'การเมือง' สร้างริ้วรอย 'เศรษฐกิจเมียนมา'
ความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้นของเมียนมาในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจให้ทรุดลงไป จากที่เพิ่งเริ่มเชิดหัวขึ้นได้แค่ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งหากความไม่สงบยังไม่จบลงโดยเร็ว อาจทิ้งบาดแผลที่ไม่อาจเยียวยาให้หายไปได้ในเร็ววันได้
ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากความไม่สงบทางการเมืองในเมียนมาที่ถูกสะท้อนผ่าน "ค่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ" (Purchasing Managers' Index หรือ PMI) เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ตกลงมาเหลือ 27.7 จุด ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลชุดนี้ในเมียนมา แม้ว่าในปีก่อนค่า PMI เคยตกลงมาค่อนข้างแรงสองครั้งจากการระบาดของโควิด แต่ก็มีการฟื้นตัวค่อนข้างเร็ว ซึ่งต่างจากการตกลงครั้งนี้ที่ไม่แน่ใจว่าจะลากยาวไปจนถึงเมื่อไร
ค่า PMI เป็นดัชนีที่คำนวณจากข้อมูลยอดสั่งซื้อใหม่ ปริมาณสินค้าคงคลัง สายการผลิต การส่งสินค้า และการจ้างงาน เป็นเครื่องมือสะท้อนภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่นิยมใช้กันมาก เพราะสามารถจัดเก็บข้อมูลได้รวดเร็ว และสามารถชี้ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจในระยะสั้นถึงระยะกลางได้ค่อนข้างดี
การที่ค่า PMI ของเมียนมาตกลงและอาจจะลากยาวไปแบบนี้อีกสักพักใหญ่เกิดจากหลายเหตุปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นความไม่สงบภายในประเทศ แนวโน้มที่ประเทศต่างๆ จะใช้มาตรการทางการค้ากดดันกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับการก่อรัฐประหาร รวมถึงการที่บริษัทต่างชาติที่ไปลงทุนในเมียนมาถูกผู้ประท้วงต่อต้านทั้งในระดับเบาด้วยการระบายความไม่พอใจด้วยคำพูด จนถึงการแสดงออกอย่างรุนแรงด้วยการทำลายทรัพย์สินของบริษัท
กรณีที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนบริษัทต่างชาติมากที่สุด น่าจะเป็นการที่ผู้ประท้วงกว่า 2,000 คนปิดเส้นทางไม่ให้รถดับเพลิงเข้าไปยังเขตอุตสาหกรรม เพื่อดับไฟที่เกิดจากการวางเพลิง ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์เดอะโกลบอลไทมส์ของจีนรายงานว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้โรงงานที่มีนักธุรกิจจีนเป็นหุ้นส่วนได้รับความเสียหาย 32 แห่ง คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 36.89 ล้านดอลลาร์ มีชาวจีนได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์นี้จำนวนหนึ่ง ทิศทางความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในช่วงเดือน มี.ค.ยิ่งทำให้มีความกังวลกันว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้อาจเกิดขึ้นอีก
แม้ว่ามูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจะไม่มากนัก เมื่อเทียบกับมูลค่าการลงทุนทั้งหมดของจีนในเมียนมา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้บริษัทต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนต้องยกระดับความเสี่ยงการทำธุรกิจในประเทศนี้ให้สูงขึ้นไปอีก สำหรับบริษัทที่มีเป้าหมายในการลงทุนเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นนี้อาจส่งผลให้ต้องชะลอการลงทุนจนกว่าทิศทางทางการเมืองภายในประเทศจะมีความชัดเจนเสียก่อน แล้วค่อยกลับมาลงทุนใหม่ หรือถึงไม่กลับมาก็จะมีบริษัทอื่นที่รอหาโอกาสเข้ามาแทน ผลกระทบในระยะยาวจึงไม่รุนแรงนัก
ด้านแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน แม้ว่าในท้ายที่สุดแล้วผลการประท้วงจะออกมาอย่างไร โครงการเหล่านี้ก็ต้องเดินหน้าต่อไป ยิ่งไปกว่านั้นการเดินหน้าที่ช้ากว่ากำหนดย่อมลดทอนความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เมื่อเวลาผ่านไปบวกกันความเสี่ยงทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นย่อมทำให้ต้นทุนในการก่อสร้างเพิ่มไปอีก เมื่อคุ้มค่าน้อยลงแต่ค่าใช้จ่ายมากขึ้น ภาษีจากบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในจุดที่มีโครงสร้างพื้นฐานดีย่อมลดลงตามไปด้วย บางโครงการที่เคยคุ้มค่าก็อาจกลายเป็นโครงการที่ไม่เหมาะสมอีกต่อไป
การขาดโครงสร้างพื้นฐานบวกกับความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยเฉพาะความเสี่ยงจะโดนลูกหลงจากการประท้วงจนบริษัทเสียหาย เช่น กรณีของบริษัทจีน ย่อมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อบริษัทต่างชาติที่ต้องการใช้เมียนมาเป็นฐานในการผลิตเพื่อส่งออกและขายภายในประเทศ เพราะนอกจากจะได้รับผลกระทบจากการที่ประเทศต่างๆ ใช้มาตรการทางเศรษฐกิจกดดันแล้ว ภาพลักษณ์ของบริษัทจะได้รับผลกระทบเช่นกัน ซึ่งผลกระทบนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะสินค้าที่ผลิตในเมียนมา สินค้าของบริษัทเดียวกันที่ผลิตในประเทศอื่นอาจถูกต่อต้านไปด้วย
หากจะว่าไปแล้ว เศรษฐกิจของเมียนมาเพิ่งจะเริ่มเชิดหัวขึ้นได้แค่ 10 กว่าปี ประชาชนและรัฐบาลเริ่มได้รับประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนบางกลุ่มให้ดีขึ้น หลายพื้นที่เริ่มมีการพัฒนาเป็นรูปธรรม แม้ว่าเป็นการพัฒนาแบบเฉพาะกลุ่มและเฉพาะจุด อย่างน้อยก็เป็นทิศทางที่ดีของประเทศ
ความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้น เปรียบได้กับค้อนอันใหญ่ที่ทุบฟาดเศรษฐกิจของประเทศให้ทรุดลงไป หากความไม่สงบนี้ยังไม่จบลงโดยเร็วด้วยวิธีที่เหมาะสม บางทีประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่สะสมมาตลอดสิบกว่าปีนี้อาจจะหายไปหมด ทิ้งไว้แค่บาดแผลที่ไม่อาจเยียวยาให้หายไปได้ในเร็ววัน