SCG เปิดไอเดียวัคซีน แนะขยายกลุ่มฉีด หวังฟื้นเศรษฐกิจ
เอสซีจี เผยความร่วมมือ "สยามไบโอฯ" ผลิตวัคซีน แนะรัฐเพิ่มมิติด้านเศรษฐกิจในการฉีดวัคซีน เลือกผู้ที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยว ตลาด ชุมชน ห้างสรรพสินค้า ฉีดวัคซีนก่อน เพื่อให้กิจกรรมเศรษฐกิจเดินหน้าได้
ในรอบ 20 ปี ที่ผ่านมา SCG ต้องเจอผลกระทบจากวิกฤติต้มยำกุ้ง ต่อด้วยวิกฤติมาบตาพุด วิกฤติน้ำท่วมใหญ่และล่าสุดวิกฤติโควิด-19 ที่เอสซีจีไม่ได้มองเฉพาะการปรับแผนธุรกิจให้ก้าวข้ามโควิด-19 แต่มองถึงการมีส่วนร่วมของเอสซีจีในการรับมือวิกฤติครั้งนี้
เอสซีจีเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งได้ร่วมลงนามร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สยามไบโอไซเอนซ์ และ แอสตร้าเซนเนก้า บริษัทผู้ผลิตชีวภัณฑ์สัญชาติอังกฤษ-สวีเดน ในการผลิตและจัดสรรวัคซีนวิจัยป้องกันโควิด-19 ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผย "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า เอสซีจีต้องการมีส่วนร่วมในการรับมือวิกฤติครั้งนี้ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการพัฒนาวัคซีน ซึ่งที่ผ่านมาเอสซีจีได้ร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมในธุรกิจปิโตรเคมีร่วมกับมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด และเมื่อทราบว่ามหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ด้วยจึงได้เข้าไปหารือเพื่อให้มีการผลิตวัคซีนในประเทศไทย
สำหรับการผลิตวัคซีนในขณะนี้ผลิตได้แล้วหลายล้านโดส และได้ส่งมอบตัวอย่างไปทดสอบตามมาตรฐานของแอสตร้าเซเนก้า จะต้องใช้เวลาทดสอบอีกซักระยะเพื่อความปลอดภัย ทดสอบการสร้างภูมิคุ้มกันในสัตว์ทดลองให้มีประสิทธิภาพเหมือนกับวัคซีนต้นแบบ ซึ่งมั่นใจว่าภายในเดือน มิ.ย.นี้ จะส่งมอบให้กับรัฐบาลได้ตามเป้าหมาย
สำหรับศักยภาพของไทยในด้านการผลิตวัคซีนมีความพร้อมสูงมาก ผลิตได้เอง 80-90% ของขั้นตอนการผลิตทั้งหมดจนครบวงจรตั้งแต่ห้องทดสอบวิจัย โรงงานผลิต และการบรรจุ มีกำลังผลิตปีละกว่า 20 ล้านโดส ซึ่งในเอเชียมีเพียงไทย จีน อินเดีย ออสเตรเลียและเกาหลีใต้ ที่มีศักยภาพระดับนี้ โดยอนาคตไวรัสโควิดจะมีสายพันธุ์ใหม่เหมือนไข้หวัดใหญ่ทำให้ต้องฉีดป้องกันใหม่ทุกปี ซึ่งการที่ไทยจะผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสโควิดใหม่ได้ตลอดเวลาโดยใช้เวลาไม่กี่เดือน
“การระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ ทำให้เรียนรู้ว่าบทบาทของภาคเอกชนไม่ได้แค่การสร้างผลกำไรให้ผลตอบแทนกับผู้ถือหุ้น แต่จะต้องให้ความให้ความสำคัญกับสังคมด้วย ทั้ง 2 ด้านต้องไปด้วยกัน หากธุรกิจไม่เข้าไปช่วยสังคมโดยรวมก็ไปไม่ได้”
ทั้งนี้ วิฤติโควิด-19 ยังไม่จบและต้องเฝ้าระวังกันต่อ โดยกุญแจหลักของการแก้ปัญหา คือ การฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงรวดเร็ว โดยเฉพาะปัจจุบันน่าเป็นห่วงเพราะการระบาดระลอกล่าสุดจะกระทบเศรษฐกิจรุนแรง หากปิดระบบเศรษฐกิจอีกรอบจะทำให้ทุกฝ่ายขาดความมั่นใจ เพราะมีความไม่แน่นอนสูง
รวมทั้งหากฉีดวัคซันอย่างทั่วถึงจะสร้างภูมิป้องกันที่ดี แม้วัคซีนในปัจจุบันจะไม่สามารถป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ได้เต็มที่ แต่ทำให้ผู้ติดไวรัสมีอาการไม่หนักและป้องกันการแพร่เชื้อสู่บุคคลอื่นได้มาก ทำให้มีบุคลากรทางการแพทย์ และเครื่องมือห้องฉุกเฉินเพียงพอรองรับผู้ป่วย และหากฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงจะเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้ ซึ่งในยุโรปคาดว่าสิ้นปี 2564 จะฉีดวัคซันได้เป็นส่วนมาก หากไทยฉีดได้เร็วก็เปิดรับนักท่องเที่ยวกลุ่มที่ฉีดวัคซีนแล้วได้ทันที ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้เร็ว
“หากไทยเร่งฉีดวัคซีนได้อย่างทั่วถึงในระดับ 70% ของคนทั้งประเทศ จะทำให้เปิดรับนักท่องเที่ยวได้เร็ว ก็จะชิงความได้เปรียบเหนือกว่าประเทศอื่น เพราะนักท่องเที่ยวจากอียูอยากมาเที่ยวไทยมาก ดังนั้นการที่ไทยฉีดวัคซีนได้ทั่วถึงจะเป็นกุญแจสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเดินได้ตามปกติ” นายรุ่งโรจน์ กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจ
สำหรับการฉีดวัคซีนของไทยในขณะนี้มองว่ายังฉีดได้ช้ามาก โดยไทยควรจะกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะต้องเร่งฉีดวัคซีนที่เหมาะกับไทย ไม่ควรนำแนวทางของยุโรปมาใช้ โดยยุโรปจะเร่งฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์และผู้สูงอายุก่อนเป็นอันดับแรก เพราะสังคมยุโรปจะมีผู้สูงอายุอยู่รวมกันในบ้านพักคนชรา
ทำให้เกิดการระบาดได้เร็วและรุนแรง แต่สังคมไทยคนชรามักอยู่ติดบ้านไม่ค่อยไปไหน และเมื่อเกิดการระบาดทำให้ลูกหลานไม่ปล่อยออกนอกบ้านจึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่ำ
การฉีดวัคซีนในไทยควรโฟกัสไปในกลุ่มคนที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจก่อนเป็นสำคัญ เช่น บุคลากรการท่องเที่ยว สายการบิน คนขับรถสาธารณะ กลุ่มวัยรุ่นที่ชอบการท่องเที่ยว และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจฐานรากที่พบคนจำนวนมาก เช่น ตลาดสด ห้างสรรพสินค้า เพื่อให้ธุรกิจเหล่านี้เดินหน้าได้ก่อน เมื่อคนเหล่านี้ไม่ติดเชื้อจะลดการระบาดไปสู่ผู้สูงอายุที่ร่างกายอ่อนแอ