'วิสาหกิจชุมชน' อยากปลูกกัญชาต้องทำอย่างไร
ประเทศไทยมีการใช้ "กัญชา" ทางการแพทย์และอนุญาตให้วิสาหกิจชุมชนทำการปลูกโดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัย โรงพยาบาล หน่วยงานของรัฐ ในการส่งช่อดอกเพื่อสกัดใช้ทางการแพทย์ และส่วนที่เหลือนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ ทำให้หลายคนสนใจทดลองผลิตสินค้าในเชิงพาณิชย์
ข้อมูลจาก กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ปัจจุบัน มีผู้ป่วยที่ได้รับยากัญชาทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทยกว่า 50,000 ราย จากสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 77 จังหวัด มีกลุ่ม "วิสาหกิจชุมชน" ผู้ปลูกกัญชาร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขกว่า 300 กลุ่ม เพื่อนำผลผลิตที่ได้มาผลิตเป็น "น้ำมันกัญชา" และส่วนผสมของยากัญชาแผนไทย
"นพ.เทวัญ ธานีรัตน์" ผู้อำนวยการกองการแพทย์ทางเลือก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวภายในงาน “Kingdom of Thailand : The World’s Ultimate Medical Wellness Tourism Destination And Cannabis Retreats” ณ มายโอโซน เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา โดยระบุว่า การปลูกกัญชาต้องศึกษาดีๆ กัญชาทางการแพทย์ เป็นแพทย์ทางเลือกที่ทั้งโลกรู้จัก ประเด็นเรื่อง "กัญชา" เป็นประเด็นร้อนเพราะทั้งโลกเป็นยาเสพติด ใน พ.ร.บ. ก็ยังเป็นยาเสพติด ขณะเดียวกันก็มีการนำงานวิจัยที่น่าสนใจ รวมถึงภูมิปัญญาไทย ที่ใช้กัญชามานาน ทำให้ได้รับความสนใจอีกครั้ง
ที่ผ่านมา กรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้นำน้ำมันกัญชา สูตร อ.เดชา มาใช้เชิงวิจัย โดยพบว่าปัญหาน้อยมาก นอกจากนี้ ล่าสุด ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เร่งผลิต 2 ตำรับยากัญชาทางการแพทย์ คือ น้ำมันกัญชาตำรับเมตตาโอสถ และ น้ำมันกัญชาตำรับการุณย์โอสถ ต่อยอดจากตำรับยากัญชาเดิม เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ที่มีคุณภาพมาตรฐานได้อย่างทั่วถึง
นพ.เทวัญ กล่าวต่อไปว่า มีการสำรวจ จากกรมการแพทย์แผนไทยฯ พบว่ามี รพ.กว่า 120 แห่ง ที่อยากใช้ "น้ำมันกัญชา" ขณะที่ คนไข้จากโรงพยาบาลกว่า 41 แห่ง หรือราว 4 หมื่นคน มีความสนใจ จากความต้องการดังกล่าว เป็นที่มาว่าต้องเร่งผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งต้องใช้ช่อดอกเดือนละกว่า 3 ตัน จึงจะเพียงพอคนไข้ 4 หมื่นคน
“เงื่อนไขในกฎหมาย 5 ปีแรก ใครจะนำเข้า ส่งออก หรือผลิต ต้องทำกับภาครัฐเท่านั้น หรือ วิสาหกิจชุมชนร่วมกับภาครัฐ จะเห็นว่ามหาวิทยาลัยหลายแห่งมีการจับมือและปลูกกันเยอะ อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นต้องลงทุนสูงมาก และการลงทุนมีความเสี่ยง หากเกษตรกรจะลงทุนก็ต้องมีตลาดรับซื้อ ที่มาที่ไปของช่อดอกชัดเจน วิสาหกิจชุมชน ที่อยากปลูกต้องมีภาควิชาการซัพพอร์ต เพราะกัญชาไม่หมู”
“การปลูกกัญชา เกษตรกรจะเปลี่ยนวิธีคิด วิธีปลูก และนำไปสู่การปลูกสมุนไพรอื่นๆ เช่น “บัวบก” ที่ดีที่สุดคือของไทย แต่สารสกัดบัวบกยังต้องนำเข้า เพราะไม่มีการปลูกแบบ Medical Grade” นพ.เทวัญ กล่าว
ทั้งนี้ ข้อมูลจากแพทยสภา ระบุว่า “ความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับกัญชา ซึ่งหลายคนมองว่ากัญชาสามารถหาได้ง่ายและมีความปลอดภัยสูง แต่ความจริงแล้ว กัญชาเป็นพืชที่ดูดซับโลหะหนัก ยาฆ่าแมลง และสารพิษจากดินได้ดี ดังนั้น การใช้ผลิตภัณฑ์จากกัญชาโดยไม่รู้แหล่งผลิตที่ชัดเจน และไม่ผ่านการรับรอง จึงเป็นอันตรายมาก” เป็นที่มาว่าการปลูกกัญชาที่ใช้ทางการแพทย์ จำเป็นต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ที่กำหนด ทั้งคุณภาพ มาตรฐาน รวมถึงการจัดสภาพแวดล้อมสำหรับปลูกให้ปลอดภัย
- วิสาหกิจชุมชน ปลูกกัญชา ทางการแพทย์
“กัญญาณัฐ แก้วหิน” วิสาหกิจชุมชนปลูกพืชสมุนไพรและแปรรูปอาหารบ้านโพนทอง จ.นครราชสีมา และเจ้าของโรงงานขนมเปี๊ยะแบรนด์ “อารมณ์ดี” เล่าว่า 2 เดือนที่ผ่านมา ได้นำกัญชามาต่อยอดสินค้าขนมเปี๊ยะอารมณ์ดี ซึ่งเป็นธุรกิจส่วนตัวที่ทำมากว่า 8 ปี เนื่องจากเล็งเห็นว่าคนสนใจเยอะ จากการทดลองพบว่าผลตอบรับดีมาก ลูกค้าให้ความสนใจ
โดยกัญชาที่นำมาทดลองได้มาจากศูนย์บ่มเพาะ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) พอได้ใบกัญชามาก็ทดลองกับผลิตภัณฑ์ของตนเองก่อน ซึ่งนำมาผสมอยู่ในไส้ และโรยหน้า ต้องยอมรับว่า กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจเยอะ สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและขนมได้
- อยากปลูกกัญชาต้องทำอย่างไร
จากเสียงตอบรับที่ดีดังกล่าว ทำให้ปัจจุบัน ได้มีการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนขึ้นเพื่อขออนุญาตปลูกอย่างถูกต้อง “กัญญาณัฐ” อธิบายว่า ขั้นตอนการยื่นจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนเพื่อปลูกกัญชานั้น ขั้นแรกต้องรวมกลุ่มผู้ที่สนใจ อยู่ในอำเภอเดียวกัน แต่คนละทะเบียนบ้าน จำนวนสมาชิก 7 คนขึ้นไป ยื่นขอจดทะเบียนที่สำนักงานเกษตรอำเภอได้เลย โดยเกษตรอำเภอจะออกมาตรวจสอบพื้นที่ว่าปลูกตรงไหน หลังจากนั้น ก็ทำความร่วมมือกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) หรือ มหาวิทยาลัย หน่วยงานของรัฐ โดยใช้เวลาประมาณ 7 – 15 วัน หลังจากยื่นเอกสารให้สำนักงานเกษตรอำเภอ
ส่วนตัวขออนุญาตเมื่อเดือนที่ผ่านมา ทำความร่วมมือกับ “ตำรับเมตตาโอสถและตำรับการุณย์โอสถ” กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยเขาจะมีโครงการออกมา รัฐวิสาหกิจชุมชนที่สนใจปลูกเพื่อส่งช่อดอกเข้ามาผลิตน้ำมันให้กับกรมการแพทย์แผนไทยฯ ให้ไปแจ้งเจตจำนงว่าจะทำ ต้องมีการอบรมมากกว่า 2 ครั้ง และรับใบอนุญาต จด MOA สามารถปลูกได้
“MOA ไม่เหมือน MOU เนื่องจาก MOU เป็นความร่วมมือ แต่ MOA เป็นการยืนยันว่าเราลงมือทำเพื่อจะส่งผลิตภัณฑ์ให้เขา ทุกครั้งที่ปลูก จะต้องเก็บดอกและช่อดอกส่งให้เขาทั้งหมด และจะได้รับกลับมาส่วนหนึ่งเพื่อเพาะต่อในครั้งต่อไป เพราะดอกและช่อดอกยังเป็นยาเสพติดประเภท 5 ยกเว้นใบ ราก กิ่ง ก้าน สามารถเอามาขายเชิงพาณิชย์ได้ ใช้เองได้ จากแต่ก่อนที่ต้องเผาทิ้ง”
อย่างไรก็ตาม ส่วนมากคนที่ลงทะเบียนขอ MOA ไว้ เหลือปลูกจริงๆ เพียงครึ่งเดียว เนื่องจากลงทุนสูง เฉพาะโรงเรือนเล็กปลูกได้ประมาณ 50 ต้น ลงทุนประมาณ 3 แสนบาท ขนาดกลางปลูกได้ประมาณ 100 ต้น ขนาดใหญ่ปลูกได้ประมาณ 150 ต้น นอกจากนี้ ต้องมีการควบคุมคุณภาพ และสร้างโรงเรือนทุกอย่างตามแบบที่กำหนด ไม่ว่าจะเป็นรั้ว ลวดหนาม มีกล้องวงจรปิด
“กัญญาณัฐ” อธิบายต่อไปว่า สำหรับวิธีปลูก มีการอบรม ต้องปลูกแบบออแกนิคส่ง เมล็ดพันธุ์เขาให้มาถูกต้อง ปลูกแบบปลอดสารพิษ เนื่องจากต้องนำไปสกัดยา ไม่ให้ลงดินเนื่องจากในดินมีสารเคมี รวมถึงมีการตรวจทุกครั้ง ทุกรอบที่ปลูกและเก็บเกี่ยว โดยส่วนตัวทำโรงเรือนขนาดกลาง ต้องสร้างรั้วปูน มีลวดหนาม ปล่อยกระแสไฟ และจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัย การเข้าออกโรงเรือนทุกครั้งต้องมีรายงาน
“สำหรับการปลูกแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือน หมายความว่าปีหนึ่งปลูกได้ 2 ครั้ง เมื่อปลูกเสร็จแล้วต้องส่งช่อดอกให้กรมการแพทย์แผนไทยฯ อาจจะดูปลูกยากแต่คนกำลังให้ความสนใจและมีสถานที่ที่รับแน่นอน ทำให้ตนเองกล้าลงทุน” กัญญาณัฐ กล่าว