'5 นิวเจน’ คิดใหญ่ ฝ่า'คลื่นดิสรัป'

'5 นิวเจน’ คิดใหญ่ ฝ่า'คลื่นดิสรัป'

2 ทายาท ‘เจียรวนนท์-จิราธิวัฒน์’ ยึดโมเดล 'มองตลาดโลก-เร็วทันเทรนด์'  "ยอด" ชี้ทำธุรกิจต้องอึด “พิจิตต์” คิดใหญ่ ดันรพ.โตระดับปท. 

'ไลน์แมนวงใน’กับอาณาจักดิลิเวอรี่ทั่วไทย

ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไลน์แมนวงใน ให้สัมภาษณ์ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่าธุรกิจฟู้ดดิลิเวอรีเติบโตขึ้นมาก รับผลกระทบเชิงบวกจากวิกฤติโควิด ปี 2563 เทียบกับปีก่อนหน้า ยอดออร์เดอร์ของไลน์แมนวงในเติบโตขึ้นกว่า 5 เท่า แต่การเติบโตนี้ก็มาพร้อมกับหลากหลายความท้าทาย

ดังนั้นแนวทางในการบริหารธุรกิจ จึงไม่ใช่แค่มุ่งเป้าให้ธุรกิจเติบโตอย่างเดียว แต่หวังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ร้านอาหารค้าขายได้ คนขับรถมีรายได้ ผู้ใช้สามารถสั่งอาหารได้อย่างสะดวก และสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวชี้วัดผู้ชนะในสนามฟู้ดดิลิเวอรี

ยอด บอกว่า เคล็ดลับท่ี่ทำให้ประสบความสำเร็จ มาจากความอึด (Grit) การก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำ จะต้องทำงานให้หนักและต้องไม่ยอมแพ้ ที่ผ่านมาจะมีการบอกเล่าเป้าหมายที่ชัดเจนแก่พนักงาน ว่ากำลังจะไปในทิศทางใด ฝึกมองไปข้างหน้าว่าอะไรจะเกิดขึ้น โควิดนับเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่า “เราไม่สามารถคาดการณ์ทุกอย่างได้” 

"ต้องเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ที่หลากหลายให้ได้ เราเองไม่จำกัดอยู่กับธุรกิจมีเดียอย่างเดียว แต่ยังมีการขยายไปยังฟู้ดดิลิเวอรี มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว หรือแม้แต่สปาความงาม เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันมากระทบกับธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งก็จะรับมือกับสถานการณ์ได้ดี"

ด้านความสำเร็จที่อยากไปให้ถึง หากเป็นก่อนหน้านี้คงเคยได้ยินมาว่าเป้าหมายของวงในคือการเป็นยูนิคอร์นตัวแรกของไทย แต่เมื่อผ่านการควบรวมกิจการมาจนถึงวันนี้ เส้นชัยของไลน์แมนวงในอาจไม่ใช่ยูนิคอร์น เพราะการที่จะเติบโตไปให้ไกล ไม่ได้มีแค่ประเด็นนี้เท่านั้น

“เป้าหมายใหม่ที่เราจะเดินไปคือ Help Thai People Live Better อาศัยจุดเด่นเรื่องอีโคซิสเต็มที่ครบวงจร ผนวกกับความแข็งแกร่งในการเชื่อมต่อกับไลน์ช่วยพัฒนาธุรกิจท้องถิ่นในไทย ผ่านการเชื่อมต่อลูกค้า คนทำงาน และธุรกิจท้องถิ่นเข้าด้วยกัน โดยภายในสิ้นปีนี้ตั้งเป้าขยายบริการฟู้ดดิลิเวอรี่ไป 77 จังหวัดทั่วไทย"

“รพ.วิภาวดี”ต้องใหญ่ ติดระดับประเทศ

"พิจิตต์ วิริยะเมตตากุล" กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงพยาบาลวิภาวดี จำกัด (มหาชน) นักธุรกิจรุ่นใหม่ ทายาท “ชัยสิทธิ์ วิริยะเมตตากุล” กล่าวว่า เริ่มต้นชีวิตการทำงานหลังเรียนจบปริญญาตรีในบริษัทเอกชนในธุรกิจโลจิสติกส์ เนื่องจากคุณพ่ออยากให้ลูกทุกคนหาประสบการณ์การทำงานข้างนอกก่อน อยากให้ได้เรียนรู้แนวทางรวมทั้งระบบการทำงานต่างๆ จากองค์กรขนาดใหญ่

“ผมทำงานอยู่ราว 1 ปี คุณพ่อก็เรียกให้กลับมาช่วยธุรกิจของครอบครัว โดยเริ่มต้นที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ พร้อมกับการเรียนต่อปริญญาโทควบคู่กันไป”

หน้าที่หลัก คือ การหาลูกค้ามาเช่าพื้นที่ในอาคาร ซึ่งก็ทำได้ไม่นานพื้นที่เช่าก็เต็ม และผลงานนี้ทำให้เมื่อราว 4-5 ปีก่อน คุณพ่อเห็นความสามารถจึงชักชวนให้เข้ามาทำงานในธุรกิจโรงพยาบาลวิภาวดี แต่เนื่องจากไม่มีความรู้ในธุรกิจโรงพยาบาล จึงเริ่มฝึกงานในทุกแผนก" 

ก่อนจะเลื่อนตำแหน่งมาเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ขยับมาเป็นรองกรรมการผู้จัดการ และล่าสุดตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2562 หน้าที่หลักๆดูภาพรวมธุรกิจทั้งบัญชีการเงิน และการตลาด ขณะที่ในส่วนของแพทย์ และพยาบาลจ ะมีผู้อำนวยการโรงพยาบาลเป็นคนดูแล

เขา กล่าวว่า งานในธุรกิจโรงพยาบาลมีความท้าท้ายสูงมาก ด้วยธุรกิจโรงพยาบาลมีความแตกต่างจากธุรกิจอื่นๆ ที่เคยทำมา ขนาดขององค์กรก็ใหญ่กว่า และยังมีหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการประสานงาน รวมทั้งธุรกิจมีความซับซ้อนมากกว่า แต่ก็ไม่ใช่ปัญหา

“ผมต้องทำธุรกิจให้ดีกว่าเดิม หากไม่ดีกว่าเดิมแย่สุดต้องเท่าเดิม” พิจิตต์ กล่าวถึงหลักในการบริหาร

หากถามถึงผลงานชิ้นโบว์แดง ที่คณะกรรมการเห็นความสามารถ เช่น เรื่องต้นทุนทางการเงินที่ลดต้นทุนลงได้จากค่าธรรมเนียมในการรูดบัตรธนาคารต่างๆ ที่ปรับให้เหลือเครื่องรูดบัตรเพียง 1 เครื่องเท่านั้น ขณะที่เรื่องการตลาดได้ปรับการตลาดให้เข้ากับยุคใหม่ เช่น ไลน์แอด, เปิดช้อปลาซาด้า เพื่อขายแพ็กเกจโปรแกรมตรวจสุขภาพ และ อีคอมเมิร์ซ

สุดท้ายเป้าหมายในอนาคตที่อยากเห็นธุรกิจของโรงพยาบาลวิภาวดีคือ การทำให้โรงพยาบาลมีขนาดใหญ่ติดอันดับต้นๆของประเทศไทย จากจำนวนเครือข่ายที่มีในตอนนี้กว่า10 แห่งทั่วประเทศ

“จิรายุส”ปั้น“บิทคับ”ยูนิคอร์นตัวแรกของไทย

เปิดต้นปี 2564 กลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่อีกครั้งหนึ่งสำหรับปรากฎการณ์ “บิทคอยน์”หลังทำราคาพุ่งขึ้นสูงเกิน 1 ล้านบาท และปิดไตรมาสแรกปีนี้ด้วยราคาที่เป็นสถิติใหม่สูงสุด 1.8 ล้านบาทต่อ 1 บิทคอยน์

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเมื่อกล่าวถึง “วงการคริปโตเคอเรนซีของไทย” วินาทีนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก “ท๊อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” นักธุรกิจรุ่นใหม่วัย 31 ปีที่พกดีกรีปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ University of Oxford, UK และ ปริญญาตรี เศรษฐศาสตร์ The University of Manchester, UK (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง)ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์หรือBitkub

ในเวลา 3 ปี เขาปลุกปั้น “ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล www.bitkub.com” จนครองส่วนแบ่งอันดับหนึ่งในไทยถึง 90% มีผู้ใช้งานใหม่ที่สมัครเข้ามาในระบบวันละมากกว่า 40,000 คน และมียอดเทรดคริปโตฯเฉลี่ย 4,000 ล้านบาทต่อวัน เติบโต 1,000% จากสิ้นปี 2563

แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ "จิรายุส” บอกว่า เพราะเราเป็นคนส่วนน้อยที่เชื่อในคริปโตฯ จะพัฒนาโลกการเงินได้ และเป็นคนส่วนน้อยที่ถูก ขณะที่คนส่วนใหญ่ยังมองข้ามทำให้โอกาสเกิดขึ้นกับเราอย่างมหาศาล

ด้วยมูลค่าตลาดคริปโตฯทั่วโลกปัจจุบัน 1.6 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็น 10% มูลค่าตลาดทองคำที่มีมูลค่า 100 ล้านล้านดอลลาร์ คริปโตฯยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก จากการเข้ามาลงทุนของบริษัทใหญ่ๆและสถาบันการเงินที่เริ่มแนะนำลูกค้ามั่งคั่ง เช่น Paypal หรือ เจพีมอร์แกน มอร์แกนสแตนเลย์ เข้ามาลงทุน

วันนี้ตลาดคริปโตฯเรายังเห็นเพียงแค่ ยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ข้างล่างยังมีอีกหลายสิ่งที่จะเติบโตขึ้นมาได้อีกมาก เราเชื่อมั่นว่า คริปโตฯ เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว และไม่มีวันตายไปจากโลกนี้

“จิรายุส”บอกว่าตัดสินใจโดดเข้ามาสร้างวงการคริปโตฯในไทยตั้งแต่ 8 ปีก่อน ตั้งเป้าหมายว่า ในวงการการเงินยังต้องเป็นของคนไทย 100%และจะผลักดันให้ “บิทคับ” เป็น ยูนิคอร์น ตัวแรกของประเทศ ภายในสิ้นปีนี้ โดยมีมูลค่าบริษัทมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นไปได้ ถ้าเราสามารถรักษาการเติบโตระดับ 1,000% ต่อไปได้อีกในช่วง 9 เดือนหลังจากนี้

“เราต้องการเป็นบริษัทเทคโนโลยีใหม่ของคนไทยให้ได้ ให้คนไทยภาคภูมิใจสามารถเป็นยูนิคอร์นตัวแรก เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ แสดงถึงศักยภาพว่า คนไทยก็เก่งเหมือนกัน อยากปลุกใจให้คนรุ่นใหม่กล้าที่จะลุกขึ้นมา สร้างสิ่งใหม่ให้กับประเทศไทยของเรา”

แต่ปัจจัยหนึ่งที่จะมาหนุนเป้าหมายของเราด้วยนั้น คือ เทรนด์การเติบโตของตลาดคริปโตฯในไทยด้วย ซึ่งขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ของทางภาครัฐที่จะออกมากำกับดูแล ถ้าออกมาไม่ถูกทางอาจจะเป็นจุดจบของวงการการเงินไทยในโลกอนาคตไปเลยก็ได้

อย่างไรก็ตามเรายังไม่หยุดเพียงเท่านี้ ล่าสุดเตรียมเปิดธุรกิจใหม่เป็นธุรกิจที่ 4 ของกลุ่ม คือ “บิทคับ เวนเจอร์” ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท และจะใช้เงินลงทุนเริ่มแรก 500-600 ล้านบาท เพื่อลงทุนในทุกสตาร์ทอัพที่มีคุณภาพและมีซินเนอน์ยี่กับกลุ่มของเราได้และยังมีแผนการจัดตั้งบริษัทใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอีโคซิสเต็มของคริปโตฯทั้งหมดอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการขอใบอนุญาตไพรเวทแอดไวซ์เซอรี่ไลเซนส์, ไพรเวทฟันด์ไลเซนส์ , ไอซีโอพอร์ทัล และคัสโตเดียน

สำหรับนักธุรกิจทุกรุ่น ที่กำลังต่อสู้อยู่ในขณะนี้ เขาแนะนำว่า ขอให้เชื่อมั่นในสิ่งที่ทำอยู่ มีความพยายามและอดทนสูงยอมรับความเจ็บปวดให้ได้ เป็นพื้นฐานที่ต้องมีอยู่แล้ว อย่าท้อแท้ ล้มเลิก เดินหน้าต่อไปทุกวัน