ส่งออกสินค้าไป 'จีน' อะไร ‘ขายดี’ บ้าง?
เรื่องควรรู้สำหรับผู้ประกอบการที่จะส่งออกสินค้าไปบุกตลาด "จีน" ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของสินค้าหลายประเภทจากทั่วโลก พฤติกรรมของผู้บริโภคจีนเป็นอย่างไร? สินค้าอะไรที่ขายดีบ้าง?
มีสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีนในการจับจ่ายทางออนไลน์ จากการนำข้อมูลยอดขายช่วงปี 2562-2563 มาสรุป และสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเด็นใหญ่ เพื่อให้คนที่กำลังสนใจบุกตลาดจีนได้อัพเดท
CBEC ที่ยังรอคนเข้ามาเจาะตลาดอีกมาก ต้องยอมรับเลยว่าประเทศจีนยุคนี้เป็นตลาดใหญ่ของสินค้าหลายประเภทจากทั่วโลก โดยเฉพาะรูปแบบการขายของออนไลน์แบบข้ามพรมแดน หรือที่เรียกว่า Cross-border eCommerce (CBEC) ซึ่งการค้าแบบ CBEC นี้ถือว่าน่าจับตามองอย่างมาก แม้จะไม่ใช่ทุกรายที่เหมาะกับช่องทางนี้เสมอไป
ปัจจุบันสินค้าที่ไม่มีแบรนด์ค่อนข้างมีความเสี่ยงถ้าจะใช้ช่องทางนี้ อ้างอิงจากข้อมูลของ CIW ที่เปิดเผยว่า การค้าแบบ CBEC ในรูปแบบ C2C (Consumer to Consumer) มีสัดส่วนน้อยลง ซึ่งสาเหตุมาจากการที่สินค้าประเภทที่ไม่ได้มียี่ห้อหรือแบรนด์ที่น่าเชื่อถือเริ่มถูกกังขามากขึ้น
ที่ผ่านมารูปแบบที่คนจีนนิยมคือ มีพวก ไต้โก้ว หรือคนรับของหิ้วเข้าไปขาย โดยผ่านทางแพลตฟอร์มที่อนุญาตให้เข้ามาเปิดร้านขายของ แต่เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้วสินค้าของ C2C มักไม่มีคุณภาพที่ดีพอ เมื่อมีกระแสโซเชียลปากต่อปาก ก็ทำให้สินค้าเหล่านั้นเริ่มเสียความน่าเชื่อถือ ที่สำคัญคือ สินค้าบางกลุ่มเกี่ยวข้องกับสุขภาพ ความสวยงาม ซึ่งก็มีความเสี่ยงด้านการใช้งาน ดังนั้นเรื่องความน่าเชื่อก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นไปด้วย
จากข้อมูลในภาพรวมพบว่ารูปแบบ B2C (Business to Consumer) ได้รับความน่าเชื่อถือมากขึ้น โดยในกลุ่มนี้ก็คือ สินค้าประเภทที่มีแบรนด์ หรือเป็นยี่ห้อที่เป็นนิติบุคคลเป็นผู้ค้า ไม่ใช่สินค้าจากผู้ค้าทั่วไปหรือเป็นสินค้ามือสอง โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นราว 64% จากส่วนแบ่งตลาดของ CBEC ทั้งหมดในประเทศจีน
สินค้ามาแรงสุด จากการแบ่งกลุ่มประเภทสินค้ามากกว่า 50 รายการ พบว่า 5 อันดับแรกที่มีอัตราการเติบโตสูงสุด ได้แก่ น้ำยาบ้วนปาก 45% เครื่องสำอาง สกินแคร์ 24% เครื่องใช้ในครัวเรือน 17% อาหารสัตว์และของสัตว์เลี้ยง 16% นมถั่วเหลือง 15% และอื่นๆ
สินค้ากลุ่มสกินแคร์ เครื่องสำอาง เป็นกลุ่มสินค้าที่มีอัตราเพิ่มสูงสุด ขณะที่สถิติเก่าเป็นสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ในครัวเรือน ปัจจัยหลักเชื่อว่ามาจากรายได้ของชนชั้นกลางในเมืองใหญ่เพิ่มขึ้น และผู้คนให้ความสำคัญกับความสวยงาม ใบหน้า ผิวพรรณ ขณะที่น้ำยาบ้วนปากยังเป็นสินค้าที่มีสัดส่วนมหาศาลอย่างคาดไม่ถึง
จีนภาคตะวันตกตอนในและภาคใต้ แนวโน้มขาขึ้น มีการสำรวจต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2561 เกี่ยวกับการเติบโตของ FMCG (Fast Moving Consumer Good) ในประเทศจีนพบว่าทั่วประเทศ มีอัตราเพิ่มเฉลี่ยราว 4-5% เท่านั้น ทว่าเฉพาะกลุ่มเมืองทางภาคตะวันตกเฉียงใต้และตอนกลาง ยังคงมีแนวโน้มในทางบวกแบบต่อเนื่องอยู่ ส่วนหนึ่งอาจเพราะกำลังซื้อของผู้คนในเมืองกลุ่มนี้เริ่มสูงขึ้น จากความสำเร็จในภาคอุตสาหกรรม อีกส่วนหนึ่งมาจากความพยายามของภาครัฐที่ผลักดันและกระตุ้นเศรษฐกิจในกลุ่มนี้ให้มากขึ้น ขณะที่ภาคตะวันออกนั้นค่อนข้างมีเศรษฐกิจเติบโตอยู่แล้ว
การแข่งขันของแบรนด์ในจีนและตะวันตก น่าจับตาดูสถานการณ์แข่งขันที่ดุเดือดระหว่างแบรนด์ท้องถิ่นในจีนและแบรนด์ชื่อดังจากตะวันตก ซึ่งต้องยอมรับว่า มีลักษณะของตลาดใครตลาดมันอยู่เหมือนกัน
ที่ผ่านมาแม้ว่าหลายแบรนด์ดังจากตะวันตกจำเป็นต้องถอยฉากจากการบุกตลาดจีนไปในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เพราะความที่รัฐบาลจีนพยายามเอื้อให้กับธุรกิจของจีนเองมากกว่า รวมถึงกฎหมายเรื่องการเซ็นเซอร์ ที่ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจด้านโซเชียลมีเดีย เช่นเฟซบุ๊คและกูเกิลจำเป็นต้องถอยออกไป
แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้ถอยกลับไปทั้งหมด บริษัทตะวันตกเหล่านั้นยังพยายามหาทางเข้าสู่ตลาดจีนในแง่มุมอื่นๆ รวมถึงการหันไปร่วมดีลและร่วมทุนกับบริษัทในจีน เพื่อสร้างโอกาสด้านสตาร์ทอัพเพราะอย่างไรก็ตาม จีนคือตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และมีชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นมากที่สุด
ที่น่าสนใจ คนจีนรุ่นใหม่โดยเฉพาะช่วงอายุ 15-25 ปี มีแนวโน้มจะเลือกซื้อสินค้าจากแบรนด์จีน และเชื่อถือในแบรนด์จีนมากขึ้น โดยมองว่าเป็นการช่วยเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งยังมีค่านิยมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในคนรุ่นใหม่ของจีนที่เห็นว่า แบรนด์จีนก็ไม่แพ้ใครในโลกและสามารถทดแทนแบรนด์ตะวันตกได้เช่นกัน
จากพฤติกรรมที่บ่งชี้มานี้ ทำให้อาจได้ข้อสรุปว่า สินค้ากลุ่มเพื่อบริโภคและอุปโภคที่เป็นกลุ่มค้าปลีกยังเป็นตลาดใหญ่ในจีนและเป็นที่ต้องการสูง อีกทั้งแนวโน้มการเติบโตของเมืองใหญ่ในจีนทางภาคใต้และตะวันตกตอนกลางก็เป็นตลาดที่กำลังมาแรง กำลังซื้อสูง ดังนั้นแบรนด์จากไทยที่กำลังมองโอกาสบุกเข้าตลาดจีน ก็ยังต้องเจอกับการแข่งขันที่รุนแรงจากแบรนด์ตะวันตกและแบรนด์ในจีนเองเช่นกัน