เจรจา'สหรัฐ-จีน'ยุคไบเดนย้ำสัมพันธ์การค้าตึงเครียด

เจรจา'สหรัฐ-จีน'ยุคไบเดนย้ำสัมพันธ์การค้าตึงเครียด

ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังคงตึงเครียดและมีความท้าทายหลังจากการเจรจาทางการทูตระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนและสหรัฐในสัปดาห์นี้ปิดฉากลงด้วยบรรยากาศไม่ราบรื่นนักเพราะทั้งสองฝ่ายปะทะคารมต่อหน้าสื่อเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายของแต่ละประเทศ

“ผมมีความคาดหวังต่ำสำหรับการประชุมของเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่แอลาสกาซึ่งผลของการประชุมก็เป็นไปอย่างที่ผมคาดจริงๆ คือ ไม่มีความคืบหน้าใดๆให้เห็น”คลีท วิลเล็มส์ ทนายความซึ่งเคยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านการค้าในสมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าว

สิ่งที่บรรดานักลงทุนในตลาดจับตามองคือผลลัพธ์และแนวโน้มของความสัมพันธ์ของสองประเทศ ซึ่งถือเป็นความสัมพันธ์ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก ในฐานะที่จีนเป็นหุ้นส่วนการค้าใหญ่สุดอันดับสามของสหรัฐเมื่อปี 2562 ด้วยมูลค่าการค้าโดยรวม 558,100 ล้านดอลลาร์

“ทีมบริหารของประธานาธิบดีไบเดนส่งสัญญาณว่าไม่ได้สนใจจะพูดถึงการค้าระหว่างกัน และการหารือกันครั้งแรกกับจีนของทีมบริหารของไบเดนก็ประสบความสำเร็จด้วยดี ”เดวาดริก แมคนีล นักวิเคราะห์ด้านนโยบายในสมัยอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ของสหรัฐ ให้ความเห็น

“แอนโทนี บลิงเคน” รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ เริ่มกล่าวเปิดประชุมด้วยการแจงรายละเอียดข้อกังวลอย่างมากของสหรัฐต่อการกระทำของจีน รวมถึงที่มณฑลซินเจียง, ฮ่องกง, ไต้หวัน, การโจมตีทางไซเบอร์ต่อสหรัฐ, การบีบบังคับทางเศรษฐกิจต่อชาติพันธมิตรสหรัฐ โดยระบุว่าการกระทำของจีนตามที่กล่าวมานี้ คุกคามต่อระเบียบที่อยู่บนพื้นฐานของกฎกติกาที่รักษาเสถียรภาพในโลก

ด้าน“หยาง เจียฉือ” ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์กลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตอบโต้ด้วยสุนทรพจน์ยาว 15 นาทีที่ดุเดือดไม่แพ้กันว่า สหรัฐใช้แสนยานุภาพทางทหารและอำนาจครอบงำทางการเงินกดขี่ประเทศอื่นๆ ใช้ข้ออ้างเรื่องความมั่นคงแห่งชาติมาขัดขวางการแลกเปลี่ยนทางการค้าในรูปแบบปกติ และยุยงให้ประเทศอื่นๆ โจมตีจีน

เจียฉือ บอกว่าสหรัฐก็มีปัญหาด้านสิทธิมนุษชนในระดับตกต่ำที่สุด ชาวอเมริกันผิวดำถูกฆ่าตายนับไม่ถ้วน พร้อมทั้งเรียกร้องให้สหรัฐเลิกผลักดันประชาธิปไตยในแบบของสหรัฐเข้าไปยังประเทศอื่นๆ เพราะประเทศส่วนหญ่ในโลกไม่ได้ยอมรับค่านิยมของสหรัฐว่าเป็นค่านิยมของโลก ทั้งยังเตือนด้วยว่า จีนคัดค้านอย่างหนักหากว่าสหรัฐแทรกแซงกิจการภายในของจีน

ด้าน“แจ็ค ซัลลิแวน” ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของสหรัฐพยายามบรรเทาบรรยากาศตึงเครียดของการประชุม ด้วยการกล่าวว่าสหรัฐไม่ต้องการสร้างความขัดแย้งกับจีน แต่ต้องยืนหยัดต่อหลักการของตัวเอง ที่ครอบคลุมถึงการปกป้องพันธมิตรด้วย แต่ทั้งบลิงเคนและซัลลิแวนต่างก็ไม่ตอบคำถามของจีนในประเด็นที่ว่าสหรัฐมีเจตนาประกาศคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลปักกิ่งและฮ่องกงรวม 24 คน ก่อนการประชุมที่อะแลสกาหรือไม่

การประชุมของคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงสหรัฐและจีนครั้งนี้ ถูกมองว่าเป็นการฝึกทักษะทางการทูตมากกว่าทางเศรษฐกิจ เพราะทั้งคู่ต่างตอบโต้กันด้วยวาจาเฉือดเฉือนและดุเดือดในชนิดที่ไม่มีใครยอมลงให้ใคร

ก่อนหน้าที่ทั้งสองฝ่ายจะประชุมร่วมกัน เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ แถลงว่า ภายใต้อำนาจตามความในมาตรา 5 (เอ) และ (จี) ของกฎหมายเอกราชฮ่องกง ( เอชเคเอเอ ) ที่สภาคองเกรสบัญญัติ เมื่อเดือน ก.ค. ปี 2563 บลิงเคน รมว.ต่างประเทศ เจเน็ต เยลเลน รมว.คลัง เห็นชอบเพิ่มชื่อบุคคล 24 ชื่อไว้ในบัญชีดำในฐานะดำเนินการเข้าข่ายละเมิดปฏิญญาร่วมจีน-อังกฤษ

ผู้ที่มีรายชื่อทั้ง24 คนนำโดย“หวัง เฉิน” รองประธานคนที่หนึ่งของสภาประชาชนแห่งชาติ ( เอ็นพีซี ) ซึ่งเป็นผู้นำในการบัญญัติกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ และบังคับใช้กับฮ่องกง เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ปีที่แล้ว และการประกาศเตรียมแก้ไขระบบการเลือกตั้งของฮ่องกง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และหวังยังเป็นหนึ่งในสมาชิก 25 คน ของกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ หรือโปลิตบูโร ชุดที่ 19 ซึ่งเป็นชุดปัจจุบัน

แต่หวังมีชื่ออยู่ในบัญชีดำการคว่ำบาตรเกี่ยวกับฮ่องกง ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และ“ตั้ง หยิว-จง” ตัวแทนคนเดียวจากฮ่องกง ในคณะกรรมการถาวรของเอ็นพีซี ขณะที่“หลี่ จ้านซู” ประธานเอ็นพีซีคนปัจจุบัน และสมาชิกอันดับ 3 จาก 7 อันดับในคณะกรรมการประจำโปลิตบูโร ซึ่งตามลำดับถือเป็นหนึ่งในบุคคลที่ใกล้ชิดที่สุดกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

ส่วนสื่อโซเชียลออกมาแสดงความเห็นมากมายเกี่ยวกับการประชุมของคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งสองฝ่าย โดยส่วนใหญ่ช่ื่นชมคณะเจ้าหน้าที่จีนว่าทำได้ดีในการประชุมที่อะแลสกา และว่าในส่วนของสหรัฐยังขาดความจริงใจ

“ในความรู้สึกของผมคิดว่าทีมบริหารของประธานาธิบดีไบเดนกำลังทดสอบคำถามที่ว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่การประชุมครั้งนี้จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม”แซค คูเปอร์ ซึ่งวิจัยเรื่องจีน จากอเมริกัน เอ็นเตอร์ไพรซ์ อินสติติว ในวอชิงตัน กล่าว