กทท.ชง ครม.เคาะแหลมฉบัง จ่อเซ็นสัญญา ‘กัลฟ์-ปตท.’
กทท.เตรียมเสนอ “แหลมฉบัง 3” เข้า ครม.ไฟเขียว “กัลฟ์-ปตท.” คว้าประมูลสัปดาห์หน้า หลังเสนอผลเจรจาผ่าน กพอ.เคาะผลตอบแทน 2.9 หมื่นล้าน ใกล้ราคากลาง ด้านอัยการตรวจผ่านร่างสัญญาฉบับแรก คาดลงนามร่วมทุน พ.ค.นี้
การประมูลพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ที่ใช้เวลาประมูลแบบมาราธอน 2 ปี ใกล้ได้ข้อสรุปหลังจากมีการยื่นซองประมูลครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2562 ซึ่งมีผู้ยื่นซอง 2 ราย และกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC เข้าสู่กระบวนการเจรจาผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ
นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการลงทุนพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โดยระบุว่า ขณะนี้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้เจรจาผลตอบแทนกับเอกชนแล้วเสร็จ จากเดิมที่เอกชนเสนอผลตอบแทนมาราว 1 หมื่นล้านบาท ปรับเพิ่มเป็น 2.9 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ใกล้เคียงกับราคากลางกำหนด 3.2 หมื่นล้านบาท จึงอยู่ในกระบวนการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบข้อเสนอผลตอบแทนดังกล่าว
“เนื่องจากผลตอบแทนที่เอกชนเสนอมาต่ำกว่าราคากลาง จึงจำเป็นต้องมีการเสนอขอความเห็นชอบจากทาง ครม.แต่ยืนยันว่าขณะนี้การดำเนินงานยังอยู่ในกรอบกำหนดของโครงการ ที่ผ่านมาการท่าเรือฯ ได้ทำงานอย่างหนัก เจรจาต่อรองกับเอกชนจนกระทั่งปรับเพิ่มผลตอบแทนใกล้เคียงกับราคากลาง”
เสนอ ครม.ภายใน มี.ค.นี้
เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวว่า กทท.คาดว่า สกพอ.จะมีการเสนอผลเจรจาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเรือ F เข้าสู่ที่ประชุม ครม.พิจารณาภายในเดือน มี.ค.นี้ โดยกระบวนการคู่ขนาน
ขณะนี้อัยการได้ตรวจสอบร่างสัญญาฉบับแรกแล้วเสร็จ หาก ครม.อนุมัติผลการเจรจา กทท.คาดว่าจะสามารถเจรจาร่างสัญญาร่วมกับเอกชนได้ทันที และคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ เข้าสู่กระบวนการลงนามสัญญาภายใน 2 เดือนหลังจากนี้ หรือภายใน พ.ค.2564
“หลัง ครม.เห็นชอบผลการเจรจา คณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็จะตรวจดูร่างสัญญา ควบคู่ไปกับการเปิดซอง 5 เพื่อพิจารณา ก่อนเสนอร่างสัญญาไปยังอัยการสูงสุด เสนอไปที่ประชุม กพอ.เห็นชอบ และลงนามสัญญาตามขั้นตอน เบื้องต้นคาดว่าจะออกหนังสืออนุญาตเข้าพื้นที่เริ่มงานก่อสร้าง หรือ NTP ในวันที่ 1 พ.ค.นี้”
สำหรับแผนพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ขณะนี้ กทท.ได้ดำเนินการลงทุนในส่วนของภาครัฐแล้ว 4 โครงการ ประกอบไปด้วย
1.โครงการขุดลอกถมทะเล ปัจจุบันได้ตัวผู้รับจ้าง และมีการเยียวยาชาวประมงแล้ว
2.การสร้างถนนท่าเทียบเรือชายฝั่ง
3.สร้างทางรถไฟไปเชื่อมมบริเวณหลังท่า
4.การนำเอาเทคโนโลยีเข้าไปผสมผสานในการบริหารจัดการ ตลอดจนจัดหาเครื่องมือระบบกึ่งอัตโนมัติมาให้บริการ คาดทั้งหมดแล้วเสร็จในระยะเวลา 4 ปี
เพิ่มศักยภาพแหลมฉบัง
ทั้งนี้ ท่าเรือแหลมฉบัง 3 ถือเป็นโครงการเพิ่มขีดความสามารถการขนส่งสินค้าทางเรือของประเทศ มีความจำเป็นในการเร่งแผนพัฒนา เพราะการลงทุนท่าเรือต้องใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี ดังนั้นการเริ่มต้นปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่ กทท.เริ่มดำเนินการนั้น จะต้องเร่งรัดให้แล้วเสร็จเพื่อส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเริ่มงานลงทุนติดตั้งระบบด้วย
นอกจากนี้ การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังส่วนดังกล่าวจะเพิ่มความสามารถรองรับตู้สินค้าจากปัจจุบัน 11 ล้าน ที.อี.ยู เป็น 18 ล้าน ที.อี.ยู ซึ่งสอดคล้องประมาณการณ์การขยายตัวของตู้สินค้าที่ กทท.คาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ภายใน 4-5 ปีหลังจากนี้ จะเต็มขีดความสามารถการรองรับของท่าเรือแหลมฉบังในปัจจุบัน
รวมทั้งภายใต้แผนพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เมื่อสร้างแล้วเสร็จจะทำให้ท่าเรือแหลมฉบังมีท่าเรือชายฝั่ง รองรับการเทียบบเรือชายฝั่งเพิ่มขึ้นอีก 1 ล้าน ที.อี.ยู และเป็นการบริหารจัดการตู้สินค้าด้วยระบบกึ่งอัตโนมัติ อีกทั้งมีรางรถไฟเข้ามาสนับสนุนการขนส่ง เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางรางจาก 2 ล้าน ที.อี.ยู.ต่อปี เป็น 4 ล้าน ที.อี.ยู.ต่อไป