ค่า 'อาหารกลางวัน' ของ 'นักเรียน' เพิ่ม 1 บาท ไม่ช่วยแก้ความเหลื่อมล้ำ?

ค่า 'อาหารกลางวัน' ของ 'นักเรียน' เพิ่ม 1 บาท ไม่ช่วยแก้ความเหลื่อมล้ำ?

ค่า "อาหารกลางวัน" ของ "นักเรียน" ที่เพิ่มขึ้น 1 บาท ทำไมถึงไม่ช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดในโรงเรียน หรือถึงเวลาสะสางปัญหาใต้ภูเขาน้ำแข็ง

หลังคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ เงินสนับสนุนอาหารกลางวันเด็กนักเรียนทั่วประเทศขยับเพิ่มขึ้น จาก 20 บาท เป็น 21 บาท เกิดความคิดเห็นมากมายจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งเห็นด้วยไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด ขณะที่นักโภชนาการชื่อดังชี้ว่าเงินค่าอาหารเป็นเพียงหนึ่งประเด็นเท่านั้น

อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งทำงานเกี่ยวกับโภชนาการของเด็กมายาวนาน ได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า ปัญหาเรื่องอาหารกลางวันของเด็กที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ได้มาจากเรื่องของตัวเงินเพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาที่ถูกซ่อนอยู่ในภูเขาน้ำแข็งมานานแล้ว

ปัญหาที่ถูกมองไม่เห็นในเรื่องแรก เป็นเรื่องของ ความไม่เสนอภาคในการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพและพอเพียงของเด็กวัยเรียน โดยมี 4 หน่วยหลัก อย่าง กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และ สสส. ได้พยายามร่วมกันแก้ไขปัญหาเรื่องนี้มาตลอด แต่ที่ผ่านมาจะมองกันที่ตัวเงินเป็นหลัก ว่าถ้าเงินไม่พอก็แก้ปัญหาเรื่องความเสมอภาคและการเข้าถึงอาหารของเด็กไม่ได้ ด้วยเหตุนี้กระทรวงศึกษาธิการจึงได้เสนอ ครม. ขอขึ้นค่าอาหารเป็น 24/36 โดยคิดตามขนาดโรงเรียน เล็ก กลาง ใหญ่ โดยขนาดเล็กได้ 36 กลางได้ 30 และใหญ่ได้ 24 แต่อาจเป็นเพราะรัฐบาลมีหลายปัญหาที่ต้องใช้งบประมาณในการแก้ไข จึงได้อนุมัติเพิ่มขึ้นค่าอาหารกลางวันจาก 20 บาทต่อคนต่อวัน เป็น 21 บาท

“แม้จะรู้ว่า 21 บาท ไม่พอแน่นอน แต่ควรมองไปถึงเรื่องของกลไกการจัดการ มองปัจจัยด้านอื่น ๆ เช่น เด็กกินอาหารไม่พอ ปริมาณอาหาร หรือคุณภาพไม่ดี ส่งผลให้เด็กเรียนหนังสือด้อย ผลสอบตกต่ำ เพราะโภชนาการไม่ดี มีผลวิจัยรองรับ ซึ่งครูบางคนไม่ทราบ แต่นักวิชาการและนักโภชนาการมองเห็นปัญหาเรื่องนี้มานานแล้ว” อ.สง่า กล่าวและบอกด้วยว่า การที่เด็กได้กินอาหารไม่พอ บ่งบอกว่า ความเสมอภาคทางด้านอาหารไม่ทั่วถึง จะส่งผลระยะยาว เมื่อเด็กโตเป็นผู้ใหญ่คุณภาพคนในชาติก็จะแย่ GDP ของประเทศต่ำ แพ้ประเทศอื่นๆ เพราะคนด้อยคุณภาพจากโภชนาการไม่ดี กลายเป็นผลกระทบต่อสังคมและประเทศชาติ

161363643270

           

ปัญหาที่สอง คือเรื่อง ความด้อยโอกาสของเด็กนักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาส ซึ่งส่วนใหญ่ 90 เปอร์เซ็นต์จะอยู่ในถิ่นกันดาร และมักจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่เปิดให้มีมัธยม 1-3 ในโรงเรียน เพื่อให้เด็กต่างจังหวัดได้เรียนจนจบ ปัญหาที่พบในโรงเรียนขยายโอกาส คือ เด็กโต ไม่มีอาหารกลางวันกิน แต่ทางโรงเรียนมักจัดการ เพื่อให้เด็กมัธยมได้รับประทานด้วย

“จึงเกิดผลกระทบทั้งโรงเรียน เพราะคุณภาพอาหารกลางวันเด็กประถมลดลง พี่ได้กินแต่ก็ไม่อิ่ม ส่งผลให้ได้ทานอาหารกลางวันแบบมีไม่มีคุณภาพทั้งพี่และน้อง” อ.สง่า กล่าว

ปัญหาที่สามที่อาจารย์สง่าอยากจะบอก คือ คุณภาพอาหารไม่ได้อยู่ที่ราคา แต่อยู่ที่แม่ครัว ครู ผู้อำนวยการโรงเรียน นายกอบต. หรือเจ้าหน้าที่ รพสต. บุคคลกลุ่มนี้มีความฉลาดรอบรู้ด้านโภชนาการต่ำ ขาดทักษะ องค์ความรู้ เพื่อจะทำอาหารให้เด็กนักเรียนกินอย่างถูกต้อง แม้จะมี Thai School Lunch เข้าไปใช้ แต่ก็อาจจะใช้แบบผิด ๆ ถูก ๆ เพราะไม่มีคนที่มีความรู้จริงด้านโภชนาการอยู่ที่โรงเรียน หรือในท้องถิ่นนั้น ๆ ดังนั้นประเทศไทยควรมีนักโภชนาการท้องถิ่น เพื่อแนะนำอาหารการกินให้คนในชุมชน

“ผมอยากบอกว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่ถูกมองเห็น เป็นปัญหาใหญ่ที่เราก้าวข้ามไปไม่ได้ ซึ่งผมพยายามผลักดันมาแล้ว 8 ปี กำลังเริ่มมีลู่ทางที่จะเป็นไปได้ที่เราอาจจะมีนักโภชนาการของแต่ละตำบลเกิดขึ้นในอนาคต” อ.สง่า กล่าว

ส่วนปัญหาสุดท้าย คือ กลไก ระบบ ระเบียบที่มนุษย์สร้างขึ้น แล้วไม่เอื้อต่อการที่นำเงินในท้องถิ่นที่มีอยู่มาทำให้เด็กได้เข้าถึงอาหาร เนื่องจากมีกฎ ระเบียบ หลายตัวไม่เอื้อให้โรงเรียน กับ ท้องถิ่นทำงานประสานกัน เช่น ตำบลหนึ่งมีโรงเรียนขยายโอกาสอยู่ 2 โรงเรียน แต่กฎระเบียบไม่เอื้อให้ท้องถิ่นสามารถนำเงินมาอุดหนุนค่าอาหารกลางวันในโรงเรียนขยายโอกาสได้ รวมไปถึงเรื่องการจัดจ้างนักโภชนาการก็ยังไม่ชัด จ้างแล้วต้องจะโดนตรวจสอบไหม

“กฎระเบียบการโอนเงินมีปัญหา จากรัฐบาลกลางส่งให้กระทรวงมหาดไทย มหาดไทยส่งให้ท้องถิ่น ท้องถิ่นส่งให้ อบต. หลังจากนั้น อบต. ต้องรอให้โรงเรียนเขียนโครงการเข้ามาขอเงิน ว่า เด็กขาดอาหารกี่คน กว่าจะได้เงินก็หมดเทอมพอดี เงินล่าช้า และนี่คือปัญหาที่เกิดจากกฎระเบียบที่ไม่ได้ถูกแก้ไข” อ.สง่า กล่าวและเสนอว่า กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และสสส. ต้องจัดเวทีเพื่อแก้ปัญหา และหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้ก้าวข้ามปัญหานี้ไปให้ได้เสียที

ปัญหานี้เหล่านี้ ต้องยอมรับว่าผลกระทบก็คือเด็กและครู โรงเรียนขนาดเล็กเมื่อได้ค่าอาหารต่อหัวต่ำ บางวันครูก็เอาเงินตัวเองไปใส่เพิ่ม เพราะกลัวว่าลูกศิษย์จะไม่อิ่ม อย่างเช่นที่โรงเรียนดอนผอุง ต.คูเมือง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เป็นโรงเรียนขนาดเล็กมีนักเรียนเพียง 35 คน เท่ากับว่าการขึ้นค่าอาหารกลางวันเป็น 21 บาท โรงเรียนแห่งนี้จะได้เงินเพิ่มอีก 35 บาทเท่านั้น

ส.ต.ท.กฤสพัฒฐ์ พิมพ์เพ็ง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านดอนผอุง บอกว่า เพิ่มขึ้นเท่านี้คงซื้ออะไรได้ไม่มาก แต่ที่ผ่านมานั้น ทางโรงเรียนได้ใช้หลักการพึ่งพาตนเองส่วนหนึ่งด้วย เพราะจำนวนเงิน 20 บาทต่อคนต่อวัน ไม่เพียงพอต่อนักเรียนมานานแล้ว เมื่อขยับเป็น 21 บาท ก็คงไม่เพียงพออีกเช่นกัน

161363645398

         

ก่อนหน้านั้นโรงเรียนดอนผอุง เคยใช้วิธีจ้างแม่ครัววันละ 200 บาท เหลือเงิน 500 บาท เมื่อนำมาคำนวณเฉลี่ยแล้วเด็กนักเรียน จะได้ไม่ถึง 20 บาทต่อคน ทางโรงเรียนจึงแก้ปัญหาด้วยการปลูกข้าวทานเอง ปลูกผักตามฤดูกาล ปลูกไม้ผล เลี้ยงปลา เพื่อให้มีเนื้อสัตว์ สามารถเก็บมาทำได้อาหารกลางวันได้เพียงพอทุกวัน ดังนั้นจึงเน้นการซื้อวัตถุดิบมาทำ โดยเอาในแปลงของโรงเรียนเป็นตัวเสริม ยกเว้นข้าวที่ปลูกกินเองได้เต็มที่

เมื่อถึงขั้นตอนการเตรียมอาหาร ทาง ส.ต.ท.กฤสพัฒฐ์ บอกว่า ให้ครูกับนักเรียนจัดเวรเพื่อทำอาหารกลางวันกัน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการจ้างคนทำครัว ทำให้มีเงินเหลือมาซื้อวัตดุดิบทำอาหารแต่ละวัน แต่ผลเสียคือ ครูและนักเรียนต้องเสียเวลาในการเข้าครัวเตรียมอาหาร แต่ก็ต้องยอมรับในจุดนี้ เพราะไม่มีทางเลือกจริงๆ

“ส่วนตัวแล้วรู้สึกว่า การอุดหนุนอาหารกลางวันเด็กจาก 20 บาท เป็น 21 บาท ไม่ได้ช่วยอะไร การอนุมัติแบบนั้นอาจจะเป็นเพราะไม่เคยได้เห็นพื้นที่จริง จึงไม่ทราบปัญหาว่าเป็นอย่างไร สำหรับผมไม่กล้าเสนอแนะอะไร คงต้องดำเนินการและจัดการแก้ไขในพื้นที่รับผิดชอบของตัวเอง เพื่อให้เด็กกินอิ่ม ได้อาหารมีคุณภาพตามที่ตัวเองต้องจัดการต่อไป” ผอ.โรงเรียนบ้านดอนผอุง กล่าว

ขณะที่ นางจงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้จัดการโครงการศูนย์เรียนรู้ต้นแบบโรงเรียนเด็กไทยแก้มใส สถาบันสร้างเสริมวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ กล่าวว่า ตนได้การพูดคุยกับหลายโรงเรียนในประเด็นดังกล่าว จึงอยากสรุปเป็นข้อเสนอแนะ คือ อยากให้มีการทบทวนมติครม.นี้ใหม่ ควรพิจารณาในประเด็นดังนี้ คือกรณีโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนมากกว่า 200 คน ไม่ควรขึ้นค่าอาหารกลางวัน แต่ควรดูแลโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 200 คน โดยกำหนดขึ้นค่าอาหาร ลดหลั่นกันไป หรือจะใช้สูตรแยกคิด โดยดึงค่าใช้จ่ายประจำออกมาก่อน เช่น ค่าแม่ครัว ค่าแก๊ส ค่าน้ำยาล้างจานค่า ฟองน้ำล้างจาน เป็นต้น จะได้ประมาณ 400 บาทต่อโรงเรียน แล้วจึงมาคิดค่าวัตถุดิบ เช่น ค่าวัตถุดิบล้วน ๆ 25 บาทต่อคน ก็อาจจะเพียงพอ

“อีกข้อเสนอแนะหนึ่ง คือ ควรนำงบไปอุดหนุนโรงเรียนขยายโอกาสที่มีนักเรียนมัธยมต้นด้วย เนื่องจากโรงเรียนเหล่านั้น ได้จัดจ้างแม่ครัวมาประกอบอาหารกลางวันอยู่แล้ว เพียงแต่เพิ่มค่าวัตถุดิบเผื่อไปให้นักเรียนมัธยมด้วย เพื่อเด็ก ๆ จะได้ทานอาหารอย่างมีคุณภาพ และยังเป็นการสร้างโอกาสให้นักเรียนยากจนได้มีโอกาสเรียนต่อจนจบภาคบังคับ” นางจงกลนี กล่าว.

161363646942