กลัวเสี่ยง ! ไม่อยากไปโรงพยาบาล ใช้เทเลเมดิซีนที่ไหนได้บ้าง

กลัวเสี่ยง ! ไม่อยากไปโรงพยาบาล ใช้เทเลเมดิซีนที่ไหนได้บ้าง

โควิดที่ระบาดระลอกใหม่ ทำให้การเดินทางไป รพ.กลายเป็นความเสี่ยงขึ้นมาอีกครั้ง ขณะที่จำนวนผู้ป่วยจำนวนมากทำให้บุคลากรทางการแพทย์ และจำนวนเตียงมีจำกัด ระบบการแพทย์ทางไกล หรือเทเลเมดิซีน จึงถือเป็นทางเลือกที่ดีในช่วงวิกฤติขณะนี้

จาก กรณีโรงพยาบาลศิริราช ได้ออกประกาศโดยระบุว่า ขอเปิดให้บริการเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการหนักเร่งด่วน หรือฉุกเฉินเท่านั้น ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ด้วยปรากฏว่า มีการตรวจพบบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในช่วงที่มีการระบาดเป็นวงกว้าง โดยพบว่าเป็นการติดเชื้อจากนอกพื้นที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และนอกเวลาปฏิบัติงาน จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อนในขณะนี้ นั้น

ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางโรงพยาบาลศิริราช มีความจำเป็นต้องลดการให้บริการแก่ผู้ป่วยลงเนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์บางส่วนต้องกักตัว และเพื่อสงวนบุคลากรทางการแพทย์สำหรับดูแลผู้ป่วยที่มีความจำเป็น กอปรกับจำนวนเตียงที่รับผู้ป่วยได้มีจำนวนจำกัด

จึงขอความร่วมมือผู้รับบริการที่ไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์เร่งด่วน เลื่อนการเข้ามารับบริการ หรือใช้บริการผ่านระบบพบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) แทน โดยโรงพยาบาลศิริราชจะเปิดให้บริการเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการหนักเร่งด่วน หรือฉุกเฉินเท่านั้น ทั้งนี้ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 12 เมษายน 2564 ถึงวันศุกร์ที่ 23 เมษายน 2564

  • รามาฯ เลื่อนนัดหรือตรวจทางไกล

ขณะที่ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 เมษายน ที่ผ่านมา รพ.รามาฯ ได้ออกมาประกาศ โดยระบุว่า เรียนผู้รับบริการทุกท่าน ในการแพร่ระบาดของ COVID-19 ขอความร่วมมือผู้ป่วยที่ไม่มีอาการเร่งด่วน แจ้งความประสงค์เลื่อนนัดหรือการตรวจทางไกลก่อนถึงวันตรวจอย่างน้อย 14 วัน

โดยก่อนหน้านี้ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้มีการนำระบบเทเลเมดิซีนมาใช้ เน้นกลุุ่มผู้ป่วยเก่ากลุ่มโรคเรื้อรังสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างต่อเนื่องและเหมาะสม ไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล ซึ่งจะเป็นการลดโอกาสได้รับเชื้อระหว่างการเดินทาง และอำนวยความสะดวกในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถเดินทางมาโรงพยาบาลได้ และลดความแออัดที่โรงพยาบาล ทำให้สามารถดำเนินมาตรการด้านระยะห่าง ในหน่วยบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเริ่มรันระบบตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา

แพทย์จึงต้องคัดกรองผู้ป่วย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ สีเขียว คือ ผู้ป่วยที่มีอาการคงที่ ไม่ต้องจ่ายยา และสามารถรับยาโรงพยาบาลต้นสังกัดได้ ใช้วิธีติดต่อทางโทรศัพท์ ถัดมา สีเหลือง คือ ผู้ป่วยที่มีอาการคงที่ และสามารถตรวจแบบเทเลเมดิซีน หรือโทรศัพท์ โดยสามารถเลือกให้ญาติมารับยาตามตามวันที่กำหนด หรือส่งยาทางไปรษณีย์ ยกเว้นยาแช่เย็น ที่ต้องรักษาอุณหภูมิ และยาเสพติด สำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ต้องใช้ยาแก้ปวด หรือโรคจิตเวช โรคปวดเรื้อรัง และสุดท้าย สีแดง คือ ผู้ป่วยที่ต้องมาตามนัดเพื่อติดตามอาการ ตรวจละเอียด ให้มาตามนัดปกติ เพราะการตรวจแบบเทเลเมดิซีน มีข้อจำกัด ตรวจได้แค่เบื้องต้น

  • บำรุงราษฎร์ เอนิแวร์

สำหรับ รพ.บำรุงราษฎร์ ได้พัฒนา บริการ “บำรุงราษฎร์เอนิแวร์” เป็นแอพพลิเคชั่นที่ดูแลและพัฒนาโดยผู้ผลิตที่ชื่อ Doctor Raksa ให้บริการในรูปแบบโทรเวชกรรม หรือเทเลเมดิซีน มีลักษณะการใช้งานคือ ผู้ใช้สามารถปรึกษาแพทย์ส่วนตัวได้ง่ายๆ ผ่านสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต แบบเรียลไทม์ โดยแพทย์สามารถวินิจฉัยอาการเบื้องต้น รวมทั้งแนะนำแนวทางการรักษา และข้อมูลสุขภาพต่างๆ

ผู้ใช้งานสามารถปรึกษาแพทย์แบบเรียลไทม์ผ่านแอปพลิเคชัน ได้ในเวลา 7.00 - 23.00 น. ของทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน ที่บ้าน ที่โรงแรม ที่โรงเรียน หรือขณะที่อยู่พื้นที่ห่างไกล ก็สามารถใช้งานได้โดยมีความปลอดภัยสำหรับข้อมูล สามารถดาวน์โหลดได้ทั้ง App Store หรือ Google Play

สำหรับการปรึกษาแพทย์ มีค่าบริการ 500 บาท (ประมาณ 16 ยูเอสดอลล่า) ต่อ 15 นาที โดยค่าใช้บริการจะหักผ่านแอปพลิเคชัน (บัตรเครดิต หรือบริการธนาคารต่างๆ) ตามเวลาที่ใช้ และในกรณีที่การปรึกษาใช้เวลามากกว่า 15 นาทีขึ้นไป ทางระบบจะแจ้งเตือนอีกครั้ง

  • สมิติเวช Virtual Hospital

Virtual Hospital คือโรงพยาบาลบนโลกออนไลน์ ที่ช่วยให้ผู้ป่วยและแพทย์สามารถพูดคุยตอบโต้กันได้แบบ Real-time พร้อมด้วยบริการครบวงจรเสมือนการเข้าโรงพยาบาลจริง โดยมีบริการหลัก คือ 24-Hour Teleconsultation บริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์ ตลอด 24 ชม. ด้วยทีมแพทย์และพยาบาลชั้นนำจากโรงพยาบาลสมิติเวช และบริการเสริมอีกมากมาย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประสบการณ์ที่เสมือนจริง ไม่ต่างกับการเข้าโรงพยาบาล อาทิ

  • Medecine Delivery บริการจัดส่งยาถึงบ้าน ให้ผู้ป่วยที่ได้รับยาที่แพทย์สั่ง ในเวลาอันรวดเร็ว
  • Test@Home บริการเจาะเลือดนอกสถานที่ เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำ
  • Flu Clinic บริการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่นอกสถานที่

ผู้รับบริการสามารถเข้าถึงบริการของสมิติเวชได้จากทุกที่ ง่าย สะดวกสบาย ประหยัดเวลา ด้วยค่าบริการที่เหมาะสม เหมือนกับการมารับบริการที่โรงพยาบาล โดยการให้คำแนะนำและบริการทางการแพทย์นี้ เป็นไปในกรอบจำกัดตามข้อมูลที่แพทย์ได้รับจากผู้รับบริการ แต่ไม่จัดเป็นการวินิจฉัยทางการแพทย์ และไม่สามารถให้บริการในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ต้องการการรักษาทางการแพทย์เร่งด่วน

  • รพ.พริ้นซ์ คุณหมอใจดี

ขณะที่ เครือ รพ.พริ้นซ์ เปิดตัว “Dr.PRINC คุณหมอใจดี” โดยเปิดให้บริการ Dr.PRINC TeleHealth ไกลแค่ไหน ก็ปรึกษาได้ บริการให้คำปรึกษาจากแพทย์ผ่าน Line@: @Dr.PRINC หรือ https://lin.ee/VqW2sGd เป็นทางเลือกที่จะให้คำแนะนำผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย และใช้สำหรับคัดกรองโควิด-19เบื้องต้นพร้อมให้คำแนะนำโดยบุคลากรทางการแพทย์ ลดความเสี่ยงการเดินทางออกนอกบ้าน หรือรับคำแนะนำก่อนเดินทางเข้ารับบริการตรวจที่โรงพยาบาลต่อไป พร้อมให้คำปรึกษา 24 ชั่วโมงในวันจันทร์ถึงวันศุกร์  ส่วนวันเสาร์และวันอาทิตย์ให้บริการเวลา 9:00-17:00น. โดยบริการดังกล่าวไม่มีค่าใช้จ่าย และจะให้บริการไปจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

นอกจากนี้ ยังมี  Dr.PRINC@Home ดูแลถึงบ้าน บริการถึงที่ โดยจัดบุคลากรทางการแพทย์อำนวยความสะดวกถึงบ้าน ให้กับผู้ที่ไม่สะดวกเดินทางมาโรงพยาบาลและจำเป็นต้องรับบริการทางการแพทย์ ในการเจาะเลือด ทำแผล ล้างแผล ฉีดวัคซีน อาทิ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี และวัคซีนอื่น ๆ ตามที่แพทย์แนะนำ รวมทั้งบริการส่งยาและเวชภัณฑ์ ให้กับผู้ป่วยถึงบ้าน ทั้งในรูปแบบของไปรษณีย์ หรือทีมบุคลากรทางการแพทย์เคลื่อนที่เข้าบริการถึงบ้าน

  • 9 รพ. กทม. เทเลเมดิซีน

ขณะที่ เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร (กทม.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิด 3 บริการสุขภาพ วิถีใหม่ (New Normal) ป้องกันโควิด-19 ในหน่วยบริการสังกัด กทม. เริ่มต้นที่โรงพยาบาลในสังกัดทั้ง 9 แห่ง ซึ่งได้เริ่มเปิดให้บริการไปแล้ว โดย 3 บริการดังกล่าวประกอบด้วย บริการเจาะเลือดถึงบ้าน บริการรักษาทางไกลผ่านระบบ Telemedicine และบริการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านหรือทางไปรษณีย์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดความแออัดและลดความเสี่ยงของผู้ป่วยที่อาจสัมผัสเชื้อในพื้นที่โรงพยาบาล ได้แก่

  • โรงพยาบาลกลาง
  • โรงพยาบาลตากสิน
  • โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
  • โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ชุตินฺธโร อุทิศ
  • โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์
  • โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร
  • โรงพยาบาลราชพิพัฒน์
  • โรงพยาบาลสิรินธร
  • โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน