ไขปม 'European Super League' เมื่อทีมยักษ์ยุโรปจับมือเย้ย 'UEFA'
ไขข้อสงสัย เหตุใดบรรดาสโมสรฟุตบอลแถวหน้าของยุโรป ประกาศตั้งลีกใหม่เป็นของตัวเองชื่อว่า “European Super League” ซึ่งถือเป็นโปรเจคใหญ่เขย่าระบบแข่งขันแบบเดิมที่กำกับดูแลโดย “UEFA” และสมาคมฟุตบอลแต่ละประเทศมาอย่างยาวนาน
เมื่อวันจันทร์ (19 เม.ย.) 12 สโมสรฟุตบอลยักษ์ใหญ่ลงนามร่วมก่อตั้ง Super League นำโดยสโมสรทุนหนา เช่น เรอัล มาดริด และ บาร์เซโลนา จากสเปน แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และ แมนเชสเตอร์ ซิตี จากอังกฤษ รวมถึง ลิเวอร์พูล, อาร์เซนอล, เชลซี และท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ส ทำให้ “Big 6” หรือ 6 ทีมใหญ่แห่งพรีเมียร์ลีกของอังกฤษมากันครบ
ส่วนกัลโช เซเรียอาของอิตาลีมี 3 ทีมเข้าร่วม ได้แก่ ยูเวนตุส, เอซี มิลาน และอินเตอร์ มิลาน ขณะที่ลาลีกาของสเปนยัง “ตราหมี” แอตเลติโก มาดริด อีกทีมรวมเป็น 3 ทีม
- ผ่าโครงสร้าง Super League
แถลงการณ์ของ Super League ระบุว่า ลีกนี้จะมีทั้งหมด 20 ทีม นำโดยสโมสรก่อตั้ง 15 ทีมที่จะได้การันตีเล่นในลีกนี้อย่างถาวร ไม่มีตกชั้น ทุกฤดูกาล
ขณะนี้ กลุ่มสโมสรก่อตั้งยังขาดอีก 3 ทีม ขณะที่ตัวแทนจากบุนเดสลีกาของเยอรมนี เช่น บาเยิร์น มิวนิก และ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ จับมือไม่เข้าร่วมแล้ว
ขณะเดียวกัน อีก 5 ทีมจะมาจากการคัดเลือกตามผลงานในแต่ละฤดูกาลของทีมอื่น ๆ ในลีกยุโรปที่ต้องการเข้าร่วม Super League และมีสิทธิ์ถูกคัดออกจากลีกหากทำผลงานย่ำแย่ แต่ยังไม่มีการกำหนดชัดว่าจะให้ตกชั้นกี่ทีม ซึ่งคาดว่าจะมีรายละเอียดชัดเจนเมื่อได้ข้อสรุปที่เป็นรูปธรรม
ส่วนฝ่ายบริหารของ European Super League จะนำโดย ฟลอเรนติโน เปเรซ ประธานสโมสรเรอัล มาดริด ซึ่งนั่งตำแหน่งประธาน และมีรองประธาน 2 คน ได้แก่ อันเดรีย อัญเญลลี ประธานสโมสรยูเวนตุส และ โจเอล เกลเซอร์ เจ้าของร่วมและรองประธานสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
- ระบบแข่งขัน
ระบบการแข่งขันของ European Super League จะลงเตะกันทุก ๆ กลางสัปดาห์ แต่หากชนกับโปรแกรมลีกภายในประเทศของคู่แข่งขัน ก็ให้ยึดตามคิวของลีกในประเทศของคู่นั้น ๆ ก่อน โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะเปิดฤดูกาลได้ในเดือน ส.ค. ปีหน้า หรือฤดูกาล 2022-23
ในลีกใหม่นี้ ทั้ง 20 ทีมจะถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ๆ ละ 10 ทีม ลงแข่งทีมละ 18 นัดเหย้า-เยือนแบบพบกันหมด โดยทีมที่ได้ 3 อันดับแรกของแต่ละกลุ่มจะได้เข้าไปเล่นรอบ 8 ทีมสุดท้ายอัตโนมัติ ส่วนอันดับ 4 และ 5 ของแต่ละกลุ่มจะต้องมาเพลย์ออฟเพื่อหาผู้ชนะอีก 2 ทีมให้ครบ 8 ทีม
ตั้งแต่รอบ 8 ทีมสุดท้ายจนถึงรอบรองชนะเลิศ จะเป็นการแข่งขันแบบ 2 นัดเหย้า-เยือน และรอบชิงชนะเลิศจะแข่งขันนัดเดียวจบที่สนามเป็นกลางช่วงสิ้นเดือน พ.ค. ของทุกปี
นอกจากนี้ Super League ยังมีแผนตั้งลีกอาชีพผู้หญิงด้วย แต่ยังอยู่ระหว่างหาข้อสรุปที่เป็นรูปธรรม
- "เงิน" ตัวแปรสำคัญ?
แน่นอนว่า การจัดทัวร์นาเมนท์ใหญ่รายการใหม่ในยุโรป อาจเป็นการรูดม่านปิดฉาก “ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก” (UCL) ที่ครองความยิ่งใหญ่ในฐานะเวทีฟาดแข้งทีมระดับท็อปของโลกมานานหลายสิบปี และจะเป็นการปฏิวัติโครงสร้างฟุตบอลในยุคปัจจุบันด้วย
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้บรรดาสโมสรยักษ์ใหญ่ตัดสินใจเข้าร่วมย่อมหนีไม่พ้น “เม็ดเงินมหาศาล” หลังจากทุกสโมสรมีรายได้ลดลงอย่างหนักจากการต้องลงเตะโดยปราศจากกองเชียร์ในสนาม ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปีที่แล้ว
Super League ยืนยันว่า จะการันตีเม็ดเงิน 3,500 ล้านยูโร (กว่า 1.3 แสนล้านบาท) ให้กับ 15 ทีมร่วมก่อตั้งลีก เฉลี่ยตกทีมละกว่า 233 ล้านยูโรต่อฤดูกาล ซึ่งเงินส่วนนี้มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและชดเชยผลกระทบจากโควิด-19 ของแต่ละสโมสรเท่านั้น
เม็ดเงิน 3,500 ล้านยูโรของ Super League ยังสูงกว่าชัดเจน เมื่อเทียบกับทุกทัวร์นาเมนท์ที่จัดโดยสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ UEFA ไม่ว่าจะเป็น แชมเปียนส์ ลีก, ยูโรปา ลีก และยูโรเปียน ซูเปอร์ คัพ ซึ่งสร้างรายได้จากการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ 3,200 ล้านยูโรในฤดูกาล 2018-19
นอกจากนี้ Super League คาดการณ์ว่า ในช่วงแรก ลีกใหม่จะมี “รายได้ส่วนกลาง” จากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดและโฆษณารวมกว่า 1 หมื่นล้านยูโร (ราว 3.74 แสนล้านบาท) ต่อฤดูกาล ซึ่งเงินส่วนนี้จะถูกนำมาแบ่งให้กับ 20 ทีมอย่างเท่าเทียม
- กระแสต้านหนัก
อย่างไรก็ตาม Super League เผชิญกับกระแสต่อต้านอย่างหนักจากรอบทิศทาง แม้แต่ช่วงก่อนประกาศแผนจัดทัวร์นาเมนท์นี้ สมาคมลีกระดับประเทศตั้งแต่อังกฤษ สเปน และอิตาลี และ UEFA ก็ออกมาโจมตีและประณามแผนนี้ว่าเป็น “โปรเจคอันเย้ยหยัน” ที่ตั้งขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของบรรดาทีมใหญ่ล้วน ๆ
นอกเหนือจากมาตรการทางกฎหมายแล้ว บรรดาสมาคมเหล่านี้ยังขู่ว่า จะขับสโมสรฟุตบอลที่เข้าร่วม Super League ออกจากลีกในประเทศด้วย ขณะเดียวกัน ต่อให้สโมสรยักษ์ใหญ่ใน Super League ยังได้แข่งขันในลีกประเทศตัวเอง แต่จะหมดสิทธิ์ลงแข่งใน แชมเปียนส์ ลีก ไปโดยปริยาย
อย่างไรก็ดี หากแชมเปียนส์ ลีก ซึ่งเป็นสังเวียนลูกหนังระดับสโมสรรายการใหญ่ที่สุดในยุโรป ไร้เงาทีมยักษ์ใหญ่อย่างน้อย 15 ทีม ย่อมเสี่ยงที่จะสูญเสียรายได้จำนวนมากจากโฆษณาและลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด เพราะความน่าดึงดูดของรายการนี้ลดน้อยลง และอาจจะสร้างความเสียหายต่อโมเดลเศรษฐกิจของฟุตบอลยุโรปในปัจจุบัน
นอกจากนี้ สหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ หรือ FIFA ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลวงการลูกหนังทั่วโลกและผู้จัดการแข่งขัน “ฟุตบอลโลก” (World Cup) ออกมาเตือนว่า นักเตะที่ลงเล่นใน Super League จะถูกห้ามเข้าร่วมฟุตบอลโลก ซึ่งอาจจะทำให้ศึก World Cup ครั้งต่อไปที่จะจัดในกาตาร์ปีหน้า เผชิญความโกลาหลเพราะไม่มีเหล่าแข้งระดับสตาร์
กระแสต้านลีกใหม่นี้ยังขยายไปถึงวงการการเมือง บรรดาผู้นำประเทศอย่าง บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ไปจนถึง เอ็นริโก เลตตา อดีตนายกรัฐมนตรีอิตาลี ได้ออกมาแสดงความกังวลต่อเรื่องนี้ ขณะที่ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส กล่าวชื่นชมสโมสรในประเทศที่ยังไม่ลงนามเข้าร่วมในขณะนี้
ส่วนในอนาคตยังต้องจับตาดูต่อไป เพราะ Super League ยังเหลือที่ว่างสำหรับทีมร่วมก่อตั้งอีก 3 ทีม แต่ 12 ทีมยักษ์ใหญ่ที่ออกตัวไปก่อนแล้ว ก็เผชิญกระแสคว่ำบาตรรุนแรงทั้งจากสมาคมฟุตบอลนานาชาติและกองเชียร์จำนวนไม่น้อยของตัวเอง จึงยังไม่แน่ชัดว่า ทัวร์นาเมนท์ใหม่นี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่!
-----------------------
อ้างอิง: Super League, Bloomberg, AFP, The Sun