'ชินวรณ์' เตรียมถกวิปรัฐบาลวันนี้ เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา 6 ร่าง
"ชินวรณ์" เผยเตรียมถกวิปรัฐบาลวันนี้ เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ก่อนนำผลคุยต่อ "วิปค้าน-วิปส.ว."
วันที่ 5 เม.ย. นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล เปิดเผยว่า สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นร่างรายมาตรา รวม 6 ฉบับ ประกอบด้วย
1.แก้ไขมาตรา 256 เพื่อแก้รัฐธรรมนูญจากยากให้เป็นง่ายโดยใช้เสียง 1 ใน 5 ที่ลงมติผ่านกรรมาธิการมาแล้ว
2.มาตรา 272 ตัดอำนาจวุฒิสภาโหวตนายกฯ
3.เพิ่มสิทธิเสรีภาพและชุมชน ให้เหมือนกับรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550
4.การกระจายอำนาจ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 จำกัดหลายเรื่อง ซึ่งต้องการให้ท้องถิ่นจัดการตนเอง
5.การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและธรรมาภิบาล
6.ระบบการเลือกตั้ง ที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เสนอบัตร 2 ใบ เป็นส.ส.เขต 400 คน และบัญชีรายชื่อ 100 คน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา เห็นตรงกัน โดยเฉพาะระบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งสร้างปัญหา จนทำให้เกิดรัฐบาลผสมกว่า 20 พรรค ทำการเมืองไม่มีเสถียรภาพ
นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ จะนำสิ่งที่แก้ไขไปแสวงหาความเห็นพ้องกับพรรคการเมืองอื่น รวมถึงประชาชน แต่ประเด็นใหญ่ชัดเจนจะไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 และมาตราที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจทั้งหมด ส่วนความต่างของร่างพรรคร่วมกับพลังประชารัฐนั้น จาการคุยกับประธานวิปรัฐบาล และนายอนุชา นาคาศัย เลขาธิกาพรรคพลังประชารัฐ ก็เข้าใจตรงกัน และเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่จะเสนอ เนื่องจากมีเกิน 100 เสียงตามกฎหมาย แต่ 3 พรรครัฐบาลมีไม่ถึง 100 เสียงจึงร่วมกันเพื่อเสนอ แต่ไม่ใช่ความขัดแย้ง เป็นการแสวงหาความร่วมมือ
"การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เพื่อสะเดาะกลอนให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น นอมรับว่าเรื่องนี้ ยังไม่ได้คุยพรรคฝ่ายค้าน เพราะเป็นสิทธิฝ่ายค้าน เพราะมีเสียงพอลงชื่อเสนอ และวันนี้จะมีการประชุมวิปรัฐบาลส่วนผลเป็นอย่างไร จะนำไปคุยกับวิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา แต่ขอให้จริงใจแก้ได้จริง เพราะเป็นการแก้กฎหมายหลักประเทศ และดึงฟืนออกจากกองไฟ"นายชินวรณ์ กล่าว
นายชินวรณ์ ยืนยันว่าสำหรับความสัมพันธ์กับพรรคร่วมรัฐบาลยังดีอยู่ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนรัฐบาล แต่การแก้ไขเห็นต่างกันบ้างเป็นเรื่องธรรมดา และต้องเคารพจุดยืน อุดมการณ์ แต่ละพรรค สมมุติถ้าไม่ได้แก้รัฐธรรมนูญ ยุบสภา หรือเกิดอะไรแล้วแต่ ทุกอย่างจะกลับไปสู่จุดเดิมในการตั้งรัฐบาล ดังนั้นควรทำให้เสร็จ เพื่อรัฐบาลใหม่ไม่ต้องมาตอบคำถาม แล้วเดินหน้าแก้ปากท้อง โควิด และเศรษฐกิจ ซึ่งต้องทำควบคู่กันไป เพราะการแก้รัฐธรรมนูญ จะทำให้อยู่ดีและความสงบสุขมากขึ้น
"ข้อดีของการเสนอเป็นรายมาตรา เพราะหากเสนอทั้งฉบับก็เข้าศาลรัฐธรรมนูญ ต้องไปทำประชามติ 2 ครั้ง ใช้งบประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท แต่รายมาตราทำประชามติเพียงครั้งเดียว และอยากให้เสียงข้างน้อย ครอบงำเสียงข้างมาก เห็นด้วย เพราะไม่อยากให้ซ้ำเติมสถานการณ์ประเทศไปมากกว่านี้"นายชินวรณ์ ระบุ