'ธุรกิจ' ควบคู่ 'ความยั่งยืน' ลดซัลเฟอร์ ลดผลกระทบทางทะเล

'ธุรกิจ' ควบคู่ 'ความยั่งยืน' ลดซัลเฟอร์ ลดผลกระทบทางทะเล

การทำธุรกิจเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ต้องใส่ใจและให้ความสนใจเรื่องธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม

ข้อมูลจาก UOB ระบุว่า ธุรกรรมการค้าทั่วโลก ในส่วนของสินค้าที่ขนส่งทางเรือคิดเป็น 80% โดยปริมาณและ 70% โดยมูลค่าของธุรกรรมทางการค้าทั้งหมด ทั้งนี้ การขนส่งทางเรือจะใช้น้ำมันที่มีกำมะถันในปริมาณสูง เป็นจำนวนประมาณ 3 - 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็นประมาณ 3 - 4 % ของปริมาณการใช้น้ำมันทั่วโลก

161673312836

ภาคการขนส่งทางเรือมีส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ระบบนิเวศ การศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature เมื่อปีที่ผ่านมาพบว่า การปล่อยแก๊สซัลเฟอร์จากเรือเดินสมุทรทำให้เกิดการตายก่อนวัยอันควรของประชากรกว่า 400,000 คนจากมะเร็งปอด และโรคกล้ามเนื้อหัวใจ รวมถึงโรคหอบหืดในเด็กอีกกว่า 14 ล้านคนต่อปี ภายหลัง ปี 2563 คาดว่าจะลดลงเหลือ 250,000 คนและ 6.4 ล้านรายตามลำดับ

“องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ” (International Maritime Organization : IMO) ซึ่งเป็นหน่วยงานพิเศษของสหประชาชาติ มีหน้าที่รับผิดชอบ ควบคุมการจัดส่งสินค้า และเป็นเวทีกลางระหว่างประเทศสมาชิกในการกำหนดมาตรฐาน และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับความปลอดภัยในการเดินเรือและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล ได้ออกกฎเกณฑ์ที่ว่าด้วยการลดการใช้กำมะถัน หรือเรียกสั้นๆ ว่า มาตรการ IMO 2020  

โดยในปี 2563 ได้บังคับใช้กฎเกณฑ์ใหม่เกี่ยวกับมาตรฐานการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการเดินเรือทางทะเล โดยกำหนดให้เรือขนส่งลดปริมาณการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์หรือกำมะถันเหลือ 0.5% จากปัจจุบัน 3.5% เพื่อลดมลพิษ โดยกฎเกณฑ์ใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา นี่จึงถือเป็นโจทย์สำคัญ สำหรับภาคขนส่งทางเรือในการดำเนินงานควบคู่ไปกับความยั่งยืน  

ทั้งนี้ หนึ่งในผู้ให้บริการขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปผลิตภัณฑ์น้ำมันกึ่งสำเร็จรูป และปิโตรเคมีเหลวทางเรือรวมไปถึงการบริหารจัดการเรืออย่างครบวงจรอย่าง บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินธุรกิจที่มีความใกล้ชิดกับธรรมชาติทางทะเล โดยมีเรือทั้งหมดจำนวน 44 ลำ (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562) แบ่งเป็น ธุรกิจเรือขนส่งฯ กลุ่มพริมา มารีน และกิจการร่วมค้ามีเรือขนส่งที่ให้บริการจำนวน 33 ลำ ธุรกิจเรือขนส่งและจัดเก็บ (FSU) มีเรือให้บริการจำนวน 8 ลำ ธุรกิจเรือขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบสำหรับแท่นขุดเจาะน้ำมัน (FSO) จำนวน 2 ลำ และ ธุรกิจเรือขนส่งและที่พักอาศัยสำหรับพนักงานประจำแท่นขุดเจาะน้ำมันปิโตรเลียม (AWB)  1 ลำ

หนึ่งในพันธกิจ คือ มุ่งเน้นหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้ นโยบายการบริหารจัดการคุณภาพ อาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม (QHSE) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดำเนินธุรกิจ โดยการกำกับ ควบคุม กระบวนการปฏิบัติงานและพัฒนาการ ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิผลให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง (Continual Improvement)

อีกทั้งมุ่งเน้นให้ทั้งสำนักงานและเรือ เป็นสถานที่ปฏิบัติงานที่ถูกสุขลักษณะ และปลอดภัย สำหรับผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้บุคลากรของบริษัท มีการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนโยบายหลัก ได้แก่ “การบริหารคุณภาพทั่วทั้งองค์กร” ด้วยเครื่องมือการบริหารจัดการระบบคุณภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการและความพึงพอใจของลูกค้า รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นไปตามข้อกำหนดกฏหมายและข้อกำหนดของลูกค้า รวมถึงมาตรฐานและข้อกำหนดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ถัดมา คือ “ส่งเสริมให้มีการพัฒนาปรับปรุงแก้ไข” วิธีปฏิบัติงานตามนโยบายและระเบียบวิธีปฏิบัติให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย การพัฒนาทางเทคโนโลยี สถานการณ์ สิ่งแวดล้อม และสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง  “ใส่ใจในเรื่องอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน” ส่งเสริมให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดีและมีความสุขในการทำงาน

บริหารความเสี่ยงเพื่อป้องกันอันตราย” อุบัติการณ์ที่ก่อให้เกิดความสูญเสีย หรืออาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บและความเจ็บป่วยจากการทำงาน สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย เพื่อดูแลห่วงใยความปลอดภัยของทุกคน และ “ปรับปรุงเรื่องของผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง” โดยการควบคุมเรื่องน้ำถ่วงเรือ ลดขยะ การลดมลพิษทางอากาศ รวมทั้งใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

161673322627

วิริทธิ์พล จุไรสิทธุ์ ผู้อำนวยการสายงานการเงินและบัญชี บริษัท พรีมา มารีน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจของพรีมา มารีน ได้ทำตามกฎของ IMO ซึ่งปัจจุบันมีข้อตกลงกรณีเรือไปต่างประเทศ ในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ ทั้งนี้ การลดการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ หรือ กำมะถัน มี 2 วิธี คือ ใช้น้ำมันซัลเฟอร์ต่ำ และ ติดตั้งระบบสครับเบอร์ซึ่งเป็นระบบบำบัดก๊าซเสีย ซึ่งวิธีที่สองมีต้นทุนค่อนข้างสูงอยู่ระหว่างการพิจารณา อีกทั้ง ยังทำประกันตัวเรือ และประกันมลภาวะ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน ยังให้ความสำคัญกับ “จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ” โดยแนวทางปฏิบัติต่อสังคมโดยส่วนร่วม ได้แก่  ไม่กระทำการใดๆ ที่อาจก่อเกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม , ส่งเสริมให้มีการจัดกิจการรมเพื่อสร้างสรรค์สังคม รวมถึงการคืนกำไรให้แก่สังคมตามความเหมาะสม , ปลูกจิตสำนึกให้พนักงานทุกระดับมีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างจริงจัง และสม่ำเสมอ , ดำเนินการให้มีการปฏิบัติตามกฏหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยเคร่งครัด

รวมไปถึง ไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนให้มีการปฏิบัติที่ผิดกฎหมายหรือหลีกเลี่ยงกฎหมาย ให้ความร่วมมือทางราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจของบริษัท และ ไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการนำบริษัทเข้าไปเกี่ยวข้องหรือสนับสนุนผู้มีอิทธิพลทางการเมืองโดยมิชอบ

“การทำธุรกิจเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ต้องใส่ใจและให้ความสนใจเรื่องธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะทรัพยากรทางทะเล สิ่งสำคัญ คือ ปฏิบัติตามข้อระเบียบ กฎเกณฑ์ และไม่ทำลายธรรมชาติ” วิริทธิ์พล กล่าวทิ้งท้าย

161673324068

33 ปี ความผูกพันกับท้องทะเล

บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) มีจุดเริ่มในปี 2530 จากการจัดตั้ง บริษัท นทลิน จำกัด เพื่อให้บริการขนส่งสินค้าประเภทน้ำมันสำเร็จรูปให้แก่ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจเรือขนส่งน้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์น้ำมันกึ่งสำเร็จรูป และปิโตรเคมีเหลว

ต่อมา เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2550 นทลิน ได้ก่อตั้งบริษัท นทลิน ออฟชอร์ จำกัด ขึ้น และได้ขยายธุรกิจไปยังธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมน้ำมันและปิโตรเคมีเหลว และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท พริมา มารีน จำกัด เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2558และมีการปรับโครงสร้างบริษัท เพื่อให้เป็นบริษัทหลัก (Flagship Company)

ปัจจุบัน กลุ่มบริษัทฯ ให้บริการขนส่งและจัดเก็บสินค้า ทางเรือให้กับลูกค้าตามความต้องการอย่างครบวงจร รวมถึงการให้บริการเรือขนส่งและสนับสนุนปฎิบัติการทางทะเล และการบริหารจัดการเรือ ซึ่งการให้บริการของกลุ่มบริษัทฯ เป็นหัวใจสำคัญในห่วงโซ่อุปทาน (Supply and Value Chain) ของอุตสาหกรรมน้ำมันและปิโตรเคมี ด้วยความใส่ใจในคุณภาพและมาตรฐานของการให้บริการ