ไฟป่าเชียงใหม่ ลามหนัก 14 อำเภอ - ค่าฝุ่น PM2.5 มีผลกระทบต่อสุขภาพ
คุณภาพอากาศ PM2.5 เชียงใหม่ ยังมีผลกระทบต่อสุขภาพ ไฟป่าวงกว้าง 14 อำเภอ - ศูนย์ฯ ฝนหลวงภาคเหนือขนน้ำดับไฟป่าในพื้นที่อำเภอแม่แตงกว่า 12,500 ลิตร
เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ 57 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่พบจุดความร้อน 117 จุด พบมากที่สุดในอำเภอแม่แตง ส่วนใหญ่เป็นการลุกลามจากจุดความร้อนเดิมที่เกิดเมื่อวาน ส่วนกรมฝนหลวงร่วมปฏิบัติภารกิจตักน้ำดับไฟป่าต่อเนื่อง พร้อมทั้งเตรียมปฏิบัติสลายลูกเห็บไปพร้อมกัน
ขณะที่ กรมควบคุมมลพิษ รายงานคุณภาพอากาศ ค่า PM2.5 บริเวณสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ที่ตำบลศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ วัดได้ 57 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ถือว่าดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของเมื่อวานนี้วัดได้ 71 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนบรรยากาศในช่วงเช้าของจังหวัดเชียงใหม่ ยังคงถูกปกคลุมด้วยฝุ่นละอองขนาดเล็ก
ศูนย์บัญชาการป้องกันแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ รายงานจุดความร้อน จากดาวเทียมระบบเวียร์ รอบเช้า เวลา 01.41 น. วันที่ 22 มี.ค. 64 พบจุดความร้อน ทั้งหมดจำนวน 117 จุด ในพื้นที่ 14 อำเภอ พบจุดความร้อนมากที่สุดในอำเภอแม่แตง จำนวน 30 จุด โดยพบที่ตำบลสบเปิง 9จุด , ตำบลบ้านเป้า 7 จุด, จำบลกึ้ดช้าง 6 จุด, ตำบลแม่หอพระ 5 จุด, ตำบลอินทขิล 2 จุด, ตำบลบ้านช้าง 1 จุด ซึ่งจุดความร้อนที่ตรวจพบในวันนี้ เป็นจุดที่ลุกลามจากจุดความร้อนของวานนี้ (21มี.ค.64) ที่มีจุดความร้อน 153 จุด
นายรังสรรค์ บุศย์เมือง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ (ตอนบน) เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ (ตอนบน) ได้ปฏิบัติภารกิจช่วยดับไฟป่ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อต้นเดือนก.พ. 64 ซึ่งเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 6464 ได้เข้าสนับสนุนภารกิจดับไฟป่า ในพื้นที่ อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ จำนวน 20 เที่ยว ตักน้ำช่วยดับไฟป่า 10,000 ลิตร ส่วนวันที่ 21 มีนาคม 2564 ได้เข้าสนับสนุนภารกิจดับไฟป่า ในพื้นที่อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ จำนวน 25 เที่ยว จำนวน 12,500 ลิตร สำหรับวันนี้ 22 มีนาคม 2564 อยู่ระหว่างการประสานเพื่อเข้าปฏิบัติภารกิจตักน้ำดับไฟ
ส่วนภารกิจสลายลูกเห็บ ที่อาจเกิดจากพายุฤดูร้อน จากการตรวจสอบสภาพอากาศในช่วงนี้ยังไม่เข้าเงื่อนไขในการขึ้นบินปฏิบัติการสลายลูกเห็บในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่ได้เฝ้าระวังและตรวจสอบสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด หากพบเงื่อนไขที่จะขึ้นบินปฏิบัติภารกิจสลายลูกเห็น สามารถขึ้นบินดำเนินการได้ทันที เพื่อบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดจากพายุลูกเห็บ