อีก 19 ปี ถึงจะได้เห็น!!ภาพหายาก 'ดวงจันทร์บังดวงอังคาร'
อีกหนึ่งปรากฎการณ์ดาราศาสตร์ ที่เรียกได้ว่าหาชมยากแบบสุดๆ สำหรับ "ดวงจันทร์บังดวงอังคาร" ที่พึ่งเกิดขึ้นไปเมื่อคืนวันที่ 17 เม.ย.2564
หากใครพลาดโอกาสรับชมปรากฎการณ์ดาราศาสตร์ “ดวงจันทร์บังดาวอังคาร” ในช่วงค่ำของคืนวันที่ 17 เม.ย.2564 ที่ผ่านมา ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) “สดร.” กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้เปิดเผยภาพ “ดวงจันทร์บังดาวอังคาร” คืน 17 เมษายน 2564 ก่อนดาวอังคารแตะขอบดวงจันทร์ เวลา 20:09 น. บันทึกภาพ ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
ขณะดาวอังคารโผล่พ้นออกจากดวงจันทร์ เวลา 21:26 น. บันทึกภาพ ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา "ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์"ดังกล่าวหาชมยากในไทย ส่งผลให้กระแสในโซเชียลมีเดียคึกคักอย่างมาก เพราะหลายสิบปีกว่าจะได้เห็นอีกครั้ง โดยเมื่อคืน (17 เม.ย.2564 ) “สดร.” จัดถ่ายทอดสดทางเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ มีประชาชนให้ความสนใจติดตามชมกว่าหลายพันคน
- เปิดภาพหายากในไทย "ดวงจันทร์บังดาวอังคาร"
สำหรับปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์บังดาวอังคาร” ในครั้งนี้ “สดร.” อธิบายว่า เริ่มสังเกตการณ์ได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตก ดาวอังคารเริ่มสัมผัสขอบดวงจันทร์ในเวลาประมาณ 20:12 น. ค่อย ๆ ลับหายไปด้านหลังของดวงจันทร์ และโผล่พ้นออกมาทั้งดวงอีกครั้งในเวลาประมาณ 21:28 น. เวลา ณ กรุงเทพมหานคร หากสังเกตการณ์ในพื้นที่อื่น ช่วงเวลาของการบังจะเริ่มและสิ้นสุดไม่พร้อมกัน) คืนดังกล่าวยังตรงกับดวงจันทร์ขึ้น 5 ค่ำ มองเห็นปรากฏการณ์แสงโลก (Earthshine ได้อย่างชัดเจนอีกด้วย
ขณะที่บรรยากาศการเฝ้าติดตามชมปรากฏการณ์ดังกล่าว แม้ว่าสภาพท้องฟ้าจะมีเมฆมากและฝนตกเกือบทุกภูมิภาคในไทย แต่ก็ยังสามารถสังเกตเห็นได้หลายจังหวัด อาทิ เชียงใหม่ นนทบุรี ฉะเชิงเทรา ตราด ระยอง ชลบุรี นครราชสีมา ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ขอนแก่น เลย ศรีสะเกษ ระนอง ภูเก็ต สงขลา ยะลา ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม การบังกันของวัตถุท้องฟ้า (Occultations) เป็นปรากฏการณ์ที่ “วัตถุท้องฟ้า”หนึ่งเคลื่อนที่ผ่านหน้ามาบังอีกวัตถุหนึ่งเมื่อสังเกตจากแนวสายตา อาทิ ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์ ดวงจันทร์บังดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์บังดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์บังกันเอง เป็นต้น
- "ดวงจันทร์บังอังคาร" ปรากฎการณ์ดาราศาสตร์ อีก 19 ปี เกิดอีกครั้ง
โดยสามารถใช้ปรากฏการณ์นี้คำนวณหาระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์ คำนวณหาขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของวัตถุ ตรวจหาและศึกษาโครงสร้างของชั้นบรรยากาศ รวมถึงการใช้ตรวจหาวงแหวนของดาวเคราะห์ชั้นนอกได้อีกด้วย เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์สำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อวงการวิจัยดาราศาสตร์
“ดวงจันทร์บังดาวอังคาร” เป็น "ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์"ที่หาชมยาก เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก และนานๆ ทีจะสังเกตการณ์ได้ในประเทศไทย ครั้งต่อไปที่สามารถสังเกตได้ในไทย อีก 19 ปีข้างหน้า จะเกิดขึ้นวันที่ 22 มีนาคม 2583 เวลาประมาณ 00:15 น.