ส.อ.ท.ดันโครงการMade in Thailand ดึงยอดซื้อรัฐ1ล้านล้านบาท
ในภาวการณ์แข่งขันที่รุนแรงในตลาดโลก ทั้งการกีดกันการค้า และการส่งสินค้าเข้ามาตีตลาดภายในประเทศ ดังนั้นประเทศไทยจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างตลาดภายในประเทศให้เข้มแข็งส.อ.ท.จึงได้ร่วมกับภาครัฐผลักดันโครงการ Made in Thailand เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับสินค้าไทย
สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากวิกฤตโควิด-19 และการแข่งขันทางการค้าในเวทีโลกที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการพึ่งพาตลาดส่งออกมากจนเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยได้ ส.อ.ท. จึงได้มุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งให้กับตลาดภายในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาตลาดโลกที่มีความผันผวนสูง รวมทั้งการส่งเสริมให้เพิ่มการใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศ ยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้รากฐานการผลิตของไทยมีความเข็มแข็งตลอดทั้งโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ สามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งจะส่งผลให้ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น
ดังนั้น ส.อ.ท. จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงการคลัง จัดทำโครงการ Made in Thailand ขึ้น เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศหันมาใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศไทยเพื่มขึ้น โดยได้แก้ไขกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้าง กำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องซื้อสินค้าจากโรงงานที่ผลิตภายในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 60% ของงบประมาณจัดซื้อจัดจ้าง และในการแข่งขันแต่ละโครงการจะต้องมีบริษัทของไทยไม่ต่ำกว่า 3 ราย เข้าร่วมแข่งขัน รวมทั้งยังให้แต้มต่อกับสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย หากเสนอราคาสูงกว่าราคาต่ำสุดของผู้เสนอราคาซึ่งเป็นต่างชาติไม่เกิน 3% ให้ซื้อหรือจ้างจากผู้เสนอราคาซึ่งเป็นบริษัทไทยรายนั้น
นอกจากนี้ จะร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม จัดงานแสดงสินค้า Made in Thailand ครั้งใหญ่ อยู่ในช่วงเดือนส.ค.-ก.ย.นี้ ซึ่งจะเป็นการแสดงศักยภาพสินค้าไทยให้คนไทยได้เห็นและเลือกซื้อสินค้าไทยมากขึ้น รวมทั้งจะขยายความร่วมมือในการยกระดับมาตรฐานสินค้าไทย การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการบริหารจัดการ ตลอดจนการขยายตลาดในต่างประเทศ ซึ่งทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ และช่วยสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตในระยะยาว
โดยโครงการ Made in Thailand จะช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการชาวไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งหากเพิ่มสัดส่วนให้ได้ตามที่กำหนดไว้ 60% จะช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการชาวไทยเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านล้านบาท และยังช่วยเพิ่มเม็ดเงินให้เกิดการหมุนเวียนภายในระบบเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 และยังทำให้ธุรกิจของคนไทยเข้มแข็งมากขึ้น
พิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล ประธานสายงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ส.อ.ท. กล่าวว่า ขณะนี้ ส.อ.ท. ได้มีการเตรียมความพร้อมในการรับขึ้นทะเบียนสินค้า Made in Thailand (MiT) โดยได้เริ่มเปิดรับลงทะเบียนตั้งแต่เดือนม.ค.มที่ผ่านมา ระบบรับรองได้รับคำปรึกษาด้านการดูแลความลับของข้อมูลจากที่ปรึกษาระดับ Big 4 และ ส.อ.ท. ดูแลด้านนี้อย่างมีหลักการ ทั้งด้านระบบและด้านจรรยาบรรณเจ้าหน้าที่ได้มีการจัดอบรมสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในการลงทะเบียน เพื่อให้ทราบถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้จากโครงการ MiT อย่างต่อเนื่องและยังได้พัฒนาแพลตฟอร์มการลงทะเบียนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ การรับรองสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย หรือ Made in Thailand จะใช้แนวทางการคำนวณมูลค่าตามหลักการ ASEAN Content โดยปรับให้ตรงวัตถุประสงค์ของการสนับสนุนสินค้าผลิตในประเทศ ซึ่งต้องมีสัดส่วนมูลค่าวัตถุดิบผลิตในประเทศอย่างน้อย 40%
โดยคุณสมบัติของผู้ขอขึ้นทะเบียนสินค้า Made in Thailand จะเป็นผู้ประกอบการไทยหรือต่างประเทศ ที่มีโรงงานผลิตในประเทศไทย มีใบอนุญาตประกอบกิจการ มีการจดทะเบียน มีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรที่ถูกต้องในประเทศไทย และมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด หากสินค้าใดที่ผ่านการรับรองจะได้รับเอกสารรับรองที่ ส.อ.ท. ออกให้แก่ผู้ประกอบการนำ ไปใช้แสดงคุณสมบัติสินค้า Made in Thailand กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และต่อไปในอนาคตจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมบัญชีกลางอย่างเป็นระบบ
ทั้งนี้ ส.อ.ท. ได้ตั้งเป้าภายในปี 2564 จะมีผู้ประกอบการไทยเข้ามาขื่นขอรับรองสินค้า MiT ไม่ต่ำกว่า 1 แสนรายการสินค้า คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีจำนวน 1.77 ล้านล้านบาท หรือมากกว่า 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งหากมีผู้ประกอบการเข้ามาใช้จนครบสัดส่วนที่ 60% ตามที่รัฐกำหนด ก็จะมีเม็ดเงินเข้าสู่ผู้ประกอบการไทยกว่า 1 ล้านล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามสัดส่วนงบประมาณภาครัฐที่เพิ่มขึ้น
หลังจากที่ได้ร่วมมือกัยภาครัฐให้ซื้อสินค้าไทยและมีผุ้ประกอบการมาขึ้นทะเบียนสินค้า MiT มากพอสมควรแล้ว ก้าวต่อไป ส.อ.ท.จะไปส่งเสริมให้ภาคเอกชนรายใหญ่หันมาใช้สินค้าไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเข้าไปหารือในรายละเอียดถึงสัดส่วนการซื้อสินค้าที่ผลิตภายในประเทศของผู้ประกอบการรายใหญ่ และข้อกำหนดต่าง ๆ จากนั้นจะขยายต่อไปยังผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดต่าง ๆ ให้หันมาใช้สินค้าไทยเพิ่ม ซึ่งจะมีการหารือกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทยต่อไป เนื่องจากสมาคมฯนี้เป็นศูนย์รวมผู้ค้าปลีกทั่วประเทศ ที่จะมีการทำงานร่วมกันต่อไป และในอนาคตเมื่อผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพการแข่งขันสูงขึ้นแล้ว ก็จะผลักดันไปสู่ตลาดระดับนานาชาติต่อไป
“ส.อ.ท. ได้ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมในการยกระดับมาตรฐานสินค้าทุกชนิด จัดทำโครงสร้างมาตรฐานแห่งชาติ เพื่อพัฒนายกระดับเอสเอ็มอีไทย ให้มีศัยภาพการแข่งขันสูงขึ้น เตรียมความพร้อมที่จะก้าวไปแข่งขันในตลาดโลกต่อไป”
สำหรับกลุ่มสินค้า Made in Thailand ที่มีโอกาสเข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ อาทิ วัสดุครุภัณฑ์สำนักงาน, ครุภัณฑ์การศึกษา, จอมอนิเตอร์, เฟอร์นิเจอร์, ชุดยูนิฟอร์ม, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ, อุปกรณ์ไฟฟ้าและพลังงาน, วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในงานก่อสร้าง เช่น เหล็ก, ปูนซีเมนต์ รวมถึงจะมุ่งประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลไปยังกลุ่มผู้ค้าส่ง ค้าปลีก ที่เข้าร่วมยื่นเสนองานกับภาครัฐให้เข้าใจในกฎกระทรวงฉบับใหม่และการนำสินค้า Made in Thailand ไปเสนอต่อภาครัฐด้วย