STGTออเดอร์ล้น! ราคาพุ่ง-ไม่หวั่นวัคซีน
ถูกพูดถึงตั้งแต่ยังไม่เข้าตลาดเลยสำหรับหุ้น บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT
ในฐานะบริษัทลูกของบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ด้วยการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายถุงมือยางรายใหญ่ที่สุดของไทยและอันดับ 3 ของโลก จึงเรียกความสนใจจากนักลงทุนอย่างมาก
หลัง “ถุงมือยาง” กลายเป็นหนึ่งในสินค้าดาวเด่นยุคโควิด หลายคนจึงเฝ้ารอการเข้าเทรดของ STGT ซึ่งต้องบอกว่าไม่ทำให้ผิดหวัง เปิดซื้อขายวันแรก 2 ก.ค. 2563 ราคาพุ่งแรงติดจรวด 55.25 บาท เพิ่มขึ้น 62.50% จากราคาไอพีโอที่ 34 บาท
จากนั้นราคาหุ้นยังอยู่ในช่วงขาขึ้น สลับการปรับฐานเป็นระยะ โดยขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 47.25 บาท ก่อนที่จะมีการแตกพาร์จากหุ้นละ 1 บาท มาเป็น 0.50 บาท เมื่อวันที่ 5 ม.ค. ที่ผ่านมา
โดย จริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ให้สัมภาษณ์ในรายการกรุงเทพธุรกิจ BIZ INSIGHT ว่า การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการถุงมือยางในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยปัจจุบันมีดีมานด์ราว 4-6 แสนล้านชิ้นต่อปี เทียบกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาดอยู่ที่ 3 แสนชิ้นต่อปี หรือ เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว
ในขณะที่กำลังการผลิตทั้วโลกมีเพียงแค่ 3.6-3.7 แสนล้านชิ้นต่อปีเท่านั้น ส่งผลให้ปริมาณถุงมือยางยังขาดแคลน เนื่องจากมีดีมานด์มากกว่าซัพพลาย และคาดว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า แม้ว่าปัจจุบันหลายประเทศจะเริ่มฉีดวัคซีนโควิดแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถควบคุมโรคระบาดได้ทันที
เชื่อว่าถุงมือยางยังเป็นสิ่งจำเป็น เพราะแพทย์ที่ฉีดวัคซีนต้องใส่ถุงมือ และต้องเปลี่ยนถุงมือทุกครั้งเมื่อมีคนไข้ใหม่เข้ามารับบริการ ขณะที่หนึ่งคนก็ต้องฉีดวัคซีนถึง 2 ครั้ง นอกจากนี้ จะเห็นว่าตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ประชาชนทั่วไปหันมาใช้ถุงมือยางกันมากขึ้น ไมได้จำกัดอยู่แค่วงการแพทย์เท่านั้น คนที่ทำงานด้านบริการ โรงแรม ร้านอาหาร ขนส่ง โลจิสติกส์ ก็ใช้ถุงมือยางเพื่อป้องกันเชื้อโรคเช่นกัน
“ตัว Emergency Demand อาจจะลดลงไปบ้าง แต่ดีมานด์จากการใช้งานปกติยังดีอยู่ มีลูกค้าจากส่วนอื่นๆ มากขึ้นไม่ใช่แค่วงการแพทย์ เพราะทุกธุรกิจก็ยกระดับเรื่องมาตรฐานสุขอนามัย เรามองว่าดีมานด์ไม่ได้ลดลงแม้จะมีวัคซีนแล้ว”
สำหรับบริษัทยังมีออเดอร์เข้ามาต่อเนื่อง โดยถุงมือยางสังเคราะห์มีคำสั่งซื้อล่วงหน้ายาวไปถึง 30 เดือน ถึงปี 2566 ส่วนถุงมือยางธรรมชาติมีคำสั่งซื้อไปถึงต้นปี 2565 ลูกค้าไม่ได้ยกเลิกออเดอร์แม้ว่าเริ่มมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วก็ตาม
ส่วนราคาถุงมือยางยังอยู่ในช่วงขาขึ้น เนื่องจากปริมาณการผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ ทำให้ผู้ผลิตสามารถปรับราคาขายขึ้นได้ โดยราคาเฉลี่ยเมื่อปี 2563 เพิ่มขึ้นถึง 80% จากปี 2562 ที่ยังไม่เกิดการระบาดของโควิด-19 หรือ จากราคาประมาณชิ้นละ 0.60 บาท ปัจจุบันปรับขึ้นมาอยู่ที่ชิ้นละเกือบ 2 บาท ส่วนราคาจะลดลงเมื่อไหร่นั้น ต้องดูกันเดือนต่อเดือน ยังไม่สามารถตอบได้ แม้ดีมานด์ยังสูง แต่ราคาขายขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านการตลาดอื่นๆ ด้วย
ด้านแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2564 บริษัทตั้งเป้าปริมาณการขายถุงมือยางที่ 3.2 หมื่นล้านชิ้น เติบโต 14% จากปีก่อน ส่วนรายได้กำไรจะเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับราคาขายเฉลี่ยทั้งปีด้วย ซึ่งเบื้องต้นในไตรมาสแรกนี้ราคาขายปรับเพิ่มขึ้นอีกราว 20%
โดยปัจจุบันลูกค้าหลักของบริษัทอยู่ในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40%, สหรัฐฯ 20%, ยุโรป 20% ที่เหลืออยู่ในแอฟริกา ตะวันออกกลาง และอื่นๆ โดยกลยุทธ์ปีนี้บริษัทยังคงเน้นทำตลาดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีอัตราการเติบโตสูงมาก เพราะยังมีอัตราการใช้ถุงมือยางค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว จึงมีโอกาสเติบโตได้อีกเยอะ
“กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเป็นเป้าหมายของเราอยู่แล้ว เมื่อมีโควิดทำให้เราเข้าไปเจาะตลาดได้เร็วขึ้น เมื่อเขารู้จักถุงมือยาง พอเริ่มใช้ ก็จะคุ้นเคย สุดท้ายก็จะกลายเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ ในเอเชียจะเอาถุงมือยางธรรมชาติเข้าไปเปิดตลาดให้มากขึ้น ส่วนสหรัฐฯ ยังน่าสนใจ เพราะซัพพลายขาดแคลนมาก แต่ความต้องการยังสูง สินค้าหลักจะเป็นกลุ่มถุงมือยางสังเคราะห์”
ขณะที่เหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานในจังหวัดสาขาสุราษฎร์ธานีแห่งที่ 2 เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา ประเมินว่าจะทำให้ปริมาณการผลิตปีนี้หายไปราว 200 ล้านชิ้น แต่ไม่น่ามีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เพราะคิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 0.6% ของเป้าหมายปริมาณการขายทั้งปีที่ 3.2หมื่นล้านชิ้นเท่านั้น
โดยจุดที่เกิดเพลิงไหม้เป็นพื้นที่ส่วนต่อขยายของโรงงานซึ่งเพิ่งจะเริ่มทดสอบเดินเครื่องจักรผลิตสินค้าในเดือนนี้ จึงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตของโรงงานเดิม เบื้องต้นคาดว่าจะกลับมาเดินเครื่องการผลิตอีกครั้งภายใน 2-3เดือน ขณะเดียวกันตัวโรงงานได้มีการทำประกันอัคคีภัยช่วยคุ้มครองความเสียหายไว้