ครม.อนุมัติร่างกฎหมาย 2 ฉบับ ผุด 'กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ' สำหรับลูกจ้างทุกประเภท
ครม.อนุมัติร่างกฎหมาย 2 ฉบับ ผุด "กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ" สำหรับแรงงานในระบบทุกประเภท ทั้งลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวของราชการ พนักงานราชการ เจ้าหน้าที่องค์กรมหาชน และพนักงานในรัฐวิสาหกิจ
ผู้สื่อขาวรายงานว่า วันนี้ (30 มี.ค.2564) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม. วันที่ 30 มีนาคม 2564 ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์ผู้สูงอายุ ที่คาดว่าในอนาคต ถ้านับตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป จะมีคนไทยอายุ 60 ปี ถึงปีละ 1 ล้านคน และในปี 2576 จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นมาก คิดเป็นร้อยละ 28% ของประชาชนทั้งประเทศ ในขณะที่จำนวนเด็กที่เกิดใหม่ในปี 2562 มีจำนวนที่ลดลง เหลือเพียง 6.1 แสนคน นายกฯมีความกังวลอย่างมาก คือ คนไทยจะอยู่อย่างไรในวัยเกษียณถ้าไม่มีรายได้ จะทำอย่างไรให้มีความมั่นคงในบั่นปลายชีวิต มีเงินใช้อย่างเพียงพอ
วันนี้ ครม.ได้อนุมัติในหลักการร่างกฎหมาย 2 ฉบับ ซึ่งเกี่ยวกับข้องกับกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ที่เป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติสำหรับแรงงานในระบบทุกประเภท หรือพูดง่ายๆ คือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับภาคเอกชน
1.ร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ
ซึ่งมีสาระสำคัญคือ จัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ โดยใช้ชื่อว่า กบช. ให้เป็นหน่วยงานของรัฐ และมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ
วัตถุประสงค์คือ ให้เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบ ทั้งลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวของราชการ พนักงานราชการ เจ้าหน้าที่องค์กรมหาชน และพนักงานในรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยได้รับผลประโยชน์ในรูปแบบการจ่ายบำเหน็จบำนาญ
กองทุนนี้จะถือเป็นศูนย์กลางบูรณาการการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับระบบบำเหน็จบำนาญด้วย ในสาระของกฎหมาย กำหนดให้ลูกจ้างที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และไม่เกิน 60 ปี ที่ไม่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ต้องเป็นสมาชิกของ กบช. กำหนดให้ลูกจ้างและนายจ้างส่งเงินสมทบแต่ละฝ่าย โดยกำหนดเพดานค่าจ้างสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาทต่อเดือน
เช่น ถ้าเป็นลูกจ้างปีที่ 1-3 ต้องจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของค่าจ้าง ปีที่ 4-6 ต้องจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของค่าจ้าง ถ้าปีที่ 10 เป็นต้นไป ไม่น้อยกว่าร้อยละ 7-10 ของค่าจ้าง ถ้ากรณีที่ลูกจ้างเงินเดือนน้อยกว่า 10,000 บาท ให้นายจ้างส่งเงินสมทบเพียงฝ่ายเดียว
โดยการรับเงินจาก กบช.นี้ จะรับเงินเมื่อสมาชิกอายุครบ 60 ปี สามารถเลือกได้ว่าจะเป็นบำเหน็จหรือบำนาญรายเดือนเป็นระยะเวลา 20 ปี
2.ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ
ซึ่งจะเป็นการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติให้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำนโยบายแผนแม่บทและแนวทางการจัดระบบบำเหน็จบำนาญในภาพรวมของประเทศ โดยคณะกรรมการประกอบด้วย 13 คน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นกรรมการและเลขานุการ
ในลำดับต่อไป ครม.ได้ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาและรับฟังความคิดเห็นจากกระทรวงแรงงาน สำนักงาน กพ. และ กพร. รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ประกอบการพิจารณาและดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย