‘H&M’ ขาดทุนนับพันล้านไตรมาสแรก เซ่นกระแสบอยคอตในจีน
"H&M" เผย ขาดทุนกว่า 3,800 ล้านบาทในไตรมาสแรก แต่ยืนยันจะหันมาฟื้นความเชื่อใจหุ้นส่วนธุรกิจ และเหล่านักช้อปในแดนมังกร หลังถูกชาวจีนเปิดศึกโต้กลับ กรณีประกาศแบนฝ้ายจากซินเจียง ปมใช้แรงงานทาสชาวอุยกูร์
เมื่อวันพุธ (31 มี.ค.) H&M บริษัทผู้ผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายสัญชาติสวีเดน และยักษ์ใหญ่ค้าปลีกสินค้าแฟชั่นอันดับ 2 ของโลก รายงานผลประกอบการระหว่างช่วงเดือน ธ.ค. 2563 ถึง ก.พ. 2564 ซึ่งเป็นไตรมาสแรกของปีงบการเงินของบริษัท ปรากฏว่า ขาดทุนสุทธิ 1,070 ล้านโครน หรือราว 3,830 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนหน้าที่มีกำไรอยู่ที่ 1,930 ล้านโครน หรือกว่า 6,900 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน บริษัทยังต้องปิดสาขาจำนวนมากในหลายประเทศก่อนหน้านี้ จากวิกฤติการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มูลค่าหุ้นของบริษัทลดลง 2% ในการซื้อขายวันพุธ
ขณะนี้ H&M กำลังเผชิญการต่อต้านอย่างหนักจากลูกค้าในจีน หลังจากมีการเผยแพร่แถลงการณ์ของบริษัททางสื่อออนไลน์ตั้งแต่ปี 2563 มีเนื้อหาแสดงความวิตกเกี่ยวกับรายงานที่แฉการบังคับใช้แรงงานในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ และว่าบริษัทจะไม่ใช้ฝ้ายจากซินเจียงอีกต่อไป
จุดกระแสให้กลุ่มแบรนด์ดังโลกทั้งค้าปลีกแฟชั่น-เครื่องกีฬา อย่าง Nike, Adidas, Burberry และอีกหลายบริษัท ออกมาร่วมขบวนบอยคอตฝ้ายซินเจียง จนบริษัทเหล่านี้ก็ถูกกลุ่มผู้รักชาติในจีน ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ บุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงต่าง ๆ กลุ่มบริษัทรายใหญ่ และผู้บริโภคบอยคอตสินค้า เนื่องจากกล่าวหาจีนว่าละเมิดสิทธิมนุษย์ชน
นอกจากนี้ H&M แถลงผ่านเว็บไซต์ของบริษัทวันพุธว่า พันธะสัญญาและความร่วมมือระหว่าง H&M กับจีนยังคงเหนียวแน่น และบริษัทจะมุ่งมั่นเพื่อฟื้นความเชื่อใจและมั่นใจกับผู้บริโภค ผู้ร่วมงาน และหุ้นส่วนในจีนให้กลับมาอีกครั้ง เพื่อเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่น ตอบสนองความต้องการผู้บริโภค และเคารพซึ่งกันและกัน
อย่างไรก็ตาม ในแถลงการณ์ H&M ไม่ได้ระบุถึงประเด็นซินเจียงอุยกูร์แต่อย่างใด
ปัจจุบัน จีนถือเป็นตลาดใหญ่อันดับ 4 ของ H&M แต่เป็นแหล่งวัตถุดิบอันดับ 1 ของทางบริษัท