Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 29 March 2021
ราคาน้ำมันดิบผันผวน จากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ในยุโรป ท่ามกลางการจับตาผลการประชุมกลุ่มโอเปกพลัสในการปรับลดกำลังการผลิต
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 58-63 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 61-66 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (29 มี.ค. – 2 เม.ย. 64)
ราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวน หลังถูกกดดันจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ในยุโรป ส่งผลให้หลายประเทศกำหนดมาตรการเข้มงวดทางสังคมและออกมาตรการล็อกดาวน์อีกครั้งเพื่อจำกัดการแพร่ระบาด เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส และโปแลนด์ อย่างไรก็ตาม โรงกลั่นในสหรัฐฯ เริ่มกลับมาดำเนินการอีกครั้ง หลังจากที่พายุฤดูหนาวทำให้โรงกลั่นในเท็กซัสต้องหยุดดำเนินการผลิตชั่วคราวเมื่อเดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้ตลาดคาดว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ จะมีแนวโน้มลดลง รวมถึงสัปดาห์นี้ตลาดเฝ้าจับตาการประชุมของกลุ่มโอเปคและประเทศพันธมิตร (โอเปกพลัส) ในวันที่ 1 เม.ย. 64 ว่าจะคงระดับการปรับลดกำลังการผลิตต่อหรือไม่
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- ตลาดน้ำมันดิบมีแนวโน้มถูกกดดันจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ในยุโรป ซึ่งเป็นผลจากการแพร่กระจายของไวรัสกลายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร ซึ่งติดต่อง่ายกว่าสายพันธุ์ปกติ ส่งผลให้หลายประเทศกำหนดมาตรการเข้มงวดทางสังคมและออกมาตรการล็อกดาวน์อีกครั้งเพื่อจำกัดการแพร่ระบาด เช่น เยอรมนีขยายเวลาล็อกดาวน์ไปจนกระทั่ง 18 เม.ย. 64 ฝรั่งเศสใช้มาตรการล็อกดาวน์ในบางพื้นที่รวมถึงกรุงปารีสและเขตใกล้เคียงในวันที่ 21 มี.ค. 64 เป็นเวลา 1 เดือน และโปแลนด์ใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้งในวันที่ 20 มี.ค. 64 เป็นเวลา 3 สัปดาห์
- ตลาดจับตาการประชุมของกลุ่มโอเปคและประเทศพันธมิตร (โอเปคพลัส) ในวันที่ 1 เม.ย. 64 ว่าจะคงระดับการปรับลดกำลังการผลิตต่อหรือไม่ หลังความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มเติบโตชะลอตัวลงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ในยุโรป ซึ่งก่อนหน้านี้ กลุ่มโอเปคพลัสได้มีมติขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตที่ระดับ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มอีก 1 เดือน ไปสิ้นสุดในเดือน เม.ย. 64 รวมทั้งซาอุดิอาระเบียสมัครใจในการลดกำลังการผลิตเพิ่ม 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน มี.ค. – เม.ย. 64
- ปริมาณน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับเพิ่ม หลังบริษัทเบเกอร์ ฮิวจ์ รายงานตัวเลขแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ที่ 19 มี.ค. 64 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 9 แท่น ไปอยู่ที่ระดับ 318 แท่น ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 63 นอกจากนี้ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 19 มี.ค. 64 ปรับเพิ่มขึ้น 1.9 ล้านบาร์เรล ไปอยู่ที่ระดับ 7 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม โรงกลั่นในสหรัฐฯ เริ่มกลับมาดำเนินการอีกครั้ง หลังจากที่พายุฤดูหนาวทำให้โรงกลั่นในเท็กซัสต้องหยุดดำเนินการผลิตชั่วคราวเมื่อเดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้มีความคาดหวังว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ จะมีแนวโน้มลดลงในสัปดาห์ข้างหน้า
- บริษัท Saudi Aramco ของซาอุดิอาระเบียคาดการณ์อุปสงค์ความต้องการใช้น้ำมันดิบทั่วโลกจะฟื้นตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แตะระดับ 99 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในสิ้นปีนี้ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศจีนและเอเซีย ที่ฟื้นตัวใกล้สู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
- เยอรมนี ฝรั่งเศส และหลายประเทศในยุโรปประกาศกลับมาใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาอีกครั้งในวันที่ 19 มี.ค. 64 หลังจากที่หน่วยงานกำกับยาของสหภาพยุโรปออกมายืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัย โดยก่อนหน้านี้ หลายประเทศกังวลเกี่ยวกับปัญหาลิ่มเลือดอุดตันจากการใช้วัคซีนแอสตราเซเนกา ส่งผลให้การแจกจ่ายวัคซีนตัวนี้ถูกระงับในหลายประเทศ
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยูโรโซนเดือน มี.ค. 64 ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซนเดือน มี.ค. 64 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตสหรัฐฯ เดือน มี.ค. 64 อัตราการว่างงานสหรัฐฯ เดือน มี.ค. 64
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (22 - 26 มี.ค. 64)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 0.45 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 60.97 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.04 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 64.57 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 62.15 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตลาดถูกกดดันเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันสูงขึ้นโดยเฉพาะในยุโรป ส่งผลให้หลายประเทศต้องใช้มาตรการเข้มงวดทางสังคมและการล็อกดาวน์อีกครั้ง เช่นฝรั่งเศส เยอรมนี และโปแลนด์ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันได้รับแรงหนุนจากเหตุการณ์เรือขนส่งสินค้าลำใหญ่สูญเสียการควบคุม จนเรือเกยตื้นและขวางคลองสุเอซ เมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้การจราจรทางน้ำในคลองสุเอซติดขัด กระทบการเดินเรือมากกว่า 200 ลำ โดยผลกระทบเกิดขึ้นกับเรือบรรทุกสินค้าเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ผลกระทบต่อเรือขนส่งน้ำมันค่อนข้างจำกัด คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ในการแก้ปัญหาดังกล่าว