ธุรกิจลั่นการ์ดไม่ตก เข้มมาตรการ "DMHTT" สู้โควิดระลอกใหม่ อีเวนท์ลดเสี่ยง "เบรก-เลื่อนจัดงาน" ฟาก สทท. กางผลสำรวจ “ระดับความกังวล” นักท่องเที่ยวไทยกลัวติดเชื้อ กว่า 68% ไม่เดินทางเข้าพื้นที่่พบผู้ติดเชื้อแม้มีเพียง 1 คน จี้รัฐเร่งควบคุมการแพร่ระบาด
สถานการณ์โควิดกลับมาแพร่ระบาดอีกระลอกและกระจายตัวในวงกว้างกว่าทุกครั้งทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับแผนเร่งด่วนโดยเฉพาะกิจกรรม หรือ อีเวนท์เสี่ยงจากการดึงดูดผู้คนจำนวนมากถูกลดสเกลลง หรือเลื่อนการจัดงาน รวมถึง ยกเลิก อย่างเช่น บิ๊กอีเวนท์ในเดือน เม.ย. งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 49 ระหว่างวันที่ 17 เม.ย.- 5 พ.ค. ที่ไบเทค บางนา สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เลื่อนการจัดงานออกไปเป็นวันที่ 15-23 พ.ค. ยกเว้นการจัดงานในรูปแบบออนไลน์ยังมีขึ้นตามกำหนดเดิมวันที่ 17 เม.ย.- 5 พ.ค.
นายเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ทำให้การจัดอีเวนท์ หริือกิจกรรมต่างๆ ต้องเลื่อนออกไป โดยเฉพาะอีเวนท์สงกรานต์งดการจัดทั้งหมด
อย่างไรก็ดี อินเด็กซ์ฯ ร่วมกับเมืองโบราณ สมุทรปราการ จัดงาน “เมืองโบราณ ไลท์ เฟส” เทศกาลประดับไฟฤดูร้อน ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-2 พ.ค.นี้ มีการเข้มงวดมาตรการป้องกันโรคโควิด ด้วยขนาดพื้นที่การจัดงาน 70 ไร่ และเป็นพื้นที่โล่ง กว้างขวาง มีการจำกัดผู้เข้าชมงาน 1,500 คน ทำให้เว้นระยะห่างได้เป็นอย่างดี ขณะที่พฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่ไปชมงาน เวลาถ่ายรูป ไม่ต้องการให้มีคนอื่นเข้ามาอยู่ในเฟรมอยู่แล้ว จึงเลี่ยงการใกล้ชิดโดยปริยาย
"หากไม่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่ คาดการณ์แนวโน้มของธุรกิจอีเวนท์จะกลับมาจัดงานได้กลางเดือน ก.ค.จากเดิมผู้ประกอบการบางส่วนจะเริ่มกลับมาจัดงานเดือน มิ.ย.นี้"
ผนึกพันธมิตรฟื้นธุรกิจ
นายอุปถัมภ์ นิติสุขเจริญ นายกสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน (EMA) กล่าวว่า ขณะนี้งานอีเวนท์ส่วนใหญ่ถูกเลื่อนออกไปหมดแล้ว หากสถานการณ์ไวรัสโควิดยังระบาดอย่างต่อเนื่อง แผนระยะสั้นเพื่อฟื้นธุรกิจ สมาคมฯ ได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน.เพื่อจัดงานจับคู่ทางธุรกิจหรือ Business matching
โดยงานดังกล่าวจะเป็นการจับคู่ระหว่างนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ผู้ว่าราชการจังหวัดของเมืองท่องเที่ยวต่างๆ ในประเทศไทยมาพบกับผู้จัดงานอีเวนท์ เจ้าของงานเทศกาล และสมาคมการจัดงานเทศกาล 4 สมาคม เพื่อทำงานร่วมกันอีเวนท์ของเมืองให้เป็นอีเวนท์ระดับชาติ ไปจนถึงระดับนานาชาติ
”สมาคมฯ มุ่งรวมพลังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในท้องถิ่นหรือ local steakholder กับผู้สร้างสรรค์งานอีเวนท์ เจ้าของธุรกิจอีเวนท์ มาสร้างงานอีเว้นท์ระดับเมืองของจังหวัดต่างๆ ให้เป็นงานระดับชาติ และระดับนานาชาติ เพื่อกระตุ้นธุรกิจ เช่น งานจักรยานที่พังงาหรือตูร์เดอฟร็องส์ งานเทศกาลพลุนานาชาติ ที่พัทยา และงานพืชสวนโลก ที่จังหวัดนครราชสีมา”
การ์ดไม่ตกย้ำมาตรการ DMHTT
รายงานข่าวจากกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ระบุว่า ได้ดำเนินการตามมาตรการสุขอนามัยเพื่อการควบคุมโรค โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสงกรานต์นี้ โดยยึดแนวปฎิบัติของกระทรวงสาธารณสุขตามมาตรการ DMHTT กล่าวคือ อยู่ห่างไว้ ใส่หน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า หมั่นล้างมือ ตรวจวัดอุณหภูมิ ใช้ “ไทยชนะ” และ “หมอชนะ” อย่างเคร่งครัด ตามแนวทางวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) โดยมีการกำกับใช้มาตรการ DMHTT และเพิ่มดีกรีความเข้มข้นจากมาตรการสุขอนามัย “KING POWER CARE POWER” เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการควบคุมการแพร่ระบาดครอบคลุมทุกธุรกิจในกลุ่ม ได้แก่ ร้านค้าจำหน่ายสินค้าปลอดอากรในเมือง รางน้ำ มหานคร พัทยา ภูเก็ต และภายในท่าอากาศยาน ร้านค้าเชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยาน การบริการเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร ธุรกิจโรงแรม ได้แก่ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ และธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ได้แก่ คิง เพาเวอร์ มหานคร
อย่างไรก็ดี สถานการณ์โควิดที่ผ่านมา คิง เพาเวอร์ มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มข้น และได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยเพื่อนักท่องเที่ยว (SHA) ทุกพื้นที่ของธุรกิจ
“การแพร่ระบาดกลับมาอีกครั้งจึงเน้นย้ำแนวทางปฏิบัติเพื่อลดและควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้มากที่สุด โดยเน้นย้ำพนักงานที่เข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ นอกเหนือจากคัดกรองอย่างละเอียดมากขึ้น สวมหน้ากากอนามัย สวม Face shield สวมถุงมือ ขณะปฏิบัติงาน รวมถึงเพิ่มยุทธศาสตร์เชิงรุก กรณีพบผู้มาใช้บริการที่มีเชื้อโควิดในพื้นที่ จะปิดให้บริการส่วนนั้นทันที 1 วัน และฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทำความสะอาดซ้ำทุกจุดสัมผัส”
เป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการชอปปิงและรับประทานอาหารนอกบ้านเป็นไปอย่างปลอดภัย พร้อมเพิ่มทางเลือกในการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ของ คิง เพาเวอร์ เพื่อความสะดวกและปลอดภัย
เฝ้าระวังสูงสุดทุกสาขา
นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม็คโคร วางมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มข้น และเฝ้าระวังสูงสุดในทุกสาขา รวมทั้งศูนย์กระจายสินค้า โดยคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของลูกค้า พนักงาน และประชาชนในชุมชน ในการป้องกันตนเองและผู้อื่นจากไวรัสโควิดตามมาตรการ DMHTTของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวคือ D-Distancing เว้นระยะห่างระหว่างกัน M-Mask wearing สวมหน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัยตลอดเวลา H-Hand washing ล้างมือบ่อยๆ T-Testing ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าใช้บริการ T-Thai Cha Naคือ เช็กอินผ่านแอพพลิเคชัน “ไทยชนะ”
“ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดที่รุนแรงอีกครั้ง ทุกคนมีความกังวลกับการใช้ชีวิตในปัจจุบัน เราจึงมุ่งรักษามาตรการป้องกันต่างๆ อย่างเข้มข้นไม่ว่าจะเป็นการนับจำนวนคนเข้าใช้บริการภายในสาขาตามข้อกำหนดของไทยชนะ ตีเส้นเว้นระยะห่างในจุดที่มีความหนาแน่น เช่น แผนกอาหารสด แผนกเนื้อสัตว์ จุดชำระเงิน กำหนดพื้นที่นั่งรอด้านหน้าสาขากรณีจำนวนคนในสาขาเกินปริมาณ"
พร้อมตั้งทีมรักษาระยะห่าง (social distancing scouts) คอยประกาศย้ำเตือนให้ลูกค้ายืนจับจ่ายสินค้าห่างจากลูกค้าท่านอื่นอย่างน้อย 1 เมตร ตลอดเวลาที่อยู่ภายในสาขา พร้อมเน้นย้ำทุกคนไม่ให้การ์ดตกตลอดเวลา
เลี่ยงท่องเที่ยวพื้นที่เสี่ยง
นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า สทท.สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศที่มีรายได้มากกว่า 1 หมื่นบาท/เดือน จำนวน 2,030 ราย ระหว่างวันที่ 24 ก.พ.-10 มี.ค.2564 ผ่านแบบสอบถามออนไลน์ รวมถึงการลงพื้นที่เก็บข้อมูลและสัมภาษณ์เกี่ยวกับแผนการท่องเที่ยวในไตรมาส 2/2564 พบว่า “ระดับความกังวล” ของประชาชนต่อปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเดินทางในไตรมาสนี้ คือ กลัวติดเชื้อโควิด-19 มากที่สุด ระดับความกังวลอยู่ที่ 3.75 จากคะแนนเต็ม 5 จัดอยู่ในระดับความกังวลมาก
ตามด้วย กังวลด้านการเงินและเศรษฐกิจของครอบครัว ระดับความกังวล 3.68 จัดอยู่ในระดับความกังวลมาก อันดับ 3 กังวลด้านความไม่สะดวกในการเดินทางจากนโยบายการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระดับความกังวล 3.64 ถือว่ากังวลมาก เช่นเดียวกับ อันดับ 4 ปัจจัยด้านเวลา ระดับความกังวล 3.54 อันดับ 5 ปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ระดับความกังวล 3.46 จัดอยู่ในระดับปานกลาง
“ทำให้ประชาชนตัดสินใจไม่เดินทางท่องเที่ยว หากพบผู้ติดเชื้อโควิดแค่เพียง 1 คน ในพื้นที่ที่วางแผนเดินทางไปท่องเที่ยวพบว่า 68% เลือกไม่เดินทางเข้าไป สะท้อนว่าภาครัฐจำเป็นต้องควบคุมแหล่งท่องเที่ยวให้มีผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ แม้จะเป็นไปได้ยากอีก 18% ให้ความเห็นว่าไม่แน่ใจ และมี 14% ยังตัดสินใจเดินทางไป”
ด้านการปรับตัวในการท่องเที่ยวถ้าหากยังมีผู้ติดเชื้อภายในประเทศต่อเนื่อง ประชาชน 47% จะไม่เดินทางท่องเที่ยวจนกว่าจะไม่มีผู้ติดเชื้อ ขณะที่ 44% เลือกเดินทางไปท่องเที่ยวในจังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อส่วน อีก 9% ไปท่องเที่ยวโดยไม่สนใจจำนวนผู้ติดเชื้อ แต่ป้องกันตัวเองมากขึ้น
ประชาชนรู้จักวัคซีนน้อย
การสำรวจยังพบว่าประชาชนมีความรู้เกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในระดับน้อย (การหาความรู้เกี่ยวกับผลข้างเคียง เปอร์เซ็นต์การป้องกันของแต่ละยี่ห้อ ประเภทของเชื้อไวรัสที่นำมาผลิต และราคาแต่ละยี่ห้อ) ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.18 จากคะแนนเต็ม 5
“กว่า 31% ยังไม่พร้อมจะฉีดวัคซีนในปีนี้ ขณะที่ 47% ต้องการวัคซีนฉีดฟรีจากยี่ห้อที่รัฐบาลเลือกให้ ประชาชนบางส่วนราว 22% เต็มใจจ่ายเงินเพื่อซื้อวัคซีนจากยี่ห้อที่ตัวเองเลือก”
นอกจากนี้ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 50% ยอมรับราคาของวัคซีนได้ที่ช่วงราคา 1,000-2,000 บาท มี 29% ที่ไม่จำกัดราคาช่วงของวัคซีน จะเป็นราคาเท่าไรก็ได้ ขึ้นอยู่กับความพอใจหลังจากได้ศึกษาหาข้อมูลแล้ว ส่วนใหญ่ 57% คาดว่าหากได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดแล้ว ความถี่ในการเดินทางจะยังคงเหมือนเดิม ส่วนอีก 20% มองว่าความถี่ในการเดินทางจะเพิ่มมากขึ้น
สำหรับตลาดไทยเที่ยวไทยเมื่อเทียบจำนวนครั้งของการท่องเที่ยวต่อปีพบว่า ปี 2562 ก่อนวิกฤติโควิด คนไทยเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัดเฉลี่ย 3.25 ครั้งต่อคนต่อปี มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 4,950 บาทต่อคนต่อทริป คาดว่าปี 2564 ช่วงมีวิกฤติโควิด-19 จะมีการเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัดโดยเฉลี่ยลดลงเหลือ 2 ครั้งต่อคนต่อปี และมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยลดลงด้วยเช่นกัน เหลือที่ 2,844 บาทต่อคนต่อทริป