นายกฯรับข้อเสนอสภาดิจิทัลพิจารณาชะลอจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่น 5G แสนล้าน.
"สภาดิจิทัลฯ" สบช่องนายกฯประชุมขับเคลื่อน 5G ยื่นข้อเสนอขอรัฐบาลชะลอ - ยืดจ่ายหนี้ประมูลคลื่น 5G แสนล้าน. นายกฯมอบ กสทช.ศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ สั่งขับเคลื่อนพื้นที่นำร่องและขยายผลการลงทุน 5G ครอบคลุมทั่วประเทศ
วันนี้ (8 มี.ค.63) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 โดยที่ประชุมพิจารณาประเด็นสำคัญ ทั้งการขับเคลื่อนต่อยอด 5G ของประเทศไทยให้เห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ในภาคส่วนต่าง ๆ การพัฒนานวัตกรรม รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน 5G ในประเทศ โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมประชุมด้วย
แหล่งข่าวจากที่ประชุมฯเปิดเผยว่าสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้รัฐบาลช่วยพิจารณายืดระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 5G ที่มีรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนประมูลไปก่อนหน้านี้มูลค่ารวมกว่า 1 แสนล้านบาท
โดยนายกรัฐมนตรีได้รับข้อเสนอในเรื่องนี้และสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไปพิจารณารายละเอียดและความเป็นไปได้และนำเสนอรายละเอียดกลับเข้ามาสู่การพิจารณาอีกครั้ง
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติครั้งนี้ว่าเป็นการประชุมครั้ง 2 เพื่อต่อยอด 5G ของไทยให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม หลังจากได้เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการการว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ของประเทศไทย รวมถึงนำร่องการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ในโครงการนำร่องด้านต่างๆ อาทิ คมนาคม การศึกษา การเกษตร อุตสาหกรรมและเมืองอัจฉริยะ (Smart City) รวมทั้งสาธารณสุขและการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะด้านสาธารณสุขให้ใช้ประโยชน์ 5G เชื่อมโยงสาธารณสุขปฐมภูมิ และทุติยภูมิ ตลอดจนโรงพยาลในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง
รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีเผยแพร่ข้อมูลสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขตนเองให้ปลอดภัย พร้อมเน้นย้ำให้สร้างการรับรู้กับประชาชนให้มากขึ้นเพื่อจะได้เกิดความเข้าใจและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และทำให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ (ร่าง) แนวทางการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ของประเทศไทย และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการดำเนินการในรายละเอียด เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบต่อไป รวมทั้งเห็นชอบการขยายผลการนำร่องการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ประกอบด้วย โครงการนำร่องด้านคมนาคม สถานีอัจฉริยะ (Smart Station) ณ สถานีกลางบางซื่อ ด้านการศึกษา โครงการนำร่อง Smart Campus ร่วมกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ด้านการเกษตร
โครงการนำร่องเกษตรดิจิทัล (Smart Agriculture) เพื่อการพัฒนาระบบส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสาหร่ายผมนางและปลากะพงขาวในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และโครงการนำร่องเกษตรดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี 5G สำหรับการบริหารจัดการน้ำอัจฉริยะ (Smart Irrigation) ร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ณ จังหวัดอุดรธานี ด้านอุตสาหกรรม โครงการนำร่องโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) ด้วยเทคโนโลยี 5G ณ โรงงานในเครือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (PTTGC) ซึ่งอยู่บนพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และด้านเมืองอัจฉริยะ โครงการนำร่องบ้านฉาง 5G สมาร์ทซิตี้ (5G Smart City) เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดรับรู้ถึงศักยภาพของเทคโนโลยี 5G เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม เต็มประสิทธิภาพ และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม