'จุรินทร์' ย้ำแก้ รธน.รายมาตรา ลั่นโหวตนายกฯ มาจาก ส.ส.เท่านั้น
"จุรินทร์" สั่ง "ประชาธิปัตย์" เร่งหารือวิป 3 ฝ่ายแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ลั่นโหวตนายกฯ มาจาก ส.ส.เท่านั้น
วันที่ 5 เม.ย. ที่ศาลอาญา รัชดา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี รมว.พาณิชย์ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์เดินหน้าแก้ไขรายมาตรา และได้ยกร่างเสร็จสิ้นแล้วทั้งหมด 6 ร่างเพื่อไม่ให้ประเด็นใดประเด็นหนึ่งกระทบหากมีประเด็นไหนต้องตกไป ก่อนจะนำไปหารือในที่ประชุม ส.ส.ของพรรคและมอบหมายให้นายชินวรณ์ บุญญเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช ในฐานะวิปของพรรคไปหารือกับพรรคภูมิใจไทยและชาติไทยพัฒนา ว่ามีความเห็นอย่างไร เพื่อนำไปคุยกับวิปรัฐบาลอีกขั้นตอนหนึ่งเพื่อแสวงหาจุดร่วมกัน
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า จากนั้นต้องไปคุยกับฝ่ายค้าน และวิป ส.ว. หรือเรียกว่าวิป 3 ฝ่าย เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของที่ประชุมร่วม ก็ต้องมีเสียงฝ่ายค้านไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 และจำนวนนั้นต้องมี ส.ว. 1 ใน 3 รวมอยู่ด้วย โดยในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีหัวใจสำคัญในการขยายสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิชุมชน การกระจายอำนาจ การเพิ่มศักยภาพการตรวจสอบคอรัปชัน ที่สำคัญการแก้ไขมาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดการแก้ไขรัฐธรรมนูญยุ่งยากมาก หรือแทบจะแก้ไขไม่ได้เลย
นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นมาตรา 256 พรรคประขาธิปัตย์เห็นว่าควรใช้เสียง 3 ใน 5 โดยไม่จำเป็นต้องมีเสียงฝ่ายค้านจำนวนเท่าไหร่ หรือเสียง ส.ว.จำนวนเท่าไหร่ หรือไม่จำเป็นต้องทำประชามติ เพื่อให้สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้แล้ว ส่วนประเด็นเรื่องอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีในสภาฯให้มาจาก ส.ส.เท่านั้น เพื่อให้ตรงกับเจตนารมณ์ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่ม นปช. ได้ปราศรัยในการชุมนุมกลุ่มไทยไม่ทนฯ เรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล นายจุรินทร์ กล่าวว่า เรื่องนี้ตอบไปหลายครั้งแล้วว่าต้องพิจารณาให้รอบคอบว่า ผลกระทบใดในทางการเมืองที่เกิดขึ้น จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต้องนำไปสู่การเลือกตั้ง ปัญหาการเมืองจะย้อนกลับมาที่เดิมอีก เพราะต้องมีการเลือกตั้งในกติกาเดิม ซึ่งรัฐธรรมนูญยังไม่แก้ไข การเมืองแบบเบี้ยหัวแตกก็จะวนกลับมาที่เดิม แล้วจะมีการเรียกร้องแก้รัฐธรรมนูญวนกลับมา ดังนั้นต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบด้วย
"ส่วนการชุมนุมทำได้ถ้าใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมาย แต่ต้องระวังไม่ให้กระทบกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งต้องช่วยกันทั้งสองฝ่ายทั้งผู้ชุมนุม รัฐบาล หรือผู้มีอำนาจต้องไม่สร้างเงื่อนไขให้มีการชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นทางออกทางหนึ่งจะช่วยลดความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น"นายจุรินทร์ กล่าว