แนะ "ปลูกกัญชาระบบปิด" สร้างมาตรฐานชูเป็นวาระแห่งชาติ
ข้อมูล New Leaf Data Services,LLC.All right reserved ซึ่งได้มีการเก็บแนวโน้มตลาดกัญชาตามรูปแบบของการปลูก (ในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.2564) พบว่า การปลูกในโรงเรือนระบบปิด (Indoor) จะมีมูลค่าทางการตลาดมากที่สุด
เมื่อเทียบกับการปลูกโรงเรือนแบบกรีนเฮาท์(Greenhouse) และโรงเรือนระบบเปิด (Outdoor) อาทิ วันที่ 1 ม.ค. 2564 มูลค่าของตลาดกัญชาตามการปลูกระบบปิด มีมูลค่า 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ ระบบกรีนเฮาท์ 1,343 ดอลลาร์สหรัฐ และระบบเปิด 952 ดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่ข้อมูลเดือนก.พ.พบว่า วันที่ 5 ก.พ.2564 ปลูกระบบปิด มีมูลค่า 1,942 ดอลลาร์สหรัฐ ระบบกรีนเฮาท์ 1,297 ดอลลาร์สหรัฐ และระบบเปิด 829 ดอลลาร์สหรัฐ และวันที่ 12 ก.พ.2564 ปลูกระบบปิด มีมูลค่า 1,971ดอลลาร์สหรัฐ ระบบกรีนเฮาท์ 1,306 ดอลลาร์สหรัฐ และระบบเปิด 800 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งด้วยมูลค่าตลาดการปลูกในระบบต่างๆ มีผลต่อการเลือกซื้อขายส่งออกกัญชาในแต่ละประเทศ
“การปลูกกัญชา” ให้ได้รับมาตรฐานจึงมีความสำคัญอย่างมาก แม้กระทรวงสาธารณสุขได้ปลดล็อคส่วนของกัญชาและกัญชง ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่จัดเป็นยาเสพติด แต่การปลูกต้องได้รับการขออนุญาต
ล่าสุด “คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร”ได้ศึกษาปลูกกัญชาเพื่อทางการแพทย์และเชิงพาณิชย์ ภายใต้ “โครงการวิจัยการสร้างเทคโนโลยีการผลิต (ปลูก) กัญชามาตรฐานทางการแพทย์ (Medical Grade)เพื่อพัฒนาสายพันธุ์กัญชาไทยให้เป็นสายพันธุ์กัญชาที่มีคุณลักษณะพิเศษในการให้ปริมาณสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ทางยาสูงและเพื่อใช้ประโยชน์ในการผลิตเมล็ดพันธุ์” สร้างฐานข้อมูลสำคัญให้แก่ประเทศ เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าวิจัยกัญชาร่วมกับภาครัฐและเอกชน ในการสร้างผลิตภัณฑ์สามารถใช้ทางการแพทย์ และเชิงพาณิชย์
“ไพศาล การถาง” รองคณบดีฝ่ายบริหารและวางแผน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.พระนคร กล่าวว่าขณะนี้มูลค่าตลาดกัญชาเติบโตเร็วมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งกัญชา สามารถใช้ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ได้ โดยเริ่มต้นจากการจัดตั้งรูปแบบการวิจัยสำหรับกัญชาทางการแพทย์ ศึกษาพันธุ์ไทยเป็นหลัก เพื่อทำให้พันธุ์ไทยมีศักยภาพในการต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ ทั้งการแพทย์ อาหาร และเครื่องสำอาง
โดยมทร.พระนคร ใช้เมล็ดพันธุ์กัญชาฝอยทอง ภูผายล จากมทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร โดยการศึกษาวิจัยได้มีการทดลองทั้งในระบบปิด กรีนเฮาท์ และระบบเปิด พบว่า ระบบปิดได้กัญชาที่มีมาตรฐานมากที่สุด และเป็นการปลูกในระบบที่ตลาดทั่วโลกต้องการ โดยเริ่มตั้งแต่ปลูก สกัดกลั่น เก็บเกี่ยว และทำให้สารสกัดกัญชา โดย CBD จะมีความบริสุทธิ์ระดับ 99% และTHC ไม่เกิน 0.01 โดยน้ำหนัก โดยCBD ในเงื่อนไขนี้ จะเป็นCBD เดียวที่จะถูกยกเว้นไม่เป็นยาเสพติด และสามารถนำไปใช้ได้ทั้งการแพทย์ อาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง เพื่อให้กัญชา สารสกัดจากกัญชาเป็นไปตามมาตรฐานระดับสากล
ทั้งนี้ จากการศึกษาวิจัย พบว่าการปลูกกัญชาในโรงเรียนระบบปิด สามารถควบคุมสภาพแวดล้อม ทั้งอุณหภูมิ แสง และความชื้น ทำให้ได้กัญชาที่มีคุณภาพ ขณะเดียวกับลดความเสี่ยงต่อการเข้าทำลายของศัตรูพืชต่ำ ผลผลิตสูงทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ สามารถควบคุมความคงที่ของผลผลิตทั้งในเชิงสารสำคัญและปริมาณผลผลิต ที่สำคัญสามารถวางแผนการปลูกและเก็บเกี่ยวได้ทั้งปี
ดังนั้น หากจะส่งเสริมการปลูกกัญชาควรปลูกระบบปิด และต้องมีผู้เชี่ยวชาญ เข้าใจนิสัยของกัญชาด้วย เพราะถ้าจะปลูกกัญชาเพื่อนำมาใช้ทางการแพทย์ เชิงพาณิชย์ได้มาตรฐาน ต้องมีความระมัดระวัง โดยหลังจากนี้ มทร.พระนครจะสร้างแพลตฟอร์มในการศึกษาและถ่ายทอดไปยังชุมชน ชาวบ้าน เพื่อให้เข้าใจว่าการปลูกแต่ละแบบเป็นอย่างไร และการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมเข้ามาใช้จะช่วยอย่างไรได้บ้าง
“กัญชาเป็นการบำบัดในระดับเซลล์ กัญชามีศักยภาพช่วยทำให้เซลล์ทำงานได้ดีขึ้น หากทำกัญชาให้เป็นนวัตกรรม จะสามารถเพิ่มมูลค่าได้ โจทย์ของสถาบันการศึกษาคือจะสร้างนวัตกรรมกัญชาในมิติแพทย์ทางเลือก และแพทย์แผนปัจจุบัน สามารถนำไปใช้ได้ทั้งการแพทย์ อาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง จะให้ความสำคัญในทุกกระบวนการอย่างมาก เพื่อให้กัญชา สารสกัดจากกัญชาเป็นไปตามมาตรฐานระดับสากล”ไพศาล กล่าว
ส่วนของการปลูกเชิงพาณิชย์นั้น ควรมองถึงโจทย์ กลุ่มเป้าหมายที่จะเลือกไปใช้ ซึ่งตอนนี้แม้ตลาดอาหาร เครื่องดื่มจะได้รับนิยมนำกัญชาไปใช้มากสุด แต่หากจะให้ยั่งยืนควรทำกัญชาให้เป็นนวัตกรรม เอาสารสกัดกัญชามุ่งตรงไปดูแลรักษาโรคใดโรคหนึ่ง เช่น โรคกลุ่มไม่ติดต่อเรื้อรัง ออฟฟิคซิมโดรม หรือจะใช้ในธุรกิจสปา ต้องมีกลุ่มเป้าหมายและการแก้ปัญหาที่ชัดเจน ที่สำคัญกัญชาต้องมีมาตรฐาน ตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยว การสกัด และการสร้างผลิตภัณฑ์ ถ้าไม่ต้องการให้โอกาสของกัญชาถูกลดทอนไป ประเทศ นักธุรกิจต้องมาพูดเรื่องมาตรฐานจริงจัง และต้องมีการกำหนดมาตรฐานกัญชาเป็นวาระแห่งชาติ
“ตอนนี้มทร.พระนครร่วมมือกับบริษัท ที.เอ.ชี. คอนชูเมอร์ จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท ไทยคานาเทคอินโนเวนชั่น จำกัด เพื่อร่วมกันศึกษาค้นคว้าและพัฒนาวิจัยจากกัญชาเพื่อการแพทย์และพาณิชย์ ปลูกกัญชา และสกัดสารบริสุทธิ์CBD รวมถึงการมาจัดตั้งห้องปฎิบัติการต่างๆ อยู่แล้ว ซึ่งบริษัท ไทยคานาเทคอินโนเวนชั่นได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัท ที.เอ.ซี.คอนชูเมอร์สร้างเครือข่ายในการสนับสนุนวิจัยและพัฒนากัญชา ทั้งเพื่อการแพทย์ การรักษา บำบัดโรค และเชิงพาณิชย์ โดยที่มทร.พระนคร พร้อมเป็นแหล่งปลูกกัญชาในระบบปิด เพื่อสร้างคุณภาพและมาตรฐานของกัญชา ให้สามารถนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศต่อไป” ไพศาล กล่าวทิ้งท้าย