เสมา1สั่ง 'ลงดาบครู'ตีหัวเด็กอนุบาล
"ตรีนุช" สั่ง สพฐ."ลงดาบครู"อัตราจ้างคว้าไม้บรรทัดตีเด็กอนุบาล พร้อมทบทวนมาตรการสกัด"ความรุนแรง"ทั้งใน-นอกรั้วสถานศึกษา
จากกรณีที่มีครูโรงเรียนเเห่งหนึ่ง ใน ต.หนองขวาว อ.ศรีขรภูมิ จ.สุรินทร์ ใช้ไม้บรรทัดตีศรีษะใบหน้า เเละด้านหลังของ ด.ช. อัครเดช นิสัยกล้า นักเรียนชั้นอนุบาล 3 จนได้รับบาดเจ็บ เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา
- สั่งเลขาธิการ กพฐ. "ลงดาบครู"ตีหัว "เด็กอนุบาล"
น.ส ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) กล่าวว่าไม่นิ่งนอนใจในเรื่องดังกล่าวและได้รับทราบรายละเอียดเบื้องต้นจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)สุรินทร์ เขต 1 เเล้ว โดยเบื้องต้นทราบว่าครูผู้ก่อเหตุเป็นครูอัตรจ้าง ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู
สั่งการให้ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) ติดตามการให้ความช่วยเหลือนักเรียน เเละพิจารณาสั่งให้ครูคนดังกล่าว หยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที พร้อมทั้งติดตามผลการสืบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีความผิดจริง ต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ ในลักษณะนี้อีก จึงได้สั่งการให้ เลขาธิการ กพฐ. ซักซ้อมเเนวปฏิบัติในการจ้าง"ครูผู้สอน" ว่าจะต้องเป็นผู้ที่ต้องมีใบอนุญาตปฏิบัติการสอนเท่านั้น เเละกำหนดไว้ในสัญญาจ้างด้วยว่า ครูจะต้องปฏิบัติตามจรรยาบรรณ "ผู้ประกอบวิชาชีพครู" พร้อมทั้งเน้นย้ำเป็นพิเศษว่า จะต้องปฏิบัติต่อศิษย์ด้วยความเมตตา ไม่กระทำการรุนเเรงต่อศิษย์ ไม่ว่าจะโดยวิธีการใดก็ตาม
- วางมาตรการป้องกัน "ความรุนแรง"ทั้งในและนอกสถานศึกษา
น.ส. ตรีนุช กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณี ที่นายพันยศ เจริญภักดี นักเรียนชั้น ม.5.2 โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ถูกยิงที่ศีรษะ บริเวณถนนเลี่ยงเมื่อพิษณุโลก-สุโขทัย เนื่องจากมีปัญหากับเพื่อนร่วมชั้น จนได้รับบาดเจ็บสาหัส ซึ่งขณะนี้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวรนั้น
เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ที่ผ่านมา ได้ประชุมด่วน ร่วมกับ เลขาธิการ กพฐ. เพื่อหารือถึง "มาตราการป้องกัน" ไม่ให้เกิด "ความรุนเเรง" ทั้งในเเละนอกสถานศึกษา โดยเห็นว่า การเเก้ปัญหาด้วย "ความรุนเเรง" เป็นสิ่งไม่อาจยอมรับได้ ซึ่งเรื่องนี้นอกจากต้องมีการบังคับใช้กฏหมายอย่างเข้มงวดเเละเป็นธรรมเเล้ว จะต้องกลับมาให้ความสำคัญกับเรื่อง "จิตวิทยา "เป็นพื้นฐานของการรู้จักตนเอง รู้จักวิธีการเเสดงออกที่ถูกต้องเหมาะสม ต่อผู้อื่นเเละสังคม
พร้อมกันนี้ ได้หยิบยกนโยบาย "Youth Counselor" ของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ที่มีการดำเนินการมาเป็นระยะเวลาหนึ่งเเล้วมาทบทวนการทำงานใหม่ โดยเพิ่มบทบาทของนักจิตวิทยาประจำสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศให้มีการทำงานเชิงรุกในสถานศึกษามากขึ้น
- เล็งรือระบบ "สารวัตรนักเรียน"ดูแลความปลอดภัยเด็ก
รมว.ศธ. กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันต้องให้สถานศึกษาจัดระบบการเฝ้าระวังดูแลนักเรียนกลุ่มเสี่ยงที่จะก่อเหตุทะเลาะวิวาทอย่างรุนเเรง รวมถึงการเข้าป้องกันก่อนที่จะเกิดปัญหาการก่อเหตุรุนเเรง นอกจากนี้ จะมอบหมายให้ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้ที่เกี่ยวข้องศึกษาทบทวนระบบการดูเเล ความประพฤติของนักเรียน นักศึกษา ในปัจจุบันว่า มีประสิทธิภาพเพียงใด ควรจะมีการรื้อฟื้นระบบ"สารวัตรนักเรียน"ที่ยุบเลิกไป หรือ จะมีระบบอื่นๆที่สร้างความมั่นใจในการดูแลความปลอดภัยของนักเรียน อย่างมีประสิทธิภาพ
"จะมีความเด็ดขาด ในการบังคับใช้กฎหมาย กฎระเบียบของข้าราชการครู เเละบุคลากรทางการศึกษา เพื่อเป็นบรรทัดฐาน ให้กับกรณีอื่นๆ เเละสร้างความมั่นใจร่วมกันระหว่าง ครู นักเรียน เเละผู้ปกครอง ต่อจุดเน้น เรื่องความปลอดภัยของผู้เรียนว่า การมีผู้เรียนเป็นเป้าหมายของการพัฒนา หรือ Student Centricity ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของรูปเเบบการทำงาน TRUST’จะต้องเริ่มจากการที่สถานศึกษาทุกเเห่งมีความพร้อมที่จะเป็น บ้านหลังที่สองให้เเก่เด็กๆทุกคน เพราะถ้า บ้านยังไม่ปลอดภัยเเล้ว เราก็ไม่อาจที่จะพูดถึงการพัฒนาผู้เรียนในเรื่องอื่นๆได้อีกเลย " รมว.ศธ. กล่าว