73 ปีชีวิตรักประทับใจ'เจ้าชายฟิลิป-ควีนเอลิซาเบธ'

73 ปีชีวิตรักประทับใจ'เจ้าชายฟิลิป-ควีนเอลิซาเบธ'

73 ปีชีวิตรักประทับใจ'เจ้าชายฟิลิป-ควีนเอลิซาเบธ'

การสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา สิริรวมพระชนมพรรษา 99 พรรษา ถือเป็นความสูญเสียอย่างยิ่งของสมเด็จพระราชินีนาถ เพราะทั้งสองพระองค์ทรงครองคู่มานานถึง 73 ปี ยาวนานที่สุดในบรรดากษัตริย์อังกฤษ

เว็บไซต์เอบีซีของออสเตรเลียรายงานว่า ชีวิตรักระหว่างสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 กับเจ้าชายฟิลิป เป็นการบันทึกคู่มือฉบับใหม่แสดงถึงความเป็นหุ้นส่วนที่กระตือรือร้น ผูกพันยาวนาน และจรรยาบรรณของการทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ขณะที่ชีวิตคู่ของกษัตริย์อังกฤษในอดีตแตกต่างกันไปนานัปการ บ้างก็ตัดศีรษะคู่ครอง บางก็ตั้งใจหย่าขาด แต่ควีนเอลิซาเบธกับเจ้าชายฟิลิปทรงแสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและไม่กลัวที่จะแสดงออกมาให้สาธารณชนได้รับรู้

ทั้งคู่ทรงพบกันครั้งแรกเมื่อปี 2477 ในพิธีสมรสของเจ้าหญิงมารีนาแห่งกรีซและเดนมาร์ก พระญาติเจ้าชายฟิลิป กับเจ้าชายจอร์จ ดยุกแห่งเคนท์ พระปิตุลาของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ ขณะยังเป็นเจ้าหญิงพระองค์น้อยเพียง 8 พรรษา ส่วนเจ้าชายฟิลิป 13 พรรษา

จากนั้นทรงพบกันอีกครั้งเมื่อปี 2482 ที่วิทยาลัยราชนาวีในเมืองดาร์ทมัธ สมเด็จพระราชินีนาถขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศ เป็นเจ้าหญิงรัชทายาท พระชนมพรรษา 13 พรรษา ทรงประทับใจเจ้าชายฟิลิปและมีพระหัตถเลขาถึงกันเสมอ

เจ้าหญิงรัชทายาทและราชนาวีหนุ่มทรงเข้าพิธีหมั้นในวันที่ 8 ก.ค.2490 แต่เส้นทางรักใช่ว่าจะราบรื่น เพราะเจ้าชายฟิลิปประสูติในต่างแดน ไม่ได้ร่ำรวยมาจากไหน แถมครอบครัวยังเกี่ยวข้องกับขุนนางเยอรมนีที่พัวพันกับนาซีด้วย ก่อนอภิเษกสมรสเจ้าชายฟิลิปต้องทรงสละสัญชาติกรีซและพระฐานันดรในราชวงศ์กรีซและเดนมาร์กเสียก่อน เพื่อทรงเข้าเป็นพลเมืองอังกฤษ โดยในตอนแรกทรงใช้นามสกุล “เมาท์แบตเทน” ตามพระญาติฝ่ายพระมารดา และต้องเปลี่ยนมานับถือนิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์

พิธีอภิเษกสมรสจัดขึ้นในวันที่ 20 พ.ย.2490 ที่มหาวิหารเวสต์มินส์เตอร์ ท่ามกลางแขก 2,000 คน และถ่ายทอดสดให้ผู้ฟังวิทยุทั่วโลกได้ติดตามอีกราว 200 ล้านคน

หลังจากอภิเษกสมรสได้ไม่นาน สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระราชบิดาและพระราชมารดา ระบุ

“เราทำตัวราวกับว่าเป็นของกันและกันมาหลายปีแล้ว”

แม้ชีวิตคู่ของทั้งสองพระองค์เริ่มต้นขึ้นเมื่อสมเด็จพระราชินีนาถยังดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าหญิงรัชทายาท แต่ก็ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจมากมาย รวมถึงการเสด็จเยือนประเทศเครือจักรภพอันห่างไกล เดือน ก.พ.2495 เจ้าหญิงรัชทายาทและพระสวามีอยู่ระหว่างการเสด็จเยือนเคนยา และกำลังจะไปเยือนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ก็ทรงได้รับข่าวว่า สมเด็จพระราชบิดา พระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งอังกฤษสิ้นพระชนม์ ซึ่งเจ้าชายฟิลิปเป็นผู้ทรงบอกข่าวร้ายนี้ให้ภริยาได้ทรงทราบ

แน่นอนว่า เมื่อเจ้าหญิงรัชทายาททรงสืบราชบัลลังก์ต่อจากพระราชบิดา เป็นสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ชีวิตคู่ก็เปลี่ยนแปลง และไม่เคยใช้ชีวิตเหมือนคู่ปกติตามมาตรฐานทศวรรษ 50 เลย กล่าวคือ ในที่สาธารณะเจ้าชายฟิลิปจะต้องยืนอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์สมเด็จพระราชินีนาถฯ เสมอ แม้ว่าโดยส่วนตัวแล้วทั้งสองพระองค์มีความเท่าเทียมกันในระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ควีนยังไม่ทรงใช้นามสกุล “เมาท์แบตเทน” ของสามี แม้ว่าตอนแรกดูเหมือนราชสำนักจะยอมให้ใช้ แต่เชื้อพระวงศ์องค์อื่นๆ ต้องการให้สืบทอดราชวงศ์วินด์เซอร์ต่อไป

เรื่องนี้ดยุกแห่งเอดินบะระทรงเคยโอดครวญ “เราเป็นผู้ชายเพียงคนเดียวในประเทศนี้ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ลูกใช้นามสกุล”

แต่ในปี 2503 หลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระอัยยิกาในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และนายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิลล์ลาออก นามสกุล “เมาท์แบตเทน-วินด์เซอร์” ก็ได้รับอนุญาตให้ใช้กับทายาทที่ไม่มีบรรดาศักดิ์

สำหรับพิธีฝังพระศพเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ สำนักพระราชวังบักกิงแฮมแถลงเมื่อวันเสาร์ (10 เม.ย.) ว่าจะจัดขึ้นในวันที่ 17 เม.ย.นี้ เวลา 21.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ที่โบสถ์เซนต์จอร์จ ปราสาทวินด์เซอร์ ทางตะวันตกของกรุงลอนดอนโดยจะเป็นไปอย่างเรียบง่ายที่สุด และจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วม ตามมาตรการทางสาธารณสุขของรัฐบาล เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลังจากนั้นจะเป็นการสงบนิ่งไว้อาลัยทั่วประเทศ