BPP เจาะตลาดโรงไฟฟ้าสหรัฐ ดันรายได้เติบโต !

BPP เจาะตลาดโรงไฟฟ้าสหรัฐ ดันรายได้เติบโต !

'บ้านปู เพาเวอร์' ลุยศึกษาลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐฯ พบเป็นตลาดที่ใหญ่มาก และมีศักยภาพสูง รวมถึงบางมลรัฐมีแผนการชัดเจนเดินหน้าสู่พลังงานสะอาด

เมื่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและเศรษฐกิจไทยและทั่วโลกเกิดความ 'ท้าท้าย' อย่างยิ่งในช่วงที่ผ่านมา บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ผู้ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจหลักด้านการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ยังคงสามารถรักษาการเติบโตของธุรกิจไว้ได้อย่างแข็งแกร่ง

สะท้อนผ่านตัวเลขผลประกอบการ 3 ปีย้อนหลัง (2561-2563) มีกำไรสุทธิเติบโตอยู่ที่ 3,812.67 ล้านบาท 2,968.93 ล้านบาท และ 3,702.48 ล้านบาท ขณะที่รายได้ 6,768.50 ล้านบาท 6,402.14 ล้านบาท 6,526.59 ล้านบาท ตามลำดับ 

'กิรณ ลิมปพยอม' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ให้สัมภาษณ์พิเศษ 'หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ' ว่า สำหรับภาพรวมธุรกิจโรงไฟฟ้าถ่านหินปี 2563 กลับมาเติบโตดีขึ้น สะท้อนผ่านกำไรสุทธิขยายตัว 25% ดังนั้น ในแผนธุรกิจปี 2564 บริษัทยังมุ่งเน้นสร้างการเติบโตในธุรกิจโรงไฟฟ้าทั้ง 2 ส่วนคือ 'โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน' (Renewable Energy) และ 'โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป' (Thermal Power) 

161866628720

มุ่งสู่เป้าหมายแผนธุรกิจ 5 ปีข้างหน้า (2564-2568) มีกำลังผลิตรวม 5,300 เมกะวัตต์ (MW) จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวม 2,856 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น กำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 800 เมกะวัตต์ ขณะที่กำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนอยู่ที่ 4,500 เมกะวัตต์ จากปี 2563 กำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 347 เมกะวัตต์ และพลังงานความร้อนที่ 2,403 เมกะวัตต์

ด้านพลังงานโรงไฟฟ้าความร้อนร่วมขนาดใหญ่ บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติในประเทศสหรัฐ 1 แห่ง คาดชัดเจนเร็วสุดปลายไตรมาส 2 หรือต้นไตรมาส 3 ปี 2564 ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่อยู่ใกล้กับแหล่งผลิตก๊าซฯของ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BAPUN ในตลาดไฟฟ้าพีเจเอ็ม (PJM) ขนาด 1,000-1,200 เมกะวัตต์ โดยคาดเข้าถือหุ้นประมาณ 20-30% โดยเป็นการร่วมกับพันธมิตร คาดใช้งบลงทุนประมาณ 200-300 ล้านดอลลาร์ 

สำหรับเงินลงทุนมาจาก 2 ส่วนหลัก ได้แก่ กระแสเงินสดของบริษัทและเงินทุนจากธนาคาร ซึ่งคาดโรงไฟฟ้าก๊าซจะใช้แหล่งเงินทุนรูปแบบหลัง จากความเหมาะสมในภาวะดอกเบี้ยต่ำ และหนี้สินต่อทุน (D/E) ของบริษัทยังค่อนข้างต่ำที่ 0.07 เท่า (ณ สิ้นปี 2563) ขณะที่การกู้ในรูปแบบอื่นๆ จะต้องใช้เวลาดำเนินงานมากกว่าการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน 

'หลังปิดดีลโรงไฟฟ้าสหรัฐแล้ว มีแผนซื้อโรงไฟฟ้าไฟฟ้าก๊าซฯที่เปิดดำเนินการแล้ว (Brownfield) มากขึ้น เพื่อนำมาสนับสนุนการเติบโตในระยะยาว โดยตั้งใจจะประกาศโครงการต่างๆ แก่ผู้ลงทุนให้ได้รับทราบถึงแนวโน้มรายได้ที่จะเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นการมองหาดีลใหม่ๆ ในสหรัฐตามบริษัทแม่' 

เขาบอกต่อว่า หลังจากบริษัทมีการสร้างทีมงานเข้าไปศึกษาลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ ทำให้บริษัทเห็น 'ช่องทาง' และ 'โอกาส' สร้างการเติบโตระดับสูงในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) ประกอบกับเป็นจังหวะของกระแส ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) จะมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต

ดังนั้น บริษัทกำลังศึกษาลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐฯ ซึ่งในรายละเอียดพบว่าเป็นตลาดที่มี 'ขนาดใหญ่มากและมีศักยภาพสูง' รวมถึงบางมลรัฐมีแผนการชัดเจนที่จะเดินหน้าสู่การใช้พลังงานสะอาดทั้งหมด เช่น ตลาดพลังงานไฟฟ้าแคลิฟอร์เนีย (CAISO) เป็นต้น 

สอดคล้องกับนโยบายของ 'โจ ไบเดน' ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ประกาศจะให้สิทธิประโยชน์ (Incentive) แก่ผู้ประกอบการพลังงานหมุนเวียน อีกทั้งภูมิประเทศของสหรัฐมีพื้นที่ขนาดใหญ่เหมาะแก่การจัดตั้งโรงไฟฟ้าประเภทนี้ที่ต้องใช้พื้นที่มากต่อเมกะวัตต์

'บริษัทแม่ของเรา (BANPU) เข้าไปลงทุนธุรกิจเชลล์แก๊สในสหรัฐฯ มูลค่าสูงถึง 1.2 พันล้านดอลลาร์ เราก็มีแผนลงทุนในสหรัฐเหมือนกัน แต่เริ่มแรกจะลุยธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซฯก่อน และจะศึกษาตลาดอีกรอบก่อนเริ่มลงทุนโรงไฟฟ้าหมุนเวียนในสหรัฐ'

อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ยังไม่ทิ้งโอกาสในประเทศอื่นๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่บริษัทเข้าไปลงทุนในช่วงก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะประเทศจีนที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนเช่นกัน รวมถึงบริษัทแม่ บ้านปู มีประสบการณ์ประกอบธุรกิจมาแล้วประมาณ 20 ปี ซึ่งในปีนี้บริษัทก็มีการศึกษาอยู่หลายโครงการ แต่ยังไม่สามารถให้คำมั่นสัญญา (commit) ว่าจะเกิดขึ้นได้เพราะจีนเป็นประเทศใหญ่ ส่งผลให้แต่ละมณฑลมีนโยบายการที่แตกต่างกัน

สำหรับภาพรวมการเติบโตของธุรกิจในปี 2564 'กิรณ' กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้ากำลังการผลิตไฟฟ้า ปลายปีนี้ เพิ่มขึ้นกว่า 3,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าและโครงการโรงไฟฟ้าทั้งหมด 31 แห่ง กำลังผลิตรวม 2,929 เมกะวัตต์ โดยเป็นโครงการที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ รวมถึงโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมจ่ายไฟจำนวน 26 แห่ง กำลังการผลิต 2,750 เมกะวัตต์ และมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา 5 แห่ง กำลังการผลิต 179 เมกะวัตต์

'กำลังผลิต 2,929 เมกะวัตต์ เป็นเป้าที่ประกาศไปแล้วว่าจะพร้อม COD ได้ภายในปี 2566 แต่ส่วนตัวอยากให้สิ้นปีหรือภายในต้นปีหน้า กำลังผลิตทะลุเป้า 3,000 เมกะวัตต์ ซึ่งก็คงต้องมีเซอร์ไพรส์มาเพิ่มนอกเหนือจากโครงการที่ประกาศไปแล้ว' 

ขณะที่ผลประกอบการปีนี้ ตั้งเป้าเติบโตไม่ต่ำกว่าปี 2563 ที่มีการเติบโตราว 25% จากเมกะวัตต์ใหม่ๆ ที่จะทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ รวมถึงโครงการที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าหงสา และโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ที่มีการหยุดซ่อมบำรุงไปเมื่อปีก่อน