กกร.คาดโควิดกระทบศก.3เดือน พร้อมซื้อวัคซีน 5 ล้านโดส ฉีดให้ฟรี
กกร. คาด โควิดระบาดรอบใหม่ กระทบเศรษฐกิจอย่างน้อย 3 เดือน ปรับเป้าจีดีพีเหลือโต 1.5 – 3% แต่หากฉีดวัคซีนต่ำกว่าเป้าจะยื่งกระทบต่อ จีดีพี พร้อมตั้ง 4 คณะทำงาน ช่วยรัฐแก้ปัญหาวัคซีน ประกาศเอกชนพร้อมนำเข้าวัคซีน 5 ล้านโดส ฉีดให้ฟรี
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร. มองว่าการระบาดของโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายนคาดว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศอย่างน้อย 3 เดือน โดยจะกระทบแผนการท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยและทำให้การกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศในช่วง 3 เดือนข้างหน้าทำได้ยากหรืออาจต้องเลื่อนออกไป รวมทั้งกระทบอย่างมากต่อกำลังซื้อเพราะแรงงานในภาคบริการต้องหยุดหรือลดชั่วโมงการทำงาน
ดังนั้น รัฐจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินที่มีกว่า 2 แสนล้านบาทเข้ามาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วน (K-shape Recovery) โดยเฉพาะการประคับประคองกำลังซื้อในประเทศโดยรวม และการขยายระยะเวลามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงานที่ยังคงได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรค นอกจากนี้ การแจกกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 ต้องเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งวัคซีนจะเป็นปัจจัยที่สร้างเสริมความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจและประชาชนได้มากที่สุด และจะทำให้ภาพของอุปสงค์ในประเทศกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
ด้าน เศรษฐกิจโลกเริ่มมีทิศทางฟื้นตัวขึ้นชัดเจน โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะขยายตัวดีกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้าค่อนข้างมาก จากเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ รวมถึงการฉีดวัคซีนที่ทำได้รวดเร็ว ซึ่งการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นแรงขับเคลื่อนหลักให้ภาพรวมเศรษฐกิจและการค้าโลกมีทิศทางฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่ประเมินไว้ สอดคล้องกับรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในเดือน เม.ย. ที่ได้ประเมินเศรษฐกิจโลกในปี 2564 ว่าจะขยายตัว 6.0% ดีขึ้นเมื่อเทียบกับประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัว 5.5%
ส่วน เศรษฐกิจไทยได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ขยายตัวดีขึ้น แม้หลายประเทศจะยังเผชิญวิกฤตโรคระบาด แต่เครื่องชี้ภาคการผลิตและอุปสงค์ต่างประเทศกลับสะท้อน Momentum ที่มีทิศทางดีขึ้นตามลำดับ สอดคล้องกับรายงานขององค์การการค้าโลก (WTO) ณ เดือน มี.ค. ที่ประเมินว่า ปริมาณการค้าโลก (World Merchandise Trade) ในปี 2564 จะขยายตัวได้ถึง 8.0% เมื่อเทียบกับประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัว 7.2%
อันจะเป็นผลดีต่อภาคการผลิตและการส่งออกของไทยที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีกว่าการประเมินครั้งก่อนด้วยเช่นกัน รวมไปถึงมุมมองต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและมูลค่าการนำเข้าของคู่ค้าหลักของไทยในปี 2564 ที่มีทิศทางดีขึ้นเมื่อเทียบกับการประเมินครั้งก่อน โดยเฉพาะสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่นที่ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง อย่างไรก็ดี ปัญหาขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้าและค่าระวางเรือที่ทรงตัวในระดับสูง รวมถึงต้นทุนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อยู่ในระดับสูง ยังเป็นแรงกดดันสำคัญต่อความสามารถของผู้ส่งออกของไทยในระยะต่อไป
“เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงค่อนข้างมากจากการระบาดระลอกใหม่ที่รวดเร็วและรุนแรง กระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้นมากเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าจะส่งผลดีต่อแนวโน้มส่งออกของไทยในระยะต่อไป”
ที่ประชุม กกร. จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 เป็นขยายตัวได้ในกรอบ 1.5% ถึง 3.0% อย่างไรก็ตาม ประมาณการนี้ขึ้นอยู่กับการฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมายและมาตรการของรัฐที่มีขนาดกว่า 2 แสนล้านบาทที่จะเข้ามาเยียวยาเศรษฐกิจ โดยหากไม่มีเม็ดเงินดังกล่าว จีดีพีจะไม่ขยายตัวหรือเติบโต 0% ด้านการส่งออก กกร. ปรับเพิ่มประมาณการการส่งออกในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 4.0% ถึง 6.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 1.0% ถึง 1.2%
โดย กกร. มีความเป็นห่วงเรื่องการกระจายวัคซีนที่ยังล่าช้าและแผนงานยังไม่ชัดเจน จึงได้ร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานใน 4 ด้าน เพื่อจัดทำข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี คือ 1. คณะแก้ไขปัญหาการกระจายและฉีดวัคซีน โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนในเรื่องโลจิสติกส์ การขนส่งและสถานที่ในการฉีด เช่น ห้างสรรพสินค้า ธนาคาร นิคมอุตสาหกรรม ปั๊มน้ำมัน เป็นต้น
2.คณะสร้างความเชื่อมั่นและประชาสัมพันธ์ โดยประสานข้อมูลกับผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน 3. คณะสนับสนุนระบบอำนวยความสะดวกระบบงานต่างๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการฉีด จนถึงการออกใบรับรอง และการจัดทำระบบ Vaccine Passport เพื่อใช้แสดงในการเดินทางไปสถานที่ต่างๆ และ4. คณะจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ที่ผ่านมาได้รวบรวมความต้องการภาคเอกชนในการซื้อวัคซีนเพื่อเร่งการฉีดให้เร็วขึ้น โดยมีผู้ซื้อแสดงความจำนงมาแล้วกว่า 5 ล้านโดส มาฉีดให้ฟรี และขอให้ อย. ผ่อนคลายระเบียบเพื่อให้มีการซื้อวัคซีนได้มากขึ้น
โดยที่ผ่านมาภาครัฐได้อำนวยความสะดวกในการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม พร้อมกับ จะจัดหาวัคซีน COVID-19 อีก 2-3 ยี่ห้อ เพิ่มเติม 35 ล้านโดส นอกเหนือจากที่ ภาครัฐดำเนินการไว้แล้ว ซึ่งภาคเอกชนนำโดย กกร. จะช่วยรัฐบาลจัดหาให้กับพนักงานลูกจ้างเองด้วย เพื่อช่วยลดงบประมาณของรัฐบาล
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้เสนอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ขยายเวลา พรก.กำหนดหน่วยงานและกิจการที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ที่ได้ขยายระยะเวลามา 1 ปีและจะครบกำหนดเดือน พ.ค.นี้ออกไปก่อน เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนเรื่องรายละเอียดการบังคับใช้ ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปฎิบัติตามได้ นอกจากนี้ จะขอให้กระทรวงฯทบทวนพรบ. PDPA ที่มีรายละเอียดและบทลงโทษเข้มงวดเกินไปให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย