ศิลปาชีพระหว่างประเทศ ปั้นสตาร์ทอัพงานคราฟต์
ศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศยกระดับหัตถศิลป์ไทยภาคใต้ ปั้นแบรนด์สู่ยุคสมัย พร้อมดึงเทคโนโลยี องค์ความรู้ภูมิปัญญา สนับสนุนการตลาดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์-ออฟไลน์
นายพรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (SACICT) กล่าวว่า เป้าหมายหลักของการทำงานอย่างคือการเป็นหน่วยงานที่ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ภูมิปัญญาและองค์ความรู้งานด้านศิลปหัตถกรรมไทย ผ่านการยกระดับศักยภาพผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย และผู้ประกอบการงานคราฟต์ ซึ่งส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับการใช้งานของผู้บริโภคในปัจจุบัน รวมถึงสนับสนุนด้านการตลาดให้งานศิลปหัตถกรรมไทยเป็นที่รู้จัก เพิ่มความนิยมผ่านช่องทางการขายออนไลน์ในแพลตฟอร์มต่างๆ
นับเป็นโอกาสดีที่ในปัจจุบันประเทศไทยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการส่งออกกำลังกลับมา SACICT จึงกำหนดแผนลงพื้นที่เหนือ-กลาง-อีสาน-ใต้อัพสกิลผู้ประกอบการงานคราฟต์หวังสร้างสตาร์ทอัพงานหัตถกรรมไทย พร้อมเฟ้นหาช้างเผือกหัตถศิลป์ไทยมาต่อยอดด้วยนวัตกรรมและการออกแบบร่วมสมัย เพื่อรองรับงานแฟร์ใหญ่ที่กำลังจะจัดกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศในช่วงกลางปีนี้ ก่อนจะเร่งสร้างมาตรฐานเตรียมดันส่งออกอีกครั้งภายในปีนี้
สำหรับการจัดกิจกรรมในภาคใต้ครั้งนี้ ได้จัดขึ้นที่จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 18-19 มี.ค. ที่ผ่านมา และถือครั้งแรกที่ผู้ประกอบการงานศิลปหัตถกรรมไทยในภาคใต้จะมารวมกันมากที่สุด เพื่อจับมือพัฒนาและขับเคลื่อนหัตถกรรมท้องถิ่นให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ร่วมสมัย เสริมศักยภาพ พัฒนาทั้งตัวสินค้าและวิธีคิดให้ทันกับโลกยุคใหม่
เพื่อสามารถสร้างยอดขายของงานหัตถกรรมด้วยการตลาดเชิงรุกทั้งออนไลน์และออฟไลน์ พร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายการค้าและการตลาดใหม่ๆ เพื่อให้กลายเป็น สมาร์ทคราฟต์สตาร์ทอัพ
“การทำงานศิลปหัตถกรรมไทยในทุกปัจจุบัน ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เนื่องจากโลกเปลี่ยนเร็วมากด้วยเทคโนโลยีการสื่อสาร และการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีวิต ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สนใจงานหัตถกรรม ทำให้ตลาดงานศิลปหัตถกรรมเล็กลง ดังนั้น คนทำงานหัตถกรรมจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย”
จากทิศทางงานศิลปหัตถกรรมขณะนี้ สอดคล้องกับเป้าหมายการดำเนินงานของ SACICT คือ ส่งเสริมสนับสนุนเทคโนโลยีและพัฒนาวัสดุในการผลิตศิลปหัตถกรรมไทยและงานศิลปาชีพ ร่วมกับ หน่วยงานพันธมิตร สนับสนุนข้อมูล ภูมิปัญญา องค์ความรู้ ที่จำเป็นในงานหัตถกรรมสำหรับ ผู้ประกอบการ ที่เกี่ยวข้อง และสนับสนุนการตลาด และจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์