'ธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์' ทางรอดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย?
ธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์ หรือการท่องเที่ยวแบบ virtual ในทุกๆ มิติ จะเข้ามาตอบโจทย์ยุคโควิด-19 นอกจากนักท่องเที่ยวจะได้ท่องเที่ยวแบบเสมือนจริงแล้ว ฝั่งของผู้ประกอบการยังคงมีรายได้จากการเข้าชมและของฝาก ของที่ระลึกเช่นกัน
ปัจจุบัน ผู้คนที่เกี่ยวข้องกับวงการท่องเที่ยว ต่างเฝ้ารออย่างใจจรดจ่อว่า เมื่อใดจะสามารถเปิดประเทศให้ผู้มาเยือนเข้ามาในประเทศได้เหมือนเดิม และหวังเอาไว้ว่าน่าจะเป็นภายในปีนี้
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมสายการบินเอเชียแปซิฟิก (Association of Asia Pacific Airlines) ได้คาดการณ์การเปิดประเทศของประเทศต่างๆในเอเชีย ว่าประเทศใดจะสามารถเปิดรับคนต่างชาติเข้ามาในประเทศได้โดยไม่ต้องมีการกักตัว (7 ถึง 14 วันขึ้นอยู่กับข้อกำหนด) โดยคาดว่ากลุ่มประเทศในเอเชียแปซิฟิกที่สามารถจะเปิดรับผู้เดินทางจากต่างประเทศเข้าประเทศได้โดยไม่ถูกกักตัวกลุ่มแรกคือ ฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน โดยจะเปิดประเทศได้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564
ตกใจใช่ไหมคะ ทำไมต้องใช้เวลานานขนาดนั้น เพราะสมาคมเชื่อว่า การตัดสินใจเปิดประเทศจะเกิดขึ้นได้ ประชากรต้องได้รับการฉีดวัคซีนไปมากพอที่จะมีภูมิคุ้มกันหมู่ และแม้จะสัมผัสกับผู้เดินทางจากต่างประเทศที่ติดเชื้อ ประชากรของตนก็จะไม่ติดเชื้อไปด้วย ดังนั้น การคาดการณ์นี้จึงเป็นการคาดการณ์จากแผนการฉีดวัคซีนให้ได้ในวงกว้างค่ะ
กลุ่มประเทศที่สองซึ่งจะสามารถเปิดรับคนจากนอกประเทศได้ในไตรมาสแรกของปี 2565 คือ ออสเตรเลีย มาเก๊า และนิวซีแลนด์
ตามมาด้วย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเวียดนาม ในไตรมาสที่สอง ของปี 2565
ส่วนในไตรมาสที่สาม ก็จะถึงคิวของประเทศไทย บรูไน จีน และมัลดีฟส์
ตามด้วยอินเดีย มองโกเลีย และมาเลเซีย ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565
ส่วนประเทศที่จะสามารถเปิดในปี 2566 มีดังนี้ ภูฏาน ไตรมาสที่สอง อินโดนีเซีย ไตรมาสที่สาม และไตรมาสที่สี จะมีหลายประเทศคือ บังกลาเทศ เนปาล นิวแคลิโดเนีย ฟิลิปปินส์ ซามัว และตองกา
ปี 2567 มีปากีสถานประเทศเดียว ที่จะเปิดได้ในไตรมาสที่สาม
ส่วนที่เหลือ คืออัฟกานิสถาน กัมพูชา ฟิจิ ลาว พม่า เกาหลีเหนือ ปาปัวนิวกินี ศรีลังกา หมู่เกาะโซโลมอน ติมอร์เลสเต และวานูอาตู ต้องรอไปถึง 2568 หรือหลังจากนั้น
ถามว่า มีปัจจัยอะไรที่จะเร่งให้เร็วขึ้นได้ไหม ดิฉันคิดว่าการคาดการณ์นี้อยู่บนสมมุติฐานของการจัดหาและฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในขณะนี้ และความปลอดภัยทางการแพทย์ ซึ่งหากมีปัจจัยอื่น เช่น มีเรื่องการเมืองหรือเศรษฐกิจเข้ามากดดัน หรือมีการผลิตวัคซีนได้เองในประเทศนั้นๆ ในจำนวนที่เพียงพอ การคาดการณ์นี้ก็สามารถขยับขึ้นมาได้ อย่างไรก็ดีผู้เกี่ยวข้องต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะชีวิตของทุกคนเป็นเรื่องสำคัญ
ประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวมากมายอย่างประเทศไทย เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวด้วยตนเองไม่ได้ และคาดว่ากว่าจะมาได้โดยไม่ต้องกักตัว จะต้องใช้เวลาอีกปีครึ่งจากนี้ ดิฉันจึงมีข้อเสนอแนะดังนี้ค่ะ
ประเด็นแรก กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา น่าจะระดมผู้อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและตกงาน มาช่วยกันทำองค์ความรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น ความรู้แบบลึกของความชอบ (in depth preference) ของคนแต่ละชาติ (พวกไกด์จะมีเกร็ดเหล่านี้เยอะค่ะ) ชอบเที่ยวแบบไหน ชอบทานอะไร ชอบของฝากแบบไหน ฯลฯ และมีอะไรที่ไม่ชอบบ้าง ฯลฯ เพื่อเป็นแนวทางในการให้บริการอย่างดีเลิศ และ จัดการท่องเที่ยวแบบเฉพาะเจาะจง (customized) ให้กับนักท่องเที่ยวได้ ต่อไป
ประเด็นที่สองคือ อยากให้ทำการท่องเที่ยวแบบ virtual ในทุกๆ มิติ ท่องเที่ยวธรรมชาติ เชิงวัฒนธรรม ผจญภัย แบบหรูหรา แบบสงบ แบบพักใจ ฯลฯ ซึ่งสามารถเก็บเงินผู้เข้าชม และผู้เข้าชมสามารถซื้อของฝาก ของที่ระลึกคุณภาพดี บริการจัดส่งให้ถึงบ้าน ได้ค่ะ นอกจากจะเหมาะกับยุคโควิดแล้ว ยังเหมาะกับ ageing society ของโลก ซึ่งจะใช้ได้ต่อไปในระยะยาวด้วย ร่วมมือกับมือทำสารคดีเก่งๆ เช่น ป่าใหญ่ครีเอชั่น สำหรับเจาะกลุ่มฝรั่ง คุณฟูจิ “ดูให้รู้” สำหรับจับกลุ่มญี่ปุ่น ฯลฯ
อยากให้ทำจริงๆค่ะ ทำเป็น virtual reality version เลย หรือผสมกันทำเป็น วิดีโอก็ได้ค่ะ
ประเด็นที่สาม คนที่ไม่ได้เดินทางนานๆ อาจเสพติดการท่องเที่ยวผ่านทางภาพยนตร์ หรือคลิปวิดีโอต่างๆ ดังนั้น เราต้องสร้างสิ่งที่จะดึงดูดให้คนต้องมาเที่ยวด้วยตนเองในภายหลัง และ “อาหาร” คือสิ่งที่จะดึงดูดให้คนทุกกลุ่มอยากสัมผัสของจริง
ดิฉันเคยเขียนไว้หลายปีแล้วว่า เราต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอาหารของเรา ให้ผลิตผลทางการเกษตรของเรามีคุณภาพสูง รสชาติดี จะสามารถเรียกราคาได้สูง ถ้าจะเป็นเจ้าแห่งอาหาร ต้องมีของที่หลากหลาย ที่สำคัญต้องมีของดี ของพรีเมียม และสร้างความประทับใจให้กับผู้บริโภคว่า ถ้าจะหาอาหารพรีเมียม ต้องหาจากประเทศไทยค่ะ
เชื่อว่า การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการเกษตร ที่เรียกว่า Agri-Tech นั้น จะช่วยทำให้การเกษตรของเราเพิ่มมูลค่าได้สูงขึ้นจริงๆ
นอกเหนือจากวัตถุดิบที่จะนำมาเป็นเครื่องปรุงแล้ว ฝีมือการปรุงก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งประเทศไทยมีชื่อในเรื่องการปรุงอาหารอร่อยอยู่แล้ว
กระทรวงอุตสาหกรรม เข้าไปช่วยร้านอาหารทำเครื่องปรุงสำเร็จรูป ส่งวัตถุดิบและเครื่องปรุงเป็นแพค และส่งไปขาย ให้เขาลองทำรับประทานเอง โดยดูวิธีปรุงจากคลิปวีดิโอ หรือทำเป็นอาหารแช่แข็งส่งออก แต่ขายอาหารข้ามประเทศมีข้อกำหนดมากมาย คงไปได้ไม่กี่ประเทศ
และประเด็นสุดท้าย มาช่วยกันสนับสนุนให้เกิดวัคซีนของเราเร็วๆ คือ วัคซีนของมหาวิทยาลัยมหิดล ของคณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ และของใบยาไฟโตฟาร์ม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งยังเปิดรับการสนับสนุนเงินบริจาคจากท่านอยู่จนถึงสิ้นปีนี้ค่ะ