‘ทีเอ็มบีธนชาต’ ผนึก ‘พรูเด็นเชียล’ ปั้นค่าฟีประกันเสริมรายได้แบงก์
“ทีเอ็มบีธนชาต”ลุยเพิ่มพอร์ตรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจประกัน หลังประกาศความร่วมมือขายประกันอย่างเป็นทางการกับกลุ่ม“พรูเด็นเชียล ประเทศไทย” มั่นใจยอดพุ่ง หลังพบลูกค้า 10 ล้านคน แต่ทำประกันเพียง 12% เท่านั้น
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือTMB เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ทีเอ็มบีและธนาคารธนชาตประกาศควบรวมกิจการในปี 2563 ในส่วนของธุรกิจประกันได้ บริษัท พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นพันธมิตรใหม่ ส่งผลให้ธนาคารมีแผนเน้นการเติบโตของธุรกิจขายประกันภัยผ่านธนาคาร (Bancassurance) มากขึ้น
“เรามองว่าต่อจากนี้ธุรกรรมอะไรก็ตามที่ไม่ได้สร้างคุณค่าเพิ่มให้ลูกค้าก็จะทยอยลดลงเรื่อยๆ ขณะที่สัดส่วนค่าธรรมเนียมจากการขายประกันยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันลูกค้าของธนาคารทีเอ็มบีธนชาตประมาณ 10 ล้านคน เข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกันเพียง 12% เท่านั้น”
อย่างไรก็ตามการเสนอขายประกันผ่านธนาคาร ต่อจากนี้จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นโซลูชั่น หรือตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้นไปพร้อมๆ กับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของธนาคาร โดยการร่วมมือกับพรูเด็นเชียล ประเทศไทย ถือเป็นโอกาสที่ดีให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการเสนอขายประกันผ่านธนาคาร ซึ่งทีเอ็มบีธนชาตมีแผนที่จะดำเนินการต่อจากนี้ ได้แก่ การสร้างให้พนักงานเป็นที่ปรึกษาที่ลูกค้าวางใจ (Trusted Advisor) โดยเน้นให้คำแนะนำแก่ลูกค้าเป็นหลัก ซึ่งพนักงานจะต้องรู้จักทั้งลูกค้าและผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมแก่ลูกค้าเป็นอย่างดี ผ่านเครือข่ายพนักงานของทีเอ็มบีธนชาต ที่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันประมาณ 7,800 ราย หรือคิดเป็น 90% ของพนักงานทั้งหมด มากที่สุดในประเทศไทย
นอกจากนี้จะสร้างช่องทางการขาย (Omni Channel) ทั้งช่องทางสาขาของทีเอ็มบีและธนชาตกว่า 700 สาขาทั่วประเทศ และ การใช้แอพพลิเคชั่น ทีเอ็มบี ทัช (TMB TOUCH) ซึ่งจะกลายเป็นช่องทางการขายขนาดใหญ่ของธนาคาร
นายปิติ กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์โควิด-19 คนไทยมีความตื่นตัวด้านการเพิ่มความคุ้มครองให้กับตนเองและครอบครัวมากขึ้น โดยพบว่าในปี 2563 คนไทยซื้อประกันคุ้มครองโควิด-19 มากถึง 10 ล้านฉบับ ซึ่งมากกว่าจำนวนของประกันสุขภาพของคนไทยที่มีอยู่ประมาณ 8 ล้านฉบับ เมื่อมองถึงภาพรวมของสังคมไทย ในปี 2564 ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ หรือ Aged Society อย่างเต็มตัว โดยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปถึง 20% ของประชากรทั้งหมด
และในปี 2574 จะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด หรือ Super- Aged Society โดยมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ในขณะที่ค่ารักษาพยาบาลโดยเฉลี่ยของไทยสูงขึ้นถึง 9% ต่อเนื่องมาหลายปี และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จะเห็นว่าจากจำนวนประชากร 100 คน มีการถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิตเพียง 43 ฉบับ โดยมีประกันชีวิตแบบบำนาญซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบการออมเพื่อใช้หลังเกษียณ ไม่ถึง 1 ฉบับ
“ในอนาคตธุรกิจประกันจะมีบทบาทมากขึ้นเยอะ การที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทั้งธนาคารและคนไทยต้องปรับตัวไปพร้อมๆกัน ซึ่งเราจะเสนอผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ลูกค้าในแต่ละช่วงอายุราคาเอื้อมถึงได้ และต้องออกแบบให้ลูกค้าสามารถทยอยซื้อได้ โดยต้องสนับสนุนให้ลูกค้าถือระยะยาวเพื่อรับผลตอบแทน”
นายโรบิน สเปนเซอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พรูเด็นเชียล ประเทศไทย กล่าวว่า ภายหลังการจับมือกับทีเอ็มบีธนชาต บริษัทตั้งเป้าส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจประกันในประเทศไทยปรับขึ้นมาอยู่ใน 5 อันดับแรก จากปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับที่ 8 รวมถึงตั้งเป้าส่วนแบ่งตลาด Bancassurance ปรับขึ้นมาอยู่อันดับ 1-2 ภายในอีก 2-3 ปีต่อจากนี้