'โฆษก สธ.' โต้วัคซีนไทยสู้เชื้อ 'โควิด-19' สายพันธุ์อังกฤษได้
“โฆษก สธ.” โต้วัคซีนซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า สู้เชื้อ "โควิด-19" สายพันธุ์อังกฤษได้ ป้องกันอาการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต ย้ำฝ่ายการเมืองอย่าเอาข้อมูลเท็จ มาทำลายขวัญคนทำงาน
เมื่อวันที่ 12 เม.ย.64 นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง (รก. 11) นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ชี้แจงเรื่องวัคซีนโควิด-19 โดยระบุดังนี้
"ขอขอบคุณข้อแนะนำดีๆ ความปรารถนาดี จากอาจารย์ผู้ใหญ่ พี่ๆ เพื่อนๆหมอ และทุกๆท่าน โดยเฉพาะเรื่องวัคซีนโควิด-19 ที่แนะนำมายังกระทรวงสาธารณสุข ทั้งเรื่องประเด็นวิชาการ และบริหารจัดการ กระทรวงสาธารณสุขน้อมรับฟัง และนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาพัฒนาการบริหารจัดการวัคซีนเพื่อพี่น้องประชาชน
สิ่งที่ พวกเรา...คนทำงาน ทั้งจากกระทรวงสาธารณสุข และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ขอยืนยันความสุจริต ความบริสุทธิ์ใจ ความตั้งใจ ตลอดเวลาการทำงาน เราทุกคนมีความพยายามอย่างที่สุด เพื่อบริหารจัดการ ประสาน เจรจาต่อรอง เพื่อจัดหาวัคซีนโควิด-19 ที่ปลอดภัย มีประสิทธิผล และรวดเร็วที่สุด ...เพื่อฉีดวัคซีนให้พี่น้องประชาชน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ เพื่อลดการป่วย และลดโอกาสการตาย ครับ
วันนี้ เป็นวันที่บ้านเมืองมีปัญหา สถานการณ์การระบาดโควิด-19 เดือนเมษายนนี้ ถือว่ารุนแรง
พวกเรา...คนทำงาน “มดงาน” และ “นักรบชุดขาว” หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกๆคน ยังคงทำงานด้วยความทุ่มเท อุทิศตน ตลอดเวลาที่ผ่านมา และตลอดช่วงวันหยุดสงกรานต์นี้ พวกเราไม่ได้หยุด พวกเราทุกคนทำงานหนักมากๆ ครับ
แต่สิ่งที่พวกเรา...คนทำงาน ไม่สบายใจ ทุกข์ใจที่สุด ไม่ใช้งานที่หนัก ครับ
แต่ทุกข์ใจกับการใช้ข้อมูลเท็จ การใช้ข้อมูลจริงแต่ไม่จริงทั้งหมด มีการเสริมความ เติม แต่ง ตัดต่อ โดย ขาดจิตสำนึกถูกผิด ขาดคุณธรรม ความรู้ถึงผิดชอบชั่วดี และที่สำคัญคือ ถูกนำไปเป็นประเด็นทางการเมือง สร้างความเข้าใจผิดให้เกิดกับประชาชนโดยเฉพาะในเรื่องวัคซีนโควิด-19
กระทรวงสาธารณสุขและสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ขอตอบคำถามเพื่อสร้างความเข้าใจพี่น้องประชาชน ในประเด็นวัคซีนโควิด-19
1) ขณะนี้ ประเทศไทย ให้วัคซีนทั้ง 2 ชนิด คือ ซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า วัคซีนทั้ง 2 ชนิด มีประสิทธิภาพดีป้องกันการป่วยที่มีอาการมากและป้องกันการเสียชีวิต (ไม่ต่างจากวัคซีนไม่ต่างจากวัคซีนของโมเดอร์นา ไฟเซอร์ และอื่น ๆ) วัคซีนทั้ง 2 ชนิดป้องกันเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์อังกฤษได้ แม้มีข้อมูลว่า ประสิทธิภาพลดลงบ้าง แต่ยังคงป้องกันอาการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต
• การป้องกันอาการน้อยถึงปานกลาง วัคซีนซิโนแวคป้องกันได้ 78 % แอสตร้าเซนเนก้าได้ 76 %
2) การระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นไวรัสสายพันธุ์ใด ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า การที่นำประเด็นมาโยงการพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในประเทศในเวลานี้ กับการจัดหาวัคซีนในประเทศไทย ทั้งวัคซีนซิโนแวค และแอสตร้าเซเนกัา ที่ได้ดำเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 นั่น ถือเป็นการบิดเบือนข้อมูล และให้ข้อมูลเท็จเพื่อสร้างความเข้าใจผิดให้เกิดกับประชาชน และหวังผลเพียงประโยชน์ส่วนตน
3) ข้อมูลระบาดวิทยา เชื้อไวรัสโควิด-19 มีการพัฒนาและกลายพันธ์ุตลอดเวลา ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า วัคซีนโควิด-19 ทุกชนิดที่มีอยู่ในขณะนี้ จะมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร การจัดหาวัคซีนโควิด-19 เป็นการจองล่วงหน้าทั้งสิ้น คือทำสัญญาวันนี้ กำหนดส่งมอบไตรมาส 3 หรือ 4 ซึ่ง ณ เวลานั้น หากไวรัสมีการกลายพันธุ์ไปอีก ก็จะประสบปัญหาเดิมอีก คือ วัคซีนที่สั่งเข้ามาอาจใช้ได้ไม่ดีกับไวรัสกลายพันธุ์ ครับ
4) การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศที่มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว สถานการณ์โรคขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น มีการผ่อนคลายมาตรการป้องกันควบคุมโรคเร็วเกินไป ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดว่ารับวัคซีนแล้วป้องกันโรคได้เลย ก็จะเห็นการระบาดขึ้นมาใหม่
• มีนำข้อมูลบิดเบือนความจริง สร้างความเข้าใจผิด โดยการนำข้อมูลการระบาดในประเทศที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคและยังเกิดการระบาดของโรคมาโจมตี แต่ไม่แสดงข้อมูลในหลายๆประเทศ หลายๆพื้นที่ ที่ได้ให้วัคซีนซิโนแวค ร่วมกับมาตราควบคุมโรคต่อเนื่อง สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี
5) วัคซีนหลักของประเทศไทยคือ วัคซีนแอสตร้าเซเนนก้า ซึ่งมีกำหนดการส่งมอบในต้นเดือนมิถุนายนปีนี้ ได้แสดงให้เห็นผลในการลดการระบาดของโรคในประเทศสหราชอาณาจักรแล้ว ส่วนเรื่องผลข้างเคียงเรื่องลิ่มเลือด ผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกต่างให้ข้อแนะนำว่าให้ยังคงใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนนก้าต่อไป เพราะประโยชน์ของวัคซีนในการลดป่วย ลดตาย มีมากกว่าความเสี่ยงจากการป่วยเป็นโรคแล้วเสียชีวิตมาก ครับ
ขอเรียนว่า วัคซีนซิโนแวค ไมใช่วัคซีนหลักของไทย ต้องทำความเข้าใจก่อน เรารับเข้ามา ~ 2.5 ล้านโดสเท่านั้น เพื่อฉีดให้หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ด่านหน้า เพื่อป้องกันคนกลุ่มเสี่ยง พื้นที่เสี่ยง ที่มีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่า และที่สำคัญเพื่อปกป้องระบบสาธารณสุขไทย สร้างความมั่นใจให้คนทำงาน
5) ตัวเลขประสิทธิผลของวัคซีนในการทดลองระยะที่ 3 ขึ้นอยู่กับวิธีการวัด การเปรียบเทียบ ซึ่งไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบระหว่างวัคซีนได้ โดยเฉพาะตัวเลขประสิทธิผล แต่ต้องใช้ข้อมูลอื่นประกอบ เช่น วัคซีนซิโนแวควัดผลในการป้องกันป่วยตั้งแต่อาการน้อยมากจนถึงรุนแรง ได้ 50.4 % ป้องกันอาการรุนแรงได้ 100% ในขณะที่วัคซีน JJ วัดผลป้องกันป่วยตั้งแต่ปานกลางถึงรุนแรงได้ 66% และป้องกันอาการรุนแรงได้ 85% แบบนี้จะบอกว่าวัคซีนตัวไหนดีกว่ากันก็ยากใช่มั้ยครับ
6) ต้องเรียนว่า วัคซีนโควิด-19 มิใช่เครื่องมือวิเศษที่ฉีดแล้ว จะไม่ติดเชื้อโควิด-19 และจะวัคซีนเพียงอย่างเดียว ควบคุมโรคได้เด็ดขาด ครับ
แต่วัคซีนเป็นเครื่องมือเสริมที่สำคัญ ร่วมกับมาตรการควบคุมโรคอื่นๆ และที่สำคัญ พี่น้องประชาชนยังคงต้องธำรงรักษาพฤติกรรมสุขภาพที่ดี เช่น สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ รักษาสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ครับ
ดังนั้น เมื่อนำวัคซีนทั้งซิโนแวคและแอสต้าเซเนก้าเข้ามา ก็ต้องเร่งให้บริการฉีด ส่วนที่โจมตีว่า ทำไม ไม่จัดหายี่ห้ออื่นเข้ามา กระทรวงสาธารณสุขและสถาบันวัคซีนแห่งชาติได้พยายามเต็มที่ในการจัดหา...ครับ
7) ต้องอธิบายให้เข้าใจว่า เวลานี้ ตลาดเป็นของผู้ขาย และผู้ขายเลือกจะขายใคร ในจำนวนไหน และส่งมอบเมื่อไร ก็ล้วนเป็นเรื่องของผู้ขาย แต่ในฐานะผู้ซื้อ หากผู้ขาย ขาย แต่ได้จำนวน และเวลาการจัดส่งไม่ตรงกับความต้องการก็มีสิทธิ์ปฏิเสธ เช่นกัน ภาครัฐ ได้ให้เอกชน ไปดีลกับผู้ผลิตแล้ว แต่สุดท้าย ผู้ผลิต ก็ไม่จำหน่ายให้ เพราะผู้ผลิตก็มุ่งจะขายให้รัฐ โดยหวังให้รัฐรับผิดชอบกับผลที่ตามมา
ประเด็นคือ รัฐก็ไม่เคยเพิกเฉย และอยากได้วัคซีนที่ดี แต่ถามว่า เรามีงบมากพอขนาดไหน ถ้าจะเอาของดี อย่างไฟเซอร์ โมเดิร์นา
นอกจากราคาของวัคซีน ยังต้องมองไปถึงการสร้างระบบห่วงโซ่ความเย็นอุณหภูมิช่องแข็งทั่วประเทศ เพื่อใช้เก็บ และเคลื่อนย้ายวัคซีน ซึ่งจะแพงกว่าค่าวัคซีน และระบบพื้นฐานของประเทศไทยไม่รองรับ ครับ
หากปี 2563 เราเร่งจองซื้อวัคซีน ตั้งแต่ในขั้นตอนการวิจัย แล้วเกิดผลิตออกมาไม่ได้ เสียเงินมหาศาล ใครจะรับผิดชอบ
หากต้นปี 2564 เราเร่งซื้อวัคซีนมากองกันไว้ แล้ววันหนึ่ง ไวรัสกลายพันธ์ จนวัคซีนที่เราซื้อมามากมายมหาศาลนั้น ใช้ ไม่ได้ผลเลย เสียเงินเป็นหมื่นล้านบาท ใครจะรับผิดชอบ
ข้อมูลเมื่อ เดือนมีนาคม 2564 ได้ขอเจรจาซื้อวัคซีนของ J&J แต่เขาส่งให้ได้ช่วงปลายปี ถามว่า ถึงเวลานั้น วัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ก็สามารผลิตได้แล้วในประเทศไทย ขอถามกลับไปว่า ยังจำเป็นที่จะได้วัคซีนของ J&J อยู่หรือไม่ ครับ
8. กระทรวงสาธารณสุขและสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ตัดสินใจเลือกวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า เพราะนอกจาก ประเทศไทยจะพึ่งตนเอง ผลิตวัคซีนได้เองแล้ว ทางบริษัทแม่มีโครงการพัฒนาวัคซีนอยู่ตลอด เพื่อรับมือกับไวรัสชนิดใหม่ๆ เพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพของประเทศ เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน