรา 112 อีกหนึ่งคดีจากการชุมนุม "ม็อบเฟส" ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 พ.ย.2563 รวมคดีมาตรา 112 ติดตัวทั้งหมด 17 คดี โดยที่ศาลมีคำสั่ง "ไม่ให้ประกันตัว" แกนนำทั้ง 4 รายจึงถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ระหว่างรอการพิจารณาคดีจนกว่าศาลจะมีคำสั่งให้ประกันตัวหรือจนกว่าคดีจะจบสิ้น
สำหรับกระบวนการครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 2 ที่แกนนำคณะราษฎร เคยถูกฝากขังจากการเคลื่อนไหวชุมนุมในปี 2563 จากความผิดฐานยุยงปลุกปั่นฯ มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (3) พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ร.บ.จราจรทางบก และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง
ทำให้การชุมนุมของม็อบในช่วง "ติดลมบน" ขณะนั้น ต้องเคลื่อนไหวไร้แกนนำกำหนดทิศทาง จะมีเพียงกลุ่มมวลชนที่นัดหมายชุมนุมกันเองอย่างเช่นเมื่อวันที่ 17 ต.ค.2563 ที่บริเวณห้าแยกลาดพล้าว วงเวียนใหญ่ และสถานีรถไฟฟ้าอุดมสุข
จากนั้นเมื่อแกนนำหลักได้รับการประกันตัวกลับมาสู้คดี ต่างเร่งสถานการณ์นัดหมายจัดชุมนุมถี่ขึ้นกว่าเดิม เน้นไปที่เดือน ต.ค.มีการชุมนุมมากถึง 9 ครั้ง ต่อเนื่องเดือน พ.ย.จัดชุมนุมไปถึง 8 ครั้ง จนสิ้นสุดการชุมนุมใหญ่ในปี 2563 ที่บริเวณห้าแยกลาดพร้าวเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.
แต่กระแสชุมนุมที่จุดติดขณะนั้น กลับเป็นช่วงเดียวที่แกนนำเครือข่ายแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ตั้งแต่กลุ่มเยาวชนปลดแอก นักเรียนเลวมวลชนอาสา (We Volunteer) เริ่ม "โดนคดี" จากฝ่ายความมั่นคงเร่งตามจับแกนนำ เพื่อตัดสายบัญชาการเคลื่อนไหว
ไม่ใช่แค่คดีความที่พุ่งไปที่แกนนำเพียงอย่างเดียว แต่จาก "จุดยืน" การเคลื่อนไหวแนวร่วมที่เริ่มแตกต่างออกไป นอกเหนือจากขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลายเป็น "ปัจจัย" สำคัญที่ทำให้กระบวนการเคลื่อนไหวแต่ละฝ่ายเริ่มเดินต่างเส้นทาง โดยเฉพาะการจุดประเด็น “สาธารณรัฐ” หรือ “คอมมิวนิสต์” จากกลุ่มเยาวชนปลดแอก ในสัญลักษณ์ "ค้อนเคียว" เป็นฟางเส้นสุดท้านที่แนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ประกาศขอเดินคู่ขนานอย่างชัดเจน
จากนั้นเงื่อนไข "คดีความ" และจุดยืนทางการเมืองที่ต่างกัน สะเทือนไปถึง "แนวประสาน" ที่เริ่มเดินคนละเส้นทาง เมื่อแกนนำแนวร่วมคนสำคัญ อาทิ "ฟอร์ด" ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี ภัสราวลี ธนกิจ วิบูลย์ผล หรือ "มายด์" หรือ "อั๋ว" จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ หรือ "โตโต้" ปิยรัฐ จงเทพ ทยอยหายหน้าไปจากการเคลื่อนไหวแนวร่วมคณะราษฎรฯ ไปด้วย
ภาพที่เห็นชัดเจนจากการชุมนุม "ตีหม้อไล่เผด็จ" ที่ลานสกายวอร์ค จนถึงการเคลื่อนขบวนไปที่ หน้าสน.ปทุมวัน เพื่อกดดันให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมเมื่อค่ำวันที่ 10 ก.พ. แกนนำม็อบในวันนั้นมีเพียง "ไมค์" ภาณุพงศ์ จาดนอก "รุ้ง" ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล "ครูใหญ่ขอนแก่น" อรรถพล บัวพัฒน์ ทำหน้าที่บัญชาการม็อบ ในช่วงที่แกนนำหลักถูกฝากขังนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าพลังดึงดูดมวลชนลดหายไปอย่างชัดเจน
ที่ผ่านมา "อานนท์-เพนกวิน" จะเป็นแม่เหล็กดึงดูดผู้ชุมนุมทุกการนัดหมายเคลื่อนไหว แต่เมื่อทั้ง 2 หายไปจากบทบาทแกนนำ ทำให้การคอนโทรลม็อบที่หน้า สน.ปทุมวัน เพื่อล้อมโรงพักกดดันปล่อยตัวผู้ชุมนุม เกิดเหตุชุลมุนเกือบบายปลาย ระหว่างอารมณ์ม็อบและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไม่มีแกนนำสั่งควบคุมได้ทันที
ยิ่งกระแสแนวร่วมที่เริ่มทยอยหายไป จากแผนที่วางไว้ในการปิดแยกปทุมวันในวันนั้นต้องถูกพับเก็บ จากจำนวนมวลชนที่หน้าหอหอศิลปฯ ไม่เป็นไปตามเป้า ทำให้แกนนำต้องปรับแผนตามสถานการณ์นำมวลชนเคลื่อนบุก สน.ปทุมวัน
การกลับมาเคลื่อนไหวจากกลุ่มราษฎรครั้งนี้ อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่า แกนนำที่เหลือจะเร่งกระแสม็อบให้กลับมาเขย่าฝ่ายรัฐต่อได้หรือไม่ หรือการกลับมาครั้งนี้จะเป็นโค้งสุดท้ายที่แกนนำชุดแรกกำลังถูกไล่เช็คบิล "ตัดปีก" บัญชาการทั้งหมด.