‘DLA Magazine’เชื่อม ศก.ไทย - ละตินอเมริกา
พิษโควิด-19 ส่งผลให้การค้าการลงทุนไทย - ละตินอเมริกาชะลอตัวบ้าง สภาธุรกิจฯ ตั้งเป้าคาดหลังการแพร่ระบาดไวรัส เฉพาะการค้าจะเติบโต 5 - 10%
"ละตินอเมริกา" เป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ และมีหลายประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตน่าจับตา “วิชชุ เวชชาชีวะ” อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงนิตยสารออนไลน์ DLA Magazine ที่จะเปิดตัวฉบับปฐมฤกษ์ ในเดือน มี.ค. 2564 ว่า DLA Magazine นำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศในภูมิภาคละตินอเมริกาและแคริบเบียน (GRULAC) ทั้ง 33 ประเทศ ในมิติหลากหลายที่จะช่วยเพิ่มพูนความรู้ และเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับคนไทยเกี่ยวกับภูมิภาคภูมิภาคละตินอเมริกาและแคริบเบียน ในฐานะตลาดใหม่ที่มีกำลังซื้อสูงและมีองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว
DLA Magazine ฉบับปฐมฤกษ์ มีเนื้อหาหลักเกี่ยวกับความร่วมมือไทย-ละตินอเมริกา เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างยั่งยืน ตามแนวทางของวาระแห่งชาติ ซึ่งเน้นการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (ฺBCG)
หากพิจารณาประเทศที่เป็นคู่ค้าไทยในภูมิภาคอเมริกาและแปซิฟิกใต้ พบว่า สหรัฐเป็นประเทศที่มีมูลค่าการค้าสูงสุด รองลงมาเป็นออสเตรเลีย เม็กซิโก และบราซิล แต่ถ้านำมูลค่าการค้าเม็กซิโกกับบราซิลมารวมกัน พบว่าสูงกว่าครึ่งหนึ่งของออสเตรเลีย เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศในภูมิภาค GRULAC
ในแง่ความเป็นตลาดสินค้า นอกเหนือจากที่ละตินอเมริกาเป็นตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ หลายประเทศอย่างชิลี เปรู โคลอมเบีย ยังเป็นชื่นชอบบริการของไทย โดยเฉพาะร้านอาหาร ขณะที่ในเม็กซิโกให้ความนิยมภาพยนต์และละครซีรีส์ของไทยอย่างมาก
“โอกาสการค้าการลงทุนระหว่างไทย - ละตินอเมริกา เป็นลักษณะต่างฝ่ายต่างได้ ยิ่งการลงทุนด้านพลังงานถือเป็นความท้าทายกับประเทศไทย ในการเข้าไปร่วมสำรวจแหล่งพลังงานเพื่อการลงทุนในอนาคต” วิชชุกล่าว และระบุว่า ถ้าพิจารณาในเชิงภูมิศาสตร์ ละตินอเมริกาเป็นช่องทางผ่านสินค้าที่สำคัญส่งผลดีต่อความร่วมมือด้านโลจิสติกส์
การบริหารจัดการคลองปานามา ซึ่งเป็นเส้นทางผ่านของเรือสินค้าที่สำคัญในภูมิภาคละตินอเมริกา จะเป็นต้นแบบให้ประเทศไทยได้ศึกษา ในเรื่องการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจ รวมทั้งธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆ เช่น ธุรกิจไฟแนนซ์และระบบศุลากร สอดคล้องกับการที่รัฐบาลไทยต้องการจะผลักดันให้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียน และอนุภูมิภาค CLMV (กัมพูชา - ลาว เมียนมา - เวียดนาม)
ขณะเดียวกันนโยบายใหม่ของไทยมุ่งผลักดันโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลอันดามันและอ่าวไทย (Landbridge) ระหว่างท่าเรือแหลมฉบัง ไปยังชุมพรและระนอง เพื่อเชื่อมต่อไปยังมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งไทยสามารถเรียนรู้การสร้างธุรกิจเครือข่ายโลจิสติกส์ และไฟแนนเชียล รวมทั้งมาตรการสนับสนุนและเพิ่มแรงจูงใจจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคละตินอเมริกา เพื่อผลักดันให้ไทยก้าวไปสู่เป้าหมายที่วางไว้
นิตยสารออนไลน์ DLA Magazine ซึ่งต่อยอดจากแอพพลิเคชั่นภาษาไทยชื่อว่า Discover Latin America และเป็นแอพพลิเคชั่นแรกของไทยที่ได้รวบรวมอัพเดทข้อมูลพื้นฐานด้านภูมิศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และเศรษฐกิจของทุกประเทศในละตินอเมริกาและแคริบเบียน
"มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์" ประธานสภาธุรกิจ ไทย - ละตินอเมริกา กล่าวถึงมุมมองการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ผ่านความสัมพันธ์ไทย-ละตินอเมริกาว่า สภาธุรกิจฯ ได้พูดคุยเอกอัครราชทูตในประเทศกลุ่มละตินอเมริกา โดยเริ่มจาก 9 ชาติที่มีเศรษฐกิจใหญ่จัดได้ว่า เป็นกระดูกสันหลังของภูมิภาค และได้เห็นพ้องจะขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวร่วมกัน
อาร์เจนตินา ในฐานะประธานกลุ่มประเทศ GRULAC เป็นอีกหนึ่งประเทศที่น่าสนใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว และมุ่งพัฒนาให้เกิดพลังงานทางเลือกที่หลากหลาย ซึ่งเกษตรกรชาวอาร์เจนตินาได้รวมกันในชุมชนนำเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรมาดัดแปลงเป็นแหล่งพลังงานใหม่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม เช่น การนำซังข้าวโพดมาอัดเม็ดหรือที่เรียกว่า “pellet” ไปเผาให้พลังงานพัฒนาไปสู่โรงไฟฟ้าชุมชน
บราซิล แหล่งปลูกอ้อยอันดับ 1 ของโลก รองลงมาเป็นประเทศไทย พบว่าเบื้องหลังการผลิตน้ำตาลมักจะมีชานอ้อยเหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก รัฐบาลบราซิลสนับสนุนให้ใช้ประโยชน์จากชานอ้อยทดแทนการเผาที่ก่อมลพิษ โดยเปลี่ยนเป็นนำซากชานอ้อยไปผ่านกระบวนการหมักเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาล เพื่อได้เอทานอลเป็นแอลกอฮอล์ ซึ่งการเรียนรู้ประโยชน์จากบราซิล สามารถผลักดันให้ไทยเป็นเอทานอล ฮับของเอเชียได้
ชิลี ถือว่าเป็นศูนย์กลางทางการเงินของลาตินอเมริกาและแคริเบียน โดดเด่นเรื่องการพัฒนาระบบการชำระเงิน (Payment Gateway) สอดคล้องกับธุรกิจสีเขียว ซึ่งจะให้ความมั่นใจกับผู้ประกอบการไทยที่มาทำการค้าว่า โอนเงินกลับประเทศได้สะดวก
ก่อนนี้ มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับประเทศในละตินอเมริกายังไม่สูงเท่าทีควร และในปีที่ผ่านมา พิษโควิด-19 ได้ส่งผลต่อการค้าและการลงทุนชะลอตัวลงบ้าง ซึ่งการให้ข้อมูลทางเศรษฐกิจ จะเป็นส่วนสำคัญประกอบการตัดสินใจเพื่อการค้าการลงทุน สภาธุรกิจฯ ตั้งเป้าหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า คาดว่า จะเติบโต 5 - 10%
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงน้ำจิ้มเล็กน้อย แต่สามารถหาอ่านให้จุใจในนิตยสารออนไลน์ DLA Magazine สามารถดาวน์โหลดได้ทางแอพพลิเคชั่นดิสโคฟเวอร์ละตินอเมริกา ซึ่งมีในแอพสโตร์ และกูเกิลเพย์สโตร์ได้ตั้งแต่เดือน มี.ค.2564