ฟรีโฟรทต่ำ –มาร์เก็ตแคปสูง รีเทิร์นกระทบหุ้นไทย
ความร้อนแรงของหุ้นไอพีโอน้องใหม่แต่ไซต์ใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ทำให้นักลงทุนยังเกาะติดราคาหุ้นอย่างต่อเนื่อง
รวมทั้งยังเป็นคู่เปรียบเทียบในเชิงตัวเลขทางการลงทุนเหมือนกับหุ้นประเด็นฮอตข้ามปี บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ DELTA
เฉพาะแค่ราคาห้นของ OR ที่ปรับขึ้นต่อเนื่องทำให้มีเสียงบ่น “ ขายหมู” “ รอช้อนจนเก้อ” กันมากมาย จากราคาซื้อขายที่ 18 บาท ราคาหุ้นสามารถขึ้นไปทำราคาสูงสุดที่ 36.50 บาท เป็นการเพิ่มขึ้น 102 %
ตามมาด้วยมูลค่ามาร์เก็ตแคปจากราคาไอพีโออยู่ที่ 208,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถได้สิทธิตีตั๋วฟรีเข้าคำนวณในดัชนี SET 50 และ SET 100 ได้ทันทีภายในวันที่ 17 ก.พ. 2564 แต่หลังจากเข้าทำการซื้อขายแล้วราคายังปรับตัวขึ้นต่อเลยทำให้มูลค่ามาร์เก็ตแคปขยับขึ้นมาเกือบ 4 แสนล้านบาท !!
อ้างอิงจากการซื้อขายวันที่ 15 ก.พ. ราคาปิดที่ 34.00 บาท ปรากฎมาร์เก็ตแคปในวันดังกล่าวอยู่ที่ 394,470 ล้านบาท ส่งผลทำให้อันดับหุ้น OR ใน SET 50 จากอันดับที่ 11 ขึ้นแซงหน้าหุ้นธนาคารใหญ่ SCB และ KBNAK ไปจองอันดับอยู่ที่ 9 ทันที
อย่างไรก็ตามแม้ว่า OR จะเป็นหุ้นที่มีจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยมากที่สุดจากการจองถึง 530,000 ราย แต่เมื่อเทียบกับอัตราการกระจายหุ้นไอพีโอของ OR มีสัดส่วนรายย่อยหรือ ฟรีโฟลท อยู่เพียง 24.52 % ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่ได้สูงมากหนักในหุ้นที่มีขนาดใหญ่อย่างนี้ จนทำให้หุ้น OR มีน้ำหนักในดัชนีตลาดหุ้นไทยและมีผลต่อการขึ้นลงของดัชนีไปด้วย มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.8-5 จุด ต่อดัชนี
กรณีดังกล่าวมีหุ้น DELTA ที่มีรูปแบบเดียวกันคือฟรีโฟรทน้อยแต่มีมูลค่ามาร์เก็ตแคปสูง มากจนขึ้นมาอยู่ที่ 601,637 ล้านบาท กลายเป็นหุ้นในอันดับที่ 3 ที่มีมาร์เก็ตแคปใหญ่รองเพียง PTT และ AOT
และเป็นหุ้น DELTA ที่สร้างปรากฎการณ์ชี้นำตลาดหุ้นจากราคาที่ไต่ขึ้นไปราคาสูงสุดได้ถึง 804 บาท (11 ม.ค.) พาให้ดัชนีหุ้นไทยบวกจนยืนที่ 1,535-1,540 จุดได้ ทั้งนี้ในมุมมองของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ทรีนีตี้ ระบุหุ้น OR มีผลต่อดัชนี 4.8 จุด DELTA มีผลต่อดัชนี 7.4 จุดและ PTT มีผล 2.5 จุด สะท้อนถึงการขึ้นของดัชนีแบบกระจุกตัวมากๆ ได้กลับมาอีกครั้ง (Narrow breadth)
ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่การคำนวณดัชนีของทางตลท.ยังคงยึดถือตามหลักเกณฑ์เดิมซึ่งก็คือวิธี Full market cap ซึ่งกลายเป็น Loophole ให้หุ้นที่มีมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่แต่มีฟรีโฟรทต่ำมีอิทธิพลต่อดัชนีได้ในระดับสูง
กรณีของ OR ปัจจุบันนั้นมีความคล้ายคลึงกับตัว DELTA ก่อนหน้านี้เป็นอย่างมาก กล่าวคือมี Market cap ระดับแสนล้าน ฟรีโฟรท 20-25% และถูกคัดเลือกเข้าสู่ดัชนีสำคัญเช่น SET50, SET100, MSCI จนทำให้กองทุน Passive fund ทั้งหลายจำเป็นที่จะต้องเข้าซื้อหุ้นเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงมิได้
คาดปรากฏการณ์ดังกล่าวจะทำให้ตลาดหลักทรัพย์เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและอาจทำให้มีความเป็นไปได้สูงขึ้นที่ จะต้องเร่งรัดกระบวนการเปลี่ยนแปลงการคำนวณดัชนีไปเป็นวิธี Free float adjusted market cap ให้เร็วยิ่งขึ้น เพื่อลดผลกระทบที่จะมีต่อ Market participant ทุกภาคส่วน
หากมีการใช้เกณฑ์ใหม่จริงจากการคำนวณล่าสุดพบว่า การปรับขึ้นมาของ OR อย่างก้าวกระโดดนั้น จะทำให้ตัวหุ้นมีโอกาสถูกลดน้ำหนักได้อย่างมีนัยสำคัญ จากราว 3.5% ของดัชนี SET50 ลงมาอยู่ที่ 1.9% ของดัชนี