'พลังงาน' แจงผลตรวจสอบโซลาร์เซลล์แม่สะเรียง พร้อมใช้งานแล้ว 18 แห่ง
กระทรวงพลังงาน ยืนยัน โครงการโซลาร์เซลล์ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ปรับปรุงพร้อมใช้งานแล้ว 18 แห่ง กำลังซ่อมแซมอีก 2 แห่ง ย้ำหน่วยงานรับเงินกองทุนอนุรักษ์ฯ ต้องดูแลให้เกิดประสิทธิภาพ
นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน ชี้แจงกรณีสืบเนื่องจากที่มีการรายงานข่าวว่า ผลการตรวจสอบโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในหน่วยงานภาครัฐ โดย กอ.รมน. ภาค 3 ที่จังหวัดตากและจังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวน 20 แห่ง ของคณะทำงานกำกับติดตามผลการดำเนินโครงการเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีนายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน มีผลการตรวจสอบโครงการไม่ตรงกับของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอนนั้น ข้อมูลรายงานดังกล่าวอาจมีความคลาดเคลื่อน เพราะได้นำระยะเวลาการลงพื้นที่ตรวจโครงการ ซึ่งไม่พร้อมกันแล้วนำมาเปรียบเทียบกัน
โดยตอนที่ ป.ป.ช. จังหวัดแม่ฮ่องสอนลงไปตรวจนั้น เป็นช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งมีหลายแห่งยังแก้ไขไม่แล้วเสร็จ แต่ในส่วนของคณะทำงานของนายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงานลงพื้นที่ตรวจคือวันที่ 24 มีนาคม 2564 ซึ่งได้ลงพื้นที่พร้อมกับสื่อมวลชนและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง พร้อม กอ.รมน. ภาค 3 ในฐานะเจ้าของโครงการ ได้ตรวจสอบหน้างานที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน 2 แห่งคือ บ้านกิ่วลม และ บ้านแม่กะไน พบว่า กอ.รมน. ภาค 3 และผู้รับจ้าง ได้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงแล้วเสร็จและใช้งานได้ตามปกติ
ประกอบกับรายงานสรุปของ กอ.รมน. ภาค 3 ที่ยืนยันว่าปัจจุบันสถานะของโครงการทั้ง 20 แห่งได้ดำเนินการแก้ไขซ่อมแซม สามารถใช้งานได้ทั้งหมด 18 แห่ง และอยู่ระหว่างการแก้ไขอีก 2 แห่งคือ 1.บ้านห้วยปูแกง จังหวัดตากไม่สามารถงานได้เพราะแหล่งน้ำไม่เพียงพอ
“ตอนนี้ กอ.รมน. ภาค 3 ได้ประสานการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างฝายกักเก็บน้ำเพื่อให้มีแหล่งน้ำใช้ในโครงการ และปัจจุบันได้รับงบประมาณในการก่อสร้างฝายแล้ว 2.บ้านสล่าเชียงตอง จังหวัดแม่ฮ่องสอนไม่สามารถใช้งานได้เนื่องจากเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าชำรุดอยู่ระหว่างส่งซ่อม ซึ่งได้รับแจ้งว่าการซ่อมจะแล้วเสร็จและใช้งานได้ภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งหากทั้ง 2 จุดซ่อมแซมแล้วเสร็จ ขอให้ กอ.รมน. ภาค 3 แจ้งกระทรวงพลังงานด้วย”
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ลงพื้นที่ตรวจ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ได้มีนโยบายที่ชัดเจนว่าในระหว่างนี้หน่วยงานผู้รับทุนสนับสนุนโครงการจะต้องเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบอุปกรณ์ต่างๆ ให้ชาวบ้านได้ประโยชน์สูงสุดไปก่อน จนกว่าจะมีหน่วยงานส่วนท้องถิ่นมารับโอนโครงการไปดูแลบริหารจัดการต่อไป และกระทรวงพลังงานจะมีการตรวจสอบโครงการจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การใช้งบประมาณจากแหล่งเงินดังกล่าวมีประสิทธิภาพให้มากที่สุด