'คมนาคม' เข็นประมูลไฮสปีดเทรนไทย - จีน
“คมนาคม” เข็นประมูลไฮสปีดเทรนไทย - จีน ครบ 14 สัญญา ช่วงกรุงเทพฯ - โคราช เสร็จปีนี้ ให้บริการในปี 2569 ด้าน “อิตาเลียนไทย” ตั้งเป้าชิงสร้างสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง พื้นที่ทับซ้อนไฮสปีดสามสนามบิน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ช่วงกรุงเทพฯ - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา) โดยระบุว่า โครงการดังกล่าวซึ่งแบ่งออกเป็น 14 สัญญา ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ลงนามสัญญาจ้างเอกชนก่อสร้างแล้ว 10 สัญญา เหลือ 4 สัญญา คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีนี้
สำหรับ 4 สัญญาดังกล่าว ประกอบไปด้วย 1.สัญญาที่ 3-1 งานโยธาสำหรับช่วงแก่งคอย–กลางดง และช่วงปางอโศก–บันไดม้า วงเงิน 9,330 ล้านบาท 2.สัญญา 4-3 งานโยธาสำหรับช่วงนวนคร-บ้านโพ วงเงิน 11,525.36 ล้านบาท 3.สัญญาที่ 4-4 งานโยธาสำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย วงเงิน 6,573 ล้านบาท และ 4.สัญญาที่ 4-6 งานโยธาสำหรับช่วงพระแก้ว – สระบุรี วงเงิน 9,429 ล้านบาท โดยทุกสัญญา ร.ฟ.ท.จะทยอยส่งมอบพื้นที่ ออกหนังสืออนุญาตเข้าพื้นที่ (NTP) ภายใน 2 เดือนนี้
“ปีนี้จะมีการประมูลช่วงแรกกรุงเทพฯ - โคราช ครบทุกสัญญา ซึ่งเป้าหมายรัฐบาลจะเร่งดำเนินการก่อสร้าง เพื่อเปิดให้บริการภายในปลายปี 2569 หรืออย่างช้าในต้นปี 2570 นับเป็นโครงการไฮสปีดเทรนสายแรกของประเทศไทย ที่ประชาชนจะได้ใช้บริการ”
นอกจากนี้ ร.ฟ.ท.ยังอยู่ระหว่างศึกษาออกแบบโครงการไฮสปีดเทรนไทย - จีน ช่วงโคราช - หนองคาย คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ค.นี้ โดยจะเป็นส่วนต่อขยายของช่วงกรุงเทพฯ - โคราช เป้าหมายจะเปิดให้บริการต่อเนื่องกันภายในปี 2572 – 2573 หรือหลังจากเปิดช่วงกรุงเทพฯ - โคราช ราว 2 – 3 ปี ทั้งนี้เมื่อเปิดให้บริการครบทั้งเส้นทาง จะส่งเสริมการเดินทางและการขนส่ง เชื่อมโยงในภูมิภาค เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ในการเชื่อมไทยไปสู่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีน
นายศักดิ์สยาม ยังกล่าวอีกว่า การลงนามก่อสร้างงานโยธา ในโครงการไฮสปีดเทรนกรุงเทพฯ - โคราช ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา ร.ฟ.ท.ลงนามร่วมเอกชนคู่สัญญา 3 สัญญา วงเงินก่อสร้าง 2.7 หมื่นล้านบาทระยะเวลาก่อสร้างแต่ละสัญญา 1,080 วัน ประกอบด้วย
สัญญาที่ 4-3 งานโยธาสำหรับช่วงนวนคร - บ้านโพ วงเงินก่อสร้าง 1.15 หมื่นล้านบาท เป็นงานโครงสร้างทางรถไฟเป็นทางยกระดับ 23 กิโลเมตร (กม.) เอกชนคู่สัญญาบริษัท เอ.เอสแอสโซศซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด
สัญญาที่ 4-4 งานโยธาสำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย วงเงินก่อสร้าง 6.57 พันล้านบาท ประกอบด้วย ทางรถไฟระดับพื้นในศูนย์ซ่อมบำรุง งานอาคารภายในศูนย์ซ่อมบำรุงรวมถนนต่อเชื่อม เอกชนคู่สัญญา บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
และสัญญาที่ 4-6 งานโยธาสำหรับช่วงพระแก้ว - สระบุรี วงเงินก่อสร้าง 9.42 พันล้านบาท ประกอบด้วย งานโครงสร้างทางรถไฟ ระยะทางรวม 31.60 กม. เอกชนคู่สัญญาบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ลงนาม
นายสุเมธ สุรบถโสภณ รองประธานบริหารอาวุโส บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD เผยว่า ปัจจุบันบริษัทฯ เป็นคู่สัญญาก่อสร้างไฮสปีดเทรนไทย - จีน รวม 2 สัญญาแล้ว คือ สัญญาที่ 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. วงเงิน 9,848 ล้านบาท ปัจจุบันเข้าพื้นที่เตรียมงานก่อสร้าง และการลงนามครั้งนี้ในสัญญา 4 – 4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย
โดยแผนงานในอนาคต บริษัทฯ เตรียมร่วมประมูลงานโยธาในสัญญา 4 – 1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ซึ่งเป็นช่วงที่มีแนวเส้นทางทับซ้อนกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่บริษัทฯ เป็นพันธมิตรรับสัมปทาน และคาดว่าจะได้รับมอบหมายในงานโยธา